หลักการสะกดคำภาษาไทย สามารถแบ่งออกได้เป็นกี่วิธี
ระบบการเขียนภาษาไทยเป็นระบบที่มีตัวอักษรแทนเสียง 3 ประเภท คือเสียงสระ พยัญชนะและวรรณยุกต์ ประกอบกันเป็นพยางค์และคำ ในการเขียนคำให้ถูกต้องจำเป็นต้องศึกษาเรื่องการใช้ สระ พยัญชนะ และวรรณยุกต์ ตลอดจนการเขียนคำในลักษณะพิเศษต่างๆ
การสะกดคำ คือ การอ่านโดยนำพยัญชนะต้น สระ วรรณยุกต์ และตัวสะกดมาประสมเป็นคำอ่าน ถือเป็นเครื่องมือการอ่านคำใหม่ ซึ่งต้องให้นักเรียนสังเกตรูปคำพร้อมกับการอ่านการเขียน เมื่อสะกดคำจนจำคำอ่านได้แล้ว ต่อไปก็ไม่ต้องใช้วิธีการสะกดคำนั้น ให้อ่านเป็นคำได้เลย จะทำให้นักเรียนอ่านจับใจความได้และอ่านได้เร็ว
โดยการสะกดคำนั้นมีหลากหลายวิธี
สะกดตามรูปคำ
- เช่น กา สะกดว่า กอ – อา – กา
- คาง สะกดว่า คอ – อา – งอ – คาง
- ค้าง สะกดว่า คอ – อา – งอ – คาง – ไม้โท – ค้าง
สะกดโดยสะกดแม่ ก กา ก่อน แล้วจึงสะกดมาตราตัวสะกด
- เช่น คาง สะกดว่า คอ – อา – คา – คา – งอ – คาง
- ค้าง สะกดว่า คอ – อา – คา – คา – งอ – คาง – คาง – โท – ค้าง
คำที่มีสระอยู่หน้าพยัญชนะ ให้สะกดพยัญชนะก่อนสระเสมอ
- เช่น เก สะกดว่า กอ – เอ – เก
- ไป สะกดว่า ปอ – ไอ – ไป
คำที่เป็นสระลดรูปหรือสระเปลี่ยนรูป อาจสะกดได้ดังนี้
- เช่น กัน สะกดว่า กอ – อะ – นอ – กัน หรือ กอ – ไม้หันอากาศ – นอ – กัน
- คน สะกดว่า คอ – โอะ – นอ – คน หรือ คอ – นอ – คน
- แข็ง สะกดว่า ขอ – แอะ – งอ – แข็ง หรือ ขอ – แอะ – ไม้ไต่คู้ – งอ – แข็ง
- เค็ม สะกดว่า คอ – เอะ – มอ – เค็ม หรือ คอ – เอะ – ไม้ไต่คู้ – มอ – เค็ม
คำอักษรควบ สะกดเรียงตัวอักษร มุ่งเพื่อการเขียนให้ถูกต้อง อาจสะกดได้ดังนี้
- เช่น กลอง สะกดว่า กอ – ลอ – ออ – งอ – กลอง
- พราง สะกดว่า พอ – รอ – อา – งอ – พราง
- กวาง สะกดว่า กอ – วอ – อา – งอ – กวาง
สะกดตัวควบพร้อมกัน มุ่งเพื่อออกเสียงคำควบกล้ำให้ชัด
- เช่น กลอง สะกดว่า กลอ – ออ – งอ – กลอง
- พราง สะกดว่า พรอ – อา – งอ – พราง
- กวาง สะกดว่า กวอ – อา – งอ – กวาง
คำอักษรนำ สะกดเรียงตัวอักษร มุ่งเพื่อการเขียนให้ถูกต้อง อาจสะกดได้ดังนี้
- เช่น อยาก สะกดว่า ออ – ยอ – อา – กอ – อยาก
- หนา สะกดว่า หอ – นอ – อา – หนา
- สนาม สะกดว่า สอ – นอ – อา – มอ – สนาม
อ่านอักษรนำแล้วจึงสะกด มุ่งเพื่อออกเสียงคำให้ถูกต้อง
- เช่น อยาก สะกดว่า หยอ – อา – กอ – อยาก
- หนา สะกดว่า หนอ – อา – หนา
- สนาม สะกดว่า สะหนอ – อา – มอ – สนาม
คำที่ตัวสะกดไม่ตรงตามมาตราตัวสะกด คำที่มีตัวการันต์
ให้ใช้หลักสังเกตรูปคำ รู้ความหมายของคำและจำคำให้ได้โดยอ่านและเขียนอยู่เสมอ เช่น เหตุ จันทร์