หอพักโทคิวะ : หอพักไม้จุดเริ่มต้นตำนานมังงะญี่ปุ่น

หอพักโทคิวะ : หอพักไม้จุดเริ่มต้นตำนานมังงะญี่ปุ่น

หอพักโทคิวะ : หอพักไม้จุดเริ่มต้นตำนานมังงะญี่ปุ่น
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ในปัจจุบัน มังงะ และ อนิเมะ ได้กลายเป็นหนึ่งในวัฒนธรรมสมัยนิยมหรือ "ป๊อบคัลเจอร์" เมื่อผู้คนเกือบทั่วโลก ได้มีโอกาสรู้จักหรือสัมผัสกับศิลปะแขนงนี้กันในวงกว้าง

ซึ่งส่วนหนึ่งก็ต้องขอบคุณ "บิดาแห่งมังงะ" เท็ตสึกะ โอซามุ เจ้าของผลงานดังอย่าง "เจ้าหนูปรมาณู" ที่ได้บุกเบิก และวางรากฐานการเล่าเรื่องของมังงะ จนกลายเป็นขนบสืบทอดมาถึงทุกวันนี้

อย่างไรก็ดี หากพูดถึง อาจารย์เท็ตสึกะ เป็นไปไม่ได้ที่จะไม่พูดถึง "หอพักโทคิวะ" ที่กลายเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงโฉมหน้ามังงะญี่ปุ่นไปตลอดกาล

หอพักแห่งนี้มีความสำคัญอย่างไร และมันช่วยขับเคลื่อนวงการมังงะแค่ไหน ร่วมติดตามไปพร้อมกับ Main Stand

บุกเบิกโดยบิดาแห่งมังงะ

ในพื้นที่ที่แทบจะไม่มีใครรู้จักอย่าง มินามินางาซากิ เขตโทชิมะ ซึ่งอยู่ห่างจากชินจูกุ ย่านที่พลุกพล่านที่สุดย่านหนึ่งของประเทศญี่ปุ่นออกไปทางเหนือ ราว 20 นาที ย้อนกลับไปเมื่อ 70 ปี ปีก่อนเคยมีหอพักที่ชื่อว่า โทคิวะ หรือ โทคิวะโซ ตั้งอยู่

มันเป็นหอพักไม้สไตล์ญี่ปุ่นที่ถูกสร้างเสร็จมาตั้งแต่ปี 1952 และเป็นหอพักขนาดกะทัดรัด 2 ชั้น ซึ่งมีห้องขนาดสี่เสื่อ (ราว 6 ตารางเมตร) ให้เช่าแค่เพียง 10 ห้องเท่านั้น และที่สำคัญ หอพักแห่งนี้ไม่มีห้องน้ำส่วนตัว ทำให้คนที่พักในหอนี้ต้องไปใช้บริการห้องน้ำสาธารณะแทน

clm1903120004-p1

มันอาจจะดูเหมือนกับหอพักทั่วไปในยุคนั้น ที่เอาไว้รองรับคนงบน้อยที่เข้ามาแสวงโชคในเมืองหลวงช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 หากไม่มีชายที่ชื่อว่า เท็ตสึกะ โอซามุ

หลังเรียนจบจากคณะแพทยศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยโอซากา ในบ้านเกิด เขาตัดสินใจมุ่งหน้าเข้าสู่โตเกียวในปี 1952 ด้วยความปรารถนาในการเป็นนักเขียนการ์ตูน อาชีพที่เขาใฝ่ฝันมาตั้งแต่เด็ก

ในตอนแรก เท็ตสึกะอาศัยอยู่ที่ชั้นสองของร้านขายผัก ในย่านชินจูกุ แต่ด้วยความที่ตอนนั้น เขาเริ่มมีผลงานแล้ว ทำให้มีคนจากกองบรรณาธิการ เข้ามาพบเขาทั้งวันทั้งคืน จนเจ้าของร้านขายผักเกิดความรำคาญ

จากเสียงบ่นของเจ้าของร้าน เท็ตสึกะก็เริ่มเกรงใจ จนทำให้ในปี 1953 เขาตัดสินใจย้ายมาอยู่หอพักโทคิวะที่เพิ่งสร้างใหม่ จากคำชวนของ ฮิโรยาสุ คาโต ลูกชายคนที่สองของ เคนอิจิ คาโต เจ้าของนิตยสารมังงะโชเนน ซึ่งตัวเขาเองก็อาศัยอยู่ที่หอพักแห่งนี้

ก่อนที่มันจะกลายเป็นที่สิงสถิต และทำให้ เท็ตสึกะ รังสรรค์ผลงานระดับมาสเตอร์พีซตอนที่อยู่ที่นี่ออกมาได้อย่างมากมาย ไม่ว่าจะเป็น เจ้าหนูปรมาณู ผลงานสร้างชื่อของเขา (ตีพิมพ์ช่วงปี 1952-1968) หรือ คิมบา เดอะ ไวท์ ไลออน ที่ว่ากันว่าเป็นต้นฉบับของ The Lion King (1950-1954)

อย่างไรก็ดี มันเป็นแค่จุดเริ่มต้นเท่านั้น

หอพักนักเขียนการ์ตูน

แม้จะเรียกได้ว่าศิษย์เก่าหอพักโทคิวะรุ่นแรก แต่ เท็ตสึกะ โอซามุ ก็ใช้ชีวิตอยู่ในหอพักแห่งนี้ได้เพียงแค่ปีเดียว ก่อนจะย้ายออกไปในปี 1954 โดยได้ผู้ช่วยของเขาที่ชื่อว่า ฟูจิโมโต ฮิโรชิ และ อาบิโกะ โมโตโอะ มารับช่วงเช่าต่อห้องเดิมของเขา

osamu_tezuka_1951_scan10008-2

"ตอนแรกที่เรามาโตเกียว (ฮิโรชิ) ฟูจิโมโตและผมเช่าห้องอยู่ด้วยกันที่ชั้นสองของโรงอาบน้ำ มันเป็นห้องกว้างแค่สองเสื่อ (3.2 ตารางเมตร)" โมโตโอะ อาบิโกะ ให้สัมภาษณ์กับ Jump Square เมื่อปี 2008

"พอเอาโต๊ะเข้ามาในห้อง หลังของเราติดกับผนัง ตอนกลางคืนเราจึงเอาโต๊ะออกและปูที่นอน ฟูจิโมโต เป็นคนตัวสูง เท้าของเขาล้ำออกไปนอกห้อง ตอนนั้นเท็ตสึกะซัง ก็เอาห้องให้พวกเรา"

อย่างไรก็ดี ในตอนแรกทั้งคู่เกือบจะไม่ได้มาอยู่ที่หอแห่งนี้ จากปัญหาทางการเงิน แต่สุดท้ายด้วยความใจกว้างของโอซามุ ก็ทำให้พวกเขากลายเป็นสมาชิกของหอพักโทคิวะจนได้ในช่วงปี 1954-1961

"เท็ตสึกะซังกำลังจะย้ายไปที่อพาร์ทเมนต์อื่น เขาบอกว่า 'ถ้านายต้องการ ให้มาที่ห้องที่ฉันอยู่ตอนนี้หลังจากฉันย้ายออก' แน่นอนว่าเราตอบไปว่า 'ดีเลยครับ ขอบคุณมาก'"

"แต่เดี๋ยวก่อน เราต้องจ่ายเงินมัดจำ 30,000 เยน (ราว 9,000 บาท) ซึ่งเราไม่มี เราไปหาเท็ตสึกะซังเพื่อปฏิเสธ 'เรามีสัญญาหนึ่งปีกับห้องที่เราอยู่ตอนนี้ ดังนั้นเราจึง…'"

"ผมเดาว่าเท็ตสึกะซังรู้ถึงความกังวลของเรา เขาพูดว่า 'ถ้านายกังวลกับเงินสามหมื่นเยน ฉันไม่เอาค่ามัดจำคืนได้' ด้วยเหตุนั้นทำให้เราได้อาศัยอยู่ที่โทคิวะโซ แน่นอนว่าหลังจากนั้นเราก็จ่ายค่ามัดจำคืนให้เขา"

tumblr_mtfodwhxzy1qgpyn2o1_12

การได้ย้ายมาอยู่ที่หอพักโทคิวะ ทำให้พวกเขาได้มีโอกาสรวมกลุ่ม "ชมรมการ์ตูนยุคใหม่" อีกครั้ง เมื่อ เทราดะ ฮิโรโอะ นักวาดการ์ตูนแนวสดใส หนึ่งในสมาชิกของชมรมก็พักอยู่ที่หอพักแห่งนี้

และสถานที่แห่งนี้ ก็ทำให้ ฟูจิโมโต สร้างสรรค์ผลงานที่ชื่อว่า Tebukuro Tetchan ที่ได้ตีพิมพ์ในปี 1960 แม้มันอาจจะไม่เป็นที่รู้จักมากนัก แต่ก็ถือเป็นผลงานชิ้นแรกที่ได้เปิดตัว หลังย้ายมาอยู่โตเกียว

ก่อนที่ในเวลาต่อมา ฟูจิโมโต จะจับมือกับคู่หู อาบิโกะ ผลิตผลงานเลื่องชื่ออย่าง โดราเอมอน ที่โด่งดังไปทั่วโลก ใช่แล้ว ฟูจิโมโต และ อาบิโกะ คือเจ้าของนามปากกาของ ฟูจิโกะ ฟูจิโอะ นั่นเอง (การแยกว่าใครเป็นใครนั้น ให้ดูที่ตัวอักษรที่เติมมาในผลงานเดี่ยว ฟูจิโมโต ใช้ชื่อ เอฟ ส่วน อาบิโกะ ใช้ชื่อ เอ)

อย่างไรก็ดี ฟูจิโกะ ฟูจิโอะ ไม่ใช่นักเขียนการ์ตูนคนสุดท้ายของหอแห่งนี้ เมื่อหลังจากนั้นหากห้องใดว่างลง เหล่านักเขียนการ์ตูนในหอพัก จะเสาะหานักเขียนการ์ตูนหน้าใหม่ที่ดูมีแวว มาพักอยู่ที่หอแห่งนี้ราวกับเป็นธรรมเนียมของที่นี่

2018-12-03_2050_

"ผมอยากให้นักเขียนอายุน้อยที่มีอุดมการณ์เดียวกันมาอยู่ห้องที่ว่าง ผมอยากทำให้ที่นี่เป็นสถานที่สำหรับนักวาดการ์ตูนหน้าใหม่ได้ใช้ชีวิตอยู่ด้วยกัน" ฮิโรโอะ เทราดะ กล่าว

"ผมอยากให้มันเป็นสภาพแวดล้อมที่เวลานักเขียนการ์ตูนโยนต้นฉบับลงมา ก็สามารถเรียกคนจากห้องอื่นเข้ามาช่วยดูได้ในทันที"

และมันก็ทำให้ หอพักโทคิวะ กลายเป็นแหล่งบ่มเพาะนักเขียนการ์ตูน และผู้มีอิทธิพลในวงการอนิเมะมากมาย ไม่ว่าจะเป็น ซูซูกิ ชินอิจิ ผู้กำกับอนิเมะชื่อดังอย่าง นินจาฮัตโตริ และ ปาร์แมน,อิชิโนะโมริ โชทาโร ผู้ให้กำเนิด คาเมนไรเดอร์ หรือไอมดแดง และ ขบวนการห้าสี หรือ อาคัตสึกะ ฟูจิโอะ คนเขียนเรื่อง แม่มดน้อยอั๊กโกะจัง ที่ว่ากันว่าเป็นมังงะสาวน้อยเวทมนตร์เรื่องแรกของญี่ปุ่น จนทำให้มันได้รับการขนานนามว่า "หอพักนักเขียนการ์ตูน" (มังงะโซ)

ทว่า หอพักโทคิวะยังเป็นได้มากกว่านั้น

หลุมหลบภัย

"เราอาศัยอยู่ด้วยกันในหอพักที่ชื่อโทคิวะ วันเวลาเหล่านั้น มีอิทธิพลอย่างมากต่อผม" อาบิโกะ หรือเจ้าของนามปากกา ฟูจิโกะ ฟูจิโอะ เอ ที่เป็นเจ้าของผลงาน นินจาฮัตโตริ กล่าวกับ Jump Square

"ตอนนั้นการเป็นนักวาดการ์ตูนเป็นอาชีพที่เพ้อฝัน เท็ตสึกะซังคือดาวจรัสแสงของพวกเรา แต่ถึงอย่างนั้นไม่มีใครรู้ว่าอนาคตของอุตสาหกรรมมังงะจะเป็นอย่างไร"

ent1911300004-p1

ปฏิเสธไม่ได้ว่าความเป็นอยู่ในหอพักโทคิวะ คือกุญแจสำคัญที่ทำให้หอพักแห่งนี้สามารถผลิตนักเขียนการ์ตูนชื่อดังได้มากมาย เนื่องจากพวกเขาต่างใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันราวกับครอบครัวเดียวกัน

ด้วยความที่ในยุคนั้น นักเขียนการ์ตูนไม่ใช่อาชีพที่ร่ำรวยนัก ทำให้พวกเขาต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน ตั้งแต่เรื่องเทคนิคการวาดการ์ตูนไปจนถึงเรื่องเงินๆทอง

"เทระซัง (ฮิโรโอะ เทราดะ) มีอิทธิพลต่อเรามาก เขาเหมือนเป็นพี่ใหญ่ เขาช่วยเราไว้ได้หลายครั้ง" อาบิโกะ ย้อนความหลัง

"เขาเป็นคนที่เข้มงวด และมีบุคลิกที่ไม่เหมือนใคร แต่เราทุกคนก็ต่างพึ่งเขา แม้กระทั่งยืมเงินจากเขาเพื่อไปจ่ายค่าเช่า ทำให้พวกเราตั้งฉายาโดยที่เขาไม่รู้ว่า 'เทราดะแบงค์'"

"เราทุกคนมักจะเจอกันที่ห้องเทระซัง เทระซังจะเสิร์ฟเหล้าให้เราแก้วหนึ่ง แล้วเราก็คุยกัน ทั้งเรื่องภาพยนตร์ นวนิยาย ผู้หญิง แต่เราไม่คุยเรื่องมังงะกันนะ"

นอกจากนี้ การได้อยู่ร่วมกับคนในสายอาชีพเดียวกัน ยังเป็นอีกปัจจัยที่ช่วยขัดเกลาฝีมือนักเขียนการ์ตูนในหอพักแห่งนี้ เพราะการได้เห็นคนที่มีอุดมการณ์และเป้าหมายเดียวกัน เร่งสร้างผลงานอย่างสุดชีวิต คือแรงกระตุ้นชั้นดีสำหรับนักเขียนคนอื่นๆ

"อันที่จริง ทุกคนล้วนเป็นคู่แข่งของผม หากมีใครได้งาน หมายความว่าต้องมีอีกคนที่ถูกเขี่ยทิ้ง เพราะว่าจำนวนนิตยสารและพื้นที่ตีพิมพ์ในตอนนั้นค่อนข้างจำกัด" อาจารย์อาบิโกะอธิบาย

"ตอนที่ผมไปโรงอาบน้ำสาธารณะตอนตีสองตีสาม ไฟในห้องของ อาคัตสึกะ ฟูจิโอะ หรือ อิชิโมริ โชทาโร ยังเปิดอยู่ ผมคิดว่า 'เฮ้ย พวกเขากำลังทำงานอยู่' ผมรู้สึกอิจฉาพวกเขาเล็กน้อยที่กำลังทำงานในฐานะนักเขียนการ์ตูน"

"แต่ในทางกลับกัน พวกเราก็รู้สึกยินดีที่งานของคนใดคนหนึ่งของพวกเราได้ตีพิมพ์ในนิตยสาร ดังนั้นผมจึงต้องพยายามกระตุ้นตัวเอง"

tokiwa

ในขณะเดียวกัน หอพักโทคิวะ ไม่เพียงเป็นที่พักเท่านั้น ยังทำหน้าที่เป็นเหมือนหลุมหลบภัยสำหรับคนที่ชื่นชอบมังงะ เนื่องจากในยุคนั้นมันถูกมองว่าเป็นสิ่งชั่วร้ายที่มอมเมาเยาวชน ถึงขนาดหากใครเป็นนักเขียนการ์ตูนก็อาจถูกตัดความสัมพันธ์จากครอบครัว

มิสุโนะ ฮิเดโกะ คือหนึ่งในนั้น เธอคือนักเขียนการ์ตูนผู้หญิงหนึ่งเดียวในหอพักโทคิวะ ที่มาอาศัยอยู่หอพักแห่งนี้ตอนอายุ 18 ปี ในปี 1958 และใช้ชีวิตอยู่ที่นี่ 7 เดือนในช่วงเดียวกับ อิชิโนะโมริ และ อาคัตสึกะ

"ทุกคนจะเปิดห้องเอาไว้ จึงไม่ใช่แค่ผู้พักอาศัยแต่รวมไปถึงบรรณาธิการและคนอื่นๆ ก็สามารถเข้าออกได้ มันจึงเป็นสถานที่ที่รวบรวมคนที่อยากเป็นนักเขียนการ์ตูนอย่างจริงจัง หรือคนที่มีความฝันว่าสักวันหนึ่งจะทำงานเขียนการ์ตูนไปชั่วชีวิต" มิสุโนะ ย้อนความหลังกับ NHK

"ในสมัยนั้น เป็นยุคสมัยที่พ่อแม่สั่งว่า 'ห้ามอ่านการ์ตูนเพราะจะทำให้โง่' แน่นอนว่าการพูดคุยเรื่องมังงะก็ถูกสั่งห้าม เพื่อนที่คุยเรื่องนี้ได้จึงไม่มีเลย"

"ด้วยเหตุนี้ฉันจึงมาที่หอพักโทคิวะ และเป็นครั้งแรกที่ฉันสามารถคุยหรือวาดการ์ตูนที่ฉันชอบไปพร้อมกับเพื่อนๆ แค่ไหนก็ได้"

"สำหรับฉันมันเป็นเหมือนแดนสวรรค์"

อย่างไรก็ดี น่าเสียดายที่สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของพวกเขาต้องอันตรธานหายไปหลังจากนั้น

สูญสิ้นและฟื้นคืนชีพ

หลังจากเป็นที่พักอาศัยของเหล่านักเขียนการ์ตูนระดับตำนานมาหลายสิบปี หอพักโทคิวะ ก็มีอันต้องเหลือแต่ชื่อในปี 1982 หลังถูกทุบทิ้งเนื่องจากสภาพทรุดโทรมอย่างหนัก โดยปัจจุบันเป็นที่ตั้งของสำนักพิมพ์คาโย

8

อย่างไรก็ดี ด้วยความที่มันเป็นสถานที่แห่งความทรงจำ ทำให้มันยังถูกพูดถึงอยู่เสมอ โดยในปี 2009 ได้มีการสร้างอนุสาวรีย์ "เหล่าฮีโร่โทคิวะโซ" ที่สวนสาธารณะมินามินางาซากิซากิ และอีก 3 ปีต่อมา ก็มีการสร้าง อนุสาวรีย์โทคิวะโซ ตรงที่สถานที่ที่มันเคยตั้งอยู่

แต่หลังจากนั้นก็ยังมีกระแสเรียกร้องให้ฟื้นคืนชีพหอพักโทคิวะ อยู่เรื่อยมา จนกระทั่งในปี 2016 ความฝันของทุกคนก็เป็นจริง เมื่อเขตโทชิมะ มีโครงการที่จะสร้างหอพักโทคิวะขึ้นมาใหม่อีกครั้ง

โครงการดังกล่าวเป็นการสร้างหอพักโทคิวะในรูปแบบพิพิธภัณฑ์ ภายใต้ชื่อ Tokiwaso Manga Museum โดยมีที่ตั้งอยู่ในสวนสาธารณะ มินามินางาซากิ ฮานะซากิ ซึ่งเป็นย่านเดียวกับพื้นที่เดิมซึ่งหอพักโทคิวะเคยตั้งอยู่

a2e65a12979de29ca9efcc8fc5c04

และมันก็ได้รับเสียงตอบรับเป็นอย่างดี เมื่อมีผู้พร้อมใจร่วมบริจาคเงินเพื่อฟื้นคืนชีพหอพักแห่งนี้เป็นเงินถึง 400 ล้านเยน (ราว 120 ล้านบาท) ก่อนจะเริ่มสร้างไปเมื่อปี 2019 และแล้วเสร็จไปเมื่อช่วงต้นปี 2020

ในตอนแรก พิพิธภัณฑ์หอพักโทคิวะ มีกำหนดจะเปิดตัวในเดือนมีนาคม 2020 แต่ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธ์ใหม่ ทำให้กำหนดการต้องเลื่อนออกมา ก่อนที่ในที่สุดจะได้เปิดตัวอย่างเป็นทางการไปเมื่อช่วงปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา

"เราอยากแสดงให้เห็นจุดกำเนิดของวัฒนธรรมอนิเมะและมังงะแก่คนทั้งโลก" ยูคิโอะ ทาคาโนะ นายกเทศมนตรีโทชิมากล่าวในวันเปิดงาน

k10012501081_2007071214_20070

ทั้งนี้แม้ว่ามันจะเป็นอาคารที่สร้างใหม่ แต่ภายในล้วนจำลองความเป็นหอพักโทคิวะดั้งเดิมเอาไว้อย่างครบถ้วน โดยอ้างอิงมาจากภาพถ่าย และคำบอกเล่าของผู้ที่เคยอาศัยอยู่ในหอพักแห่งนี้

โดยชั้นแรกจะเป็นสถานที่จัดแสดงผลงานของนักเขียนที่เคยอาศัยอยู่ในหอพักแห่งนี้ ที่มีทั้งผลงานรวมเล่ม และผลงานในนิตยสารการ์ตูน ในขณะที่ชั้นสองจะเป็นที่พักของเหล่านักเขียนมังงะพร้อมระบุว่าใครเคยอยู่ห้องไหนบ้าง

นอกจากนี้ภายในห้อง ยังได้จำลองบรรยากาศสมัยที่นักเขียนการ์ตูนได้ใช้ชีวิตอยู่ โดยมีทั้งอุปกรณ์การวาดการ์ตูน ทั้งดินสอ พู่กัน จานสี เช่นเดียวกับเศษกระดาษที่ถูกขยำทิ้ง หรือแม้กระทั่งรอยฝุ่นหรือคราบราดำตามฝาผนัง

tta2007010001-f1

"ไม่ใช่แค่ภายนอก แต่แม้กระทั่งเชื้อราและจุดตามผนังข้างในก็ถูกสร้างขึ้นมาใหม่" ยูกะ คาวาซากิ นักเขียนการ์ตูนและแขกคนแรกของพิพิธภัณฑ์ บอก Kyodo News

"ฉันรู้สึกเหมือนกับว่าได้เห็นการใช้ชีวิตและลมหายใจของนักเขียนการ์ตูนโดยตรง ฉันรู้สึกตื้นตันกับมันมาก"

ทำให้แม้ว่า Tokiwaso Manga Museum เป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นมาใหม่ แต่ก็ล้วนอัดแน่นไปด้วยความทรงจำและตำนานมากมาย รวมไปถึงเป็นอนุสรณ์สถานที่ทำให้ผู้คนระลึกถึงหอพักโทคิวะ แม้เรื่องราวจะผ่านมานานกว่าครึ่งศตวรรษก็ตาม

แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือมันทำให้โลกรู้ว่า ความยิ่งใหญ่วงการมังงะญี่ปุ่น ก็มีจุดเริ่มต้นมาจากจุดเล็กๆ แห่งนี้

kyd_1484280_prw_pi2fl_p3lk4e9

"ฉันไม่คิดว่าหอพักโทคิวะจะโด่งดังขนาดนี้ ฉันเองไม่ได้ช่วยอะไรเลยในการฟื้นฟู" มิสุโนะ วัย 80 ปี ที่ภาพถ่ายของเธอถูกใช้เป็นแหล่งอ้างอิงในการสร้างพิพิธภัณฑ์กล่าวกับ NHK

"ครึ่งหนึ่งของนักวาดการ์ตูนที่เคยอยู่ที่นี่ก็ตายไปแล้ว แต่ถ้าพวกเขายังอยู่ฉันคิดว่าพวกเขาคงมีความสุขกับการฟื้นคืนชีพนี้"

"ฉันอยากให้ทุกคนรู้ว่า มังงะได้เกิดขึ้นและเติบโต จากหอพักเล็กๆ แบบนี้"

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook