เช็กลิสต์เอกสารที่ต้องพร้อม เมื่อเตรียมตัวไปสมัครงาน
ถึงเวลาอันสมควรที่จะออกไปหางานทำกันแล้ว ฉะนั้น ต้องเตรียมตัวให้พร้อมในการไปสมัครงาน ซึ่งนอกจากจะเตรียมตัวสัมภาษณ์งาน เรื่องเอกสารก็สำคัญมาก ๆ เช่นกัน Tonkit360 จึงชวนทุกคนมาเช็กลิสต์ “เอกสารที่ต้องเตรียมไปสมัครงาน” ว่าต้องใช้อะไรบ้าง รับรองว่า การสมัครงานครั้งนี้ ต้องไม่พลาดเรื่องเอกสารอย่างแน่นอน (ตอนท้ายบทความ Tonkit360 ชี้เป้าแหล่งหางานเอาไว้ให้ด้วย)
ทั้งนี้ Tonkit360 แนะนำว่าเอกสารสำเนาทุกตัว ควรเตรียมสำเนาเผื่อประมาณ 2-3 ชุด พร้อมตัวจริงไว้กันเหนียว เซ็นคร่อมรับรองสำเนาถูกต้อง (โดยเฉพาะเอกสารที่นำไปทำธุรกรรมต่าง ๆ ได้) ว่าสำเนาชุดนี้ใช้สำหรับสมัครงานเท่านั้น พร้อมลงวันที่กำกับ ป้องกันมิจฉาชีพนำไปใช้งาน
สำหรับเอกสารที่ต้องเตรียมให้พร้อม มีดังนี้
1. สำเนาหลักฐานการศึกษา
ตอนที่เราเรียนจบจากโรงเรียน/วิทยาลัย/มหาวิทยาลัย ทางสถาบันให้อะไรมาบ้าง เอกสารเหล่านั้นคือหลักฐานการศึกษาทั้งสิ้น เช่น ใบรับรองการจบการศึกษา ใบแสดงผลการศึกษา เอกสารส่วนนี้สำคัญมากสำหรับการสมัครงาน เพราะไม่ว่าจะตำแหน่งงานอะไร (ที่กำหนดวุฒิ) เขาจะขอดูประวัติการศึกษาทั้งนั้น ว่าเรียนจบอะไรมา ผลการเรียนเป็นอย่างไร จบจากที่ไหน วุฒิการศึกษาสูงสุดคืออะไร เอกสารส่วนนี้จะช่วยคัดกรองผู้สมัครได้ส่วนหนึ่งเลย
2. สำเนาบัตรประชาชน-สำเนาทะเบียนบ้าน
เป็นเอกสารยืนยันตัวตนว่าเราเป็นคนไทย ถือสัญชาติไทย มีชื่อในทะเบียนราษฎร์ ไม่ใช่คนเถื่อนผิดกฎหมาย ซึ่งเอกสารนี้ทางองค์กรจะเก็บไว้เป็นหลักฐานสำหรับทำธุรกรรมต่าง ๆ เมื่อรับเราเข้าทำงานแล้ว ในบางองค์กรนำไปเช็กประวัติอาชญากรรมด้วย รวมถึงสำเนาใบเปลี่ยนชื่อ-นามสกุล ในกรณีที่เคยเปลี่ยนชื่อหรือนามสกุล
3. รูปถ่าย
อันที่จริงเรื่องรูปถ่ายไม่น่าจะมีปัญหา แต่กลับเป็นสิ่งที่คนไม่ค่อยคำนึงถึง ในเรื่องความน่าเชื่อถือและกาลเทศะ โดยรูปถ่ายที่นำมาใช้ประกอบการสัมภาษณ์งานนั้น จะเป็นรูปแนวตั้ง ขนาดประมาณ 1-2 นิ้ว ตามที่องค์กรกำหนด แต่งกายสุภาพเป็นทางการ (เสื้อเชิ้ต/เสื้อสูท) พื้นหลังสีฟ้าหรือสีขาว ยืนตรงแขนแนบลำตัว อมยิ้มได้เล็กน้อย และไม่ใช่รูปที่ถ่ายกันเป็นหมู่คณะ แต่ตัดเอาเฉพาะรูปของตนเองมา ซึ่งถ้าเราไปถ่ายตามร้านถ่ายรูป เราก็ไม่จำเป็นต้องใส่เสื้อผ้าสุภาพไปด้วยซ้ำ เพราะทางร้านสามารถจัดให้ได้ ไปเลือกชุดเอาที่ร้านได้เลย
4. เรซูเม่
คือประวัติโดยย่อ เป็นเอกสารที่ช่วยให้กรรมการสัมภาษณ์งาน หรือฝ่ายบุคคลที่ทำหน้าที่คัดเลือกประวัติผู้สมัคร สามารถรู้จักผู้สมัครได้อย่างรวดเร็วด้วยกระดาษแผ่นเดียว จึงควรมีรูปแบบที่อ่านง่าย กระชับ ได้ใจความ คัดเฉพาะประวัติเด่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับตำแหน่งงาน (ดู 5 ข้อต้องจำ เขียน “เรซูเม่” ยังไงให้ได้ไปต่อ) แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ไม่ใช่ทุกองค์กรที่จะเรียกดูเรซูเม่ แต่ถ้ามีไว้ก็จะเป็นต่อผู้สมัครคนอื่น และดูเป็นมืออาชีพในการสมัครงานมากยิ่งขึ้น
5. สำเนาผลการทดสอบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับตำแหน่งงาน
ส่วนใหญ่จะเป็นผลการทดสอบทางภาษา แน่นอนว่าตำแหน่งงานที่ต้องใช้ภาษานั้น หากไม่มีผลการสอบวัดระดับไปยืนยันเป็นหลักฐาน ก็ไม่น่าเชื่อถือ จึงจำเป็นต้องมีผลการสอบไปแสดง หรือต่อให้ตำแหน่งงานนั้นจะไม่ต้องการดูผลการสอบความถนัดการใช้ภาษา แต่การที่เตรียมมายื่นในวันสมัคร/สัมภาษณ์งานด้วย ก็จะได้เปรียบผู้สมัครคนอื่น ๆ ยิ่งคะแนนดี ๆ หรือชื่อการทดสอบการันตี โอกาสได้งานก็มากขึ้นตามไปด้วย
6. สำเนาหนังสือรับรองการฝึกงาน/การทำงาน/การผ่านงาน
สำหรับเด็กจบใหม่ ถ้าเคยผ่านการฝึกงานมาก่อน องค์กรที่รับนักศึกษาฝึกงานหรือทางสถาบันการศึกษาจะมีใบรับรองการฝึกงานมาให้ เพราะการฝึกงานก็ทำให้ได้ประสบการณ์ในการทำงานจริงมาบ้าง อย่างน้อยคือการได้ซึมซับบรรยากาศในที่ทำงาน รวมถึงการทำงานนอกเวลา และ/หรือกิจกรรมนอกหลักสูตรในสมัยเรียนก็สำคัญต่อการพิจารณาของเช่นกัน เอกสารเหล่านี้จะเพิ่มโอกาสในการเรียกไปสัมภาษณ์งาน และการได้งานทำ
แต่ถ้าไม่ใช่เด็กจบใหม่ คุณอาจขอเอกสารการทำงาน/ผ่านงานจากที่ทำงานเก่ามาเป็นหลักฐานประกอบการพิจารณาการสมัครงานกับองค์กรใหม่ได้ แต่ก็ควรจะดูแนวโน้มด้วยว่าหากขอมาแล้วจะเป็นประโยชน์หรือปัญหามากกว่ากันเพราะถ้าจบกับที่ทำงานเก่าไม่สวยก็ดูไม่ค่อยน่าขอเท่าไรนัก
7. ผลงาน/การผ่านการอบรมหลักสูตรต่าง ๆ
หากเรามีผลงาน การอบรมหลักสูตรต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นสมัยเรียน หรือสมัยทำงานใหม่ ๆ และก็มั่นใจว่าถ้านำไปยื่นพร้อมใบสมัครแล้วจะได้โอกาสที่ดีในการพิจารณางานแล้วล่ะก็ อย่ามัวรีรอ พกผลงานเหล่านั้นเตรียมไปให้พร้อมในวันสมัคร/สัมภาษณ์งานด้วย ทั้งนี้ก็เพื่อไปนำเสนอความสำเร็จต่าง ๆ ที่เราเคยทำมา เอกสารโดยทั่วไปก็จะเป็นเกียรติบัตร หรือใบรับรองว่าผ่านการอบรมหลักสูตรต่าง ๆ
8. เอกสารอื่น ๆ
ขึ้นอยู่กับองค์กรกำหนดว่าต้องการหลักฐานอะไรเป็นพิเศษ จึงไม่จำเป็นต้องมีทุกคน ขึ้นอยู่กับผู้สมัครและตำแหน่งงานที่รับสมัคร เช่น สำเนาใบผ่านเกณฑ์ทหาร หรือหลักฐานแสดงการพ้นภาระทางทหาร (สำหรับผู้ชาย) สำเนาใบขับขี่ (สำหรับตำแหน่งที่ต้องขับรถ) หรือหลักฐานในการตรวจร่างกาย เป็นต้น