แพทยศาสตร์เรียนอะไร แล้วจบมาสามารถทำงานอะไรได้บ้าง?
แพทยศาสตร์ เป็นสาขาของวิทยาศาสตร์สุขภาพที่เกี่ยวข้องกับการดูแลสุขภาพและเยียวยารักษาโรคหรืออาการเจ็บป่วย การแพทย์เป็นแขนงอาชีพที่ต้องใช้ทั้งความรู้และทักษะอย่างสูง
การเรียนด้านการแพทย์สามารถแบ่งออกเป็นสาขาวิชา หรือด้านเฉพาะทางได้มากมาย เช่น กุมารเวชศาสตร์, อายุรศาสตร์, ศัลยศาสตร์, ศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิกส์ (ศัลยศาสตร์กระดูก), สูติศาสตร์, นรีเวชวิทยา, โสตศอนาสิกวิทยา, นิติเวชศาสตร์, จักษุวิทยา, จิตเวชศาสตร์, รังสีวิทยา, จิตวิทยา, พยาธิวิทยา, เวชศาสตร์ชุมชน, อาชีวเวชศาสตร์, เวชศาสตร์ฟื้นฟู, เวชระเบียน, เวชสถิติ ฯลฯ และในแต่ละสาขายังแบ่งย่อยเป็นสาขาย่อยลงไปอีกตามอวัยวะหรือกลุ่มของโรค เช่น ศัลยศาสตร์หัวใจและทรวงอก, อายุรศาสตร์โรคไต และอีกมากมาย
คณะแพทยศาสตร์ในประเทศไทย
การเรียนการสอนทางแพทยศาสตร์นั้น เกิดขึ้นครั้งแรกที่ โรงเรียนแพทยากร ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชานุญาตให้จัดตั้งขึ้น ณ โรงศิริราชพยาบาล ซึ่งก็คือ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ในปัจจุบัน ต่อมา ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ได้จัดตั้งคณะแพทยศาสตร์แห่งที่ 2 ขึ้น เพื่อผลิตแพทย์ให้เพียงพอที่จะช่วยเหลือประชาชน นั่นคือ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และได้จัดตั้งคณะแพทยศาสตร์ขึ้นในส่วนภูมิภาคของประเทศคณะแรก ได้แก่ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นคณะแพทยศาสตร์แห่งที่ 3 จากนั้น ได้จัดตั้ง คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเป็นคณะแพทยศาสตร์แห่งที่ 4 ของประเทศ และเป็นคณะแพทยศาสตร์แห่งที่ 2 ของมหาวิทยาลัยมหิดล จากนั้น ได้จัดตั้ง คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นคณะแพทยศาสตร์แห่งที่5 และคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นคณะแพทยศาสตร์แห่งที่6 ของประเทศ และมีคณะแพทยศาสตร์ อื่นๆอีกรวม 20 แห่ง ทั่วประเทศ
รายชื่อคณะสำนักวิชาและวิทยาลัยแพทยศาสตร์ในประเทศไทย
- คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
- คณะแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์
- คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- คณะแพทยศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
- สำนักวิชาแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี
- คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- วิทยาลัยแพทยศาสตร์นานาชาติจุฬาภรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์
- คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร
- คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช
- คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา
- คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา
- คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
- โครงการร่วมผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท ร่วมผลิตกระทรวงสาธารณสุข มหาวิทยาลัยมหิดล (สถาบันสมทบ)
- วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า มหาวิทยาลัยมหิดล (สถาบันสมทบ)
- คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
- คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
- สำนักวิชาแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
- วิทยาลัยแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต
- สำนักวิชาแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
- คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
- คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
- คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม
- วิทยาลัยแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
- โครงการจัดตั้งคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี
คณะแพทยศาสตร์ ใช้คะแนนอะไรบ้าง
รับตรงผ่าน กสพท. เป็นสนามสอบเข้าเรียนต่อคณะแพทยศาสตร์ (และยังรวมถึงทันตแพทย์ สัตวแพทย์ และเภสัชศาสตร์ อีกด้วย) ซึ่งถือได้ว่าเป็นสนามการสอบแพทย์ที่ใหญ่มาก ๆ โดยเปิดกว้างรับผู้สมัครสอบทั่วทุกจังหวัด
GPAX เกรดเฉลี่ยสะสมระดับ มัธยมปลาย
ต้องมีคะแนนสอบ 9 วิชาสามัญ
- วิทยาศาสตร์ (ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา) : 40%
- คณิตศาสตร์ 1 : 20%
- ภาษาอังกฤษ : 20%
- ภาษาไทย : 10%
- สังคมศึกษา : 10%
คะแนนสอบวิชาความถนัดแพทย์ : 30 %
ผลคะแนนสอบ O-NET ( วิทย์ คณิต อังกฤษ ไทย สังคม) รวมกันต้องได้ 60 % หรือ 300 คะแนน ทั้งนี้คะแนน O-NET จะขึ้นอยู่กับมหาวิทยาลัยว่ามีการกำหนดเกณฑ์เอาไว้อย่างไร
แพทย์ 6 ปี เรียนอะไรบ้าง?
ปี 1 : เรียนปรับพื้นฐาน
ปี 1 จะเป็นปีที่ได้เรียนเหมือนเด็กคณะอื่นๆ วิชาที่จะเรียนในปี 1 นี้ ก็จะเป็นวิชาเรียนคล้าย ๆ กับตอน มัธยมปลาย คือจะเน้นวิชาฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา คณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ (ที่ใช้ในการแพทย์) เป็นหลัก แต่ว่าจะเรียนลงลึกมากยิ่งขึ้นและยากขึ้นกว่าเดิม
ปี 2 : เริ่มเข้าเนื้อหาแพทย์
ปี 2จะเรียนรู้เกี่ยวกับศาสตร์ทางการแพทย์เพิ่มมากยิ่งขึ้นกว่าปี 1โดยเนื้อหาในปีนี้จะได้เรียนเกี่ยวกับโครงสร้างของร่างกายและระบบการทำงานของร่างกายอย่างละเอียด เช่น ระบบประสาท ระบบเลือด ฯลฯ นอกจากนี้ยังจะต้องเรียนรู้ในวิชาอื่น ๆ อีก เช่น วิชาทางกายวิภาค สรีรวิทยา พันธุศาสตร์ เป็นต้น พร้อมทั้งน้องๆ ยังจะได้พบกับอาจารย์ใหญ่และกล่าวคำปฏิญาณ อีกด้วย
ปี 3 : เรียนถึงร่างกายมนุษย์
ปี 3 จะเรียนรู้เกี่ยวกับสิ่งต่าง ๆ ที่ทำให้ร่างกายของเราเกิดอาการเจ็บป่วยหรือทำให้ร่างกายผิดปกติ ทั้งการเรียนรู้จักกับเชื้อโรคชนิดต่าง ๆ สาเหตุของการเกิดโรค เช่น หลักภูมิคุ้มกันวิทยา, ปรสิตวิทยา, พยาธิทั่วไป, เวชศาสตร์ชุมชนฯ เป็นต้น และนอกจากนี้ยังเรียนเกี่ยวกับยาชนิดต่าง ๆ ที่ใช้ในการรักษาโรค (ระดับพื้นฐาน) อีกด้วย
และที่สำคัญในชั้นปีนี้ ยังจะต้องเจอเรื่องยากอีกหนึ่งเรื่องก็คือ การสอบใบประกอบวิชาชีพทางการแพทย์ขั้นที่ 1 ซึ่งจะทำการสอบตอนจบปี 3 เป็นการสอบความรู้ที่ได้เรียนมาตลอดทั้ง 3 ปี โดยข้อสอบจะเป็นแบบตัวเลือกทั้งหมด แบ่งการสอบออกเป็นรอบเช้า 150 คะแนน และรอบบ่าย 150 คะแนน รวมเป็น 300 คะแนน ถ้าสอบไม่ผ่านในรอบแรก สามารถสอบซ่อมได้อีกหนึ่งรอบ
ปี 4 : ได้ดูแลคนไข้
การเรียนในปีนี้ไม่ใช่เพียงแค่เรียนในห้องเรียนเพียงอย่างเดียวแล้ว แต่จะเรียนรู้บนหอผู้ป่วย (วอร์ด) ซึ่งจะเป็นการเรียนรู้จากผู้ป่วยโดยตรงเลย โดยจะเป็นการแบ่งออกเป็นกลุ่มย่อย ๆ เพื่อไปดูแลผู้ป่วยตามวอร์ดตลอดทั้งปี ในแต่ละวอร์ดจะมีเนื้อการเรียนรู้ที่แตกต่างกันออกไป เช่น วอร์ดสูติ-นรีเวช ก็จะเน้นไปที่โรคของผู้หญิง, วอร์ดเด็กก็จะเน้นไปที่โรคที่เกิดขึ้นกับเด็ก เป็นต้น
นอกจากจะมีการเปลี่ยนวอร์ดตลอดทั้งปีแล้ว ยังต้องเข้าเวรอีกด้วย โดยจะมีการมอบหมายให้มีการอยู่เวรนอกเวลาราชการ วันเสาร์-อาทิตย์ หรือในเทศกาลหยุดยาว ทำให้เวลาว่าที่ เคยมีก็จะหายไป มีเวลาส่วนตัวน้อยลงควรที่จะต้องหาวิธีในการปรับตัวให้ดีเลย ไม่งั้นอาจจะเราเรียนไม่ไหวได้นะ
ปี 5 : เรียนหนักขึ้น
สำหรับรูปแบบการเรียนในชั้นปีที่ 5 จะเหมือนกับปี 4 คือแบ่งออกเป็นกลุ่มย่อย ๆ และวนไปตามวอร์ดต่าง ๆ ตลอดทั้งปี แต่ก็จะมีความแตกต่างกันตรงที่วอร์ดที่วนกันนั้น จะเป็นวอร์ดที่ยังไม่เคยเจอในตอนปี 4 เช่น แผนกจิตเวช, แผนกนิติเวช เป็นต้น (การวอร์ดในแต่ละสถาบันการศึกษาอาจจะมีความแตกต่างกันออกไป ตามที่สถาบันได้จัดเอาไว้)
แต่สิ่งที่สำคัญในชั้นปีนี้ยังไม่หมดเพียงเท่านี้ เพราะจะต้องเตรียมตัวสอบใบประกอบวิชาชีพทางการแพทย์ขั้นที่ 2 ด้วย ซึ่งจะทำการสอบตอนเรียนจบชั้นปี 5 เป็นการสอบความรู้ในชั้นปีที่ 4 และ 5 ที่ได้เรียนมา ทั้งทฤษฎีและปฏิบัติ แบ่งการสอบออกเป็นรอบเช้าและรอบบ่าย รวม 300 คะแนน (ข้อสอบเป็นตัวเลือกแบบขั้นที่ 1)
ปี 6 : เริ่มทำงานจริง
ปีสุดท้ายแล้วสำหรับการเรียนแพทย์ จะได้ทำงานจริงเหมือนแพทย์ตามโรงพยาบาล ไม่ว่าจะเป็นการตรวจคนไข้ ทำการรักษาโรค เย็บแผลเอง ทำคลอดเอง ทำการผ่าตัดเล็กเอง (โดยจะมีอาจารย์เป็นผู้ควบคุมดูแลอีกทีอย่างห่างๆ) เรียกได้ว่าเป็นปีสุดท้ายที่โหดมากเลยทีเดียว เพราะเมื่อเราขึ้นวอร์ดไปแล้วเราจะต้องทำทุกอย่างเหมือนแพทย์ที่จบไปแล้ว ใช้ความรู้ที่ได้เรียนทั้งหมด และในปีนี้เราสามารถออกไปฝึกที่โรงพยาบาลต่างจังหวัดได้ด้วย
ที่สำคัญเรายังจะต้องสอบใบประกอบวิชาชีพทางการแพทย์ขั้นที่ 3 (ขั้นสุดท้าย) ซึ่งจะทำการสอบตอนจบปี 6 ส่วนของข้อสอบนั้นจะไม่ได้เป็นแบบตัวเลือกเหมือนกับ 2 รอบที่ผ่านมา แต่จะเป็นการสอบแบบออสกี้ (OSCE) ซึ่งเป็นการสอบปฏิบัติแบบมีเสียงกริ๊งกำหนดเวลา มีทั้งหมด 30 ฐาน (มีฐานให้เราได้พักเหมือนกัน)
แนวทางการประกอบอาชีพ
สามารถประกอบอาชีพทุกอย่างที่เกี่ยวกับคำว่า “หมอ” ทั้งหมอทั่วไป กุมารแพทย์ ศัลยแพทย์ อายุรแพทย์ จิตแพทย์