7 หลักเกณฑ์พิจารณาผู้สมัครงาน ที่ “เด็กจบใหม่” ต้องรู้
กว่าจะได้งานทำ ด่านแรกที่ทุกคนจะต้องแย่งชิงฝ่าฟันเพื่อให้ได้เข้าทำงาน ก็คือ “การสมัครและสัมภาษณ์งาน” ในขั้นตอนนี้คือขั้นที่องค์กรจะคัดคนเข้าสู่ด่านต่อไปตามเกณฑ์ที่ตั้งไว้ เพื่อเลือกคนที่เหมาะสมที่สุดเข้ามาร่วมงานกับองค์กร อย่างไรก็ตาม ฝ่ายทรัพยากรบุคคล หรือนายจ้างแต่ละที่จะมีหลักในการคัดเลือกพนักงานแตกต่างกัน แต่มักจะไม่ต่างกันมาก และเป็นไปในทิศทางเดียวกันเสมอ โดยพิจารณาจากเกณฑ์ต่าง ๆ เหล่านี้
1. ประวัติการศึกษา
จริงอยู่ว่าการทำงานไม่สามารถวัดได้จากเกรดเฉลี่ย แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่าประวัติการศึกษาเป็นด่านแรกที่ช่วยให้ผู้สมัครผ่านด่านมาถึงรอบสัมภาษณ์ได้ เนื่องจากเกรดเฉลี่ยเป็นมาตรฐานวัดผู้สมัครแต่ละคนได้ในช่วงเวลาสั้น ๆ จึงว่าควรพิจารณาต่อหรือไม่ ประวัติการศึกษาจึงเป็นสิ่งแรกที่องค์กรนำขึ้นมาพิจารณา คัดกรองคุณสมบัติขั้นต้น บอกว่าแต่ละคนเรียนอะไรมา ทำอะไรได้บ้างในสายงาน และยังบ่งบอกความรับผิดชอบของผู้สมัครด้วยว่าเป็นอย่างไร
2. กิจกรรมระหว่างเรียน
นอกจากเกรดเฉลี่ยที่สามารถวัดความผิดชอบบุคคลได้ระดับหนึ่งแล้ว การเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ สมัยเรียนก็สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน เพราะการทำกิจกรรมระหว่างเรียนถือเป็นประสบการณ์ชีวิตอย่างหนึ่ง ซึ่งจะช่วยฝึกทักษะการทำงานได้หลายด้าน ทั้งการทำงานร่วมกับผู้อื่น ความเป็นผู้นำ การแบ่งเวลา ซึ่งบางกิจกรรมให้อะไร ๆ มากกว่าการฝึกงานด้วยซ้ำ อย่างการออกค่าย การทำกิจกรรมเพื่อสังคม หรือแม้แต่กิจกรรมกีฬามหาวิทยาลัยเองก็ตาม
3. ประสบการณ์การฝึกงาน
เด็กจบใหม่ย่อมไม่เคยมีประสบการณ์ในการทำงานจริงอยู่แล้ว หลาย ๆ หลักสูตรการเรียนจึงบรรจุชั่วโมงการฝึกงานไว้ เพื่อให้นักเรียนนักศึกษาได้มีโอกาสไปลองสนามการทำงานจริง ๆ แต่ปกติ องค์กรที่รับนักศึกษาฝึกงานจะไม่ค่อยมอบหมายงานใหญ่ ๆ ให้ แต่ก็ช่วยให้เข้าใจบรรยากาศในการทำงานจริง ๆ ยังมีโอกาสได้ศึกษาบุคลิกภาพ ทัศนคติของคนวัยทำงานที่มีประสบการณ์มากกว่าด้วย
4. บุคลิกภาพ
สิ่งแรกที่ทุกคนจะเห็นจากตัวเราก็คือบุคลิกภาพ แม้ว่าจะไม่ควรตัดสินคนจากรูปลักษณ์ภายนอก แต่บุคลิกภาพเป็นสิ่งที่เป็นรูปธรรมที่สุดในการประเมินผู้สมัครเบื้องต้นโดยที่ไม่ต้องพูดคุยกับผู้สมัครเลยสักคำ เพราะกาลเทศะเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการทำงานไม่ว่าจะองค์กรไหนก็ตาม เป็นมารยาทพื้นฐานที่ควรมี ผู้สมัครจึงไม่ควรจะละเลย เพราะฉะนั้น ถ้าไม่อยากถูกปัดตกตั้งแต่ยังไม่ได้พูดอะไรเลยด้วยซ้ำ รักษาภาพลักษณ์ภายนอกไว้ก่อนจะดีที่สุด
5. ความฉลาดทางอารมณ์
ชีวิตการทำงานปัจจุบัน นอกจากความฉลาดทางเชาวน์ปัญญา (IQ) นั้นไม่พอ แต่ต้องมาพร้อมความฉลาดทางอารมณ์ (EQ) ด้วย เพราะเป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับการทำงาน งานจะประสบความสำเร็จหรือไม่ ส่วนหนึ่งมาจากทัศนคติของคนทำงาน หลาย ๆ คนแม้จะทำงานได้เก่ง คล่องแคล่ว แต่ถ้าทัศนคติไม่ไหว ควบคุมอารมณ์ตนเองไม่ได้ ก็พาให้งานพังและทีมล่มได้เหมือนกัน ซึ่งจะส่งผลให้มีปัญหาทั้งกับคนและงาน
6. ความรู้ทั่ว ๆ ไป
สิ่งที่จะช่วยให้องค์กรได้วัดทัศนคติเบื้องต้น คือ ความรู้ทั่ว ๆ ไป กรรมการสัมภาษณ์ อาจชวนคุยเรื่องดินฟ้าอากาศ หรือข่าวสารบ้านเมือง เพื่อดูว่าเราสนใจเรื่องที่อยู่ใกล้ตัวไหม อาจมีการถามความคิดเห็นประกอบ เพื่อดูทักษะการคิดวิเคราะห์ อีกสิ่งที่ผู้สมัครงานทุกคนต้องทำการบ้าน คือข้อมูลเกี่ยวกับองค์กร ที่บอกได้ว่าเราอยากจะทำงานกับองค์กรนี้มากแค่ไหน หากมีความรู้เกี่ยวกับองค์กรก็จะยิ่งได้เปรียบผู้สมัครงานคนอื่น
7. อื่น ๆ เพิ่มเติมเสริมโปรไฟล์
คือสิ่งที่ทำให้ผู้สมัครได้เปรียบคู่แข่งคนอื่น ไม่ใช่ว่าทุกคนจะมีได้ ต้องแสวงหามาด้วยตนเอง เช่น ทักษะภาษาที่สองที่สาม ทักษะทางคอมพิวเตอร์ที่ไม่ใช่ใครก็ทำได้ ถ้าเราใช้งานโปรแกรมอื่น ๆ ได้นอกเหนือจาก MS Office เราจะโดดเด่นเหนือคนอื่น หรือแม้กระทั่งแฟ้มผลงานที่รวบรวมไว้สมัยเรียน พวกรางวัลที่ได้รับ เกียรติบัตร หรือหลักฐานการเข้าร่วมหลักสูตรอบรมต่าง ๆ ช่วยให้เรามีภาษีดีกว่าคนอื่น ๆ ตั้งหลายคน