ย้อนไทม์ไลน์กำเนิดธง สู่การสร้างชาติที่มาพร้อมการสร้าง ธงชาติไทย

ย้อนไทม์ไลน์กำเนิดธง สู่การสร้างชาติที่มาพร้อมการสร้าง ธงชาติไทย

ย้อนไทม์ไลน์กำเนิดธง สู่การสร้างชาติที่มาพร้อมการสร้าง ธงชาติไทย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ย้อนไทม์ไลน์กว่าจะเป็น ธงไตรรงค์ และ ธงชาติไทย มนุษย์เริ่มใช้ธงครั้งแรกเมื่อไร และทราบหรือไม่ว่าธงนอกจากจะเป็นสัญลักษณ์ของชาติต่างๆ แล้วก็ยังทำหน้าที่ต่อสู้ในเวทีการเมืองต่างๆ ด้วย Sarakadee Lite ชวนไปค้นหาความหมายที่ซ่อนอยู่ใน ธง

thai-flag5

ธงในอารยธรรมโบราณ

ธงเป็นสิ่งที่มีมาแต่อารยธรรมโบราณ ทว่าก็ยังไม่มีหลักฐานว่าดินแดนใดกันแน่ที่เป็นผู้เริ่มต้นใช้ธง จากการศึกษาทั้งจากอียิปต์ โรมัน อินเดีย จีน เมื่อพันปีก่อน พบว่าเคยมีการตั้งเสาสูงประดับเครื่องหมายต่างๆ แทนเทพเจ้าไว้ด้านบน เป็นทั้งสัญลักษณ์ของอำนาจและตัวแทนของราชา ต่อมาเริ่มมีการนำผ้ามาผูกติดไว้กับเสาสูงจนทำให้เกิด ธง ซึ่งสันนิษฐานว่า จีนเป็นชาติแรกๆในโลกที่ประดิษฐ์ธงเพราะมีเทคโนโลยีด้านการทอผ้ามาแต่โบราณ และการประดับธงในสถานที่และโอกาสต่างๆ ของจีนน่าจะกลายเป็นต้นแบบให้แก่วัฒนธรรมการใช้ธงในวัฒนธรรมอื่นๆ

สำหรับในไทยนั้น ธง เคยปรากฏในศิลาจารึกสุโขทัย แต่เป็นธงที่ใช้เกี่ยวเนื่องกับพุทธศาสนา ถัดมาในสมัยอยุธยาปรากฏ “ธงแดง” เป็นธงเรือสำเภาจีนที่เข้ามาค้าขาย ก่อนจะถูกนำมาพัฒนาการสู่ธงแดงรูปจักร ธงช้างเผือก จนถึงธงไตรรงค์ ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน

เริ่มต้นการใช้ ธงแดง ในสยาม

ตั้งแต่สมัยอยุธยาเริ่มมีการใช้ธงแดงเป็นสัญลักษณ์ของการค้าขายจากกรุงสยาม ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 2 เริ่มมีการใช้สัญลักษณ์ช้างเผือกบนธงเพื่อแสดงว่านี่คือเรือสินค้าของรัฐบาลสยาม โดยต้นเรื่องเกิดมาจากการที่สยามส่งเรือสำเภาของหลวงไปซื้อสินค้าที่เกาะสิงคโปร์ โดยชักธงแดงขึ้นตามประเพณีที่เคยมีมา ปรากฏว่าเจ้าเมืองสิงคโปร์แจ้งว่า เรือสินค้าของชวาก็ชักธงแดงเหมือนกัน จึงอยากขอให้มี “สัญลักษณ์” พิเศษบางอย่างเพื่อบ่งชี้ว่าเป็นเรือของรัฐบาลสยาม

บังเอิญว่าในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยมีช้างเผือกเข้ามาสู่พระบรมโพธิสมภารหลายเชือก ถือเป็นเกียรติยศยิ่งใหญ่สำคัญ จึงโปรดเกล้าฯ ให้เพิ่มรูปช้างเผือกอยู่กลางวงจักรสีขาว ลงไปบนธงพื้นแดง เพื่อประกาศว่าเรือลำนี้เป็นของ “พระเจ้าช้างเผือก” แห่งกรุงสยาม แต่ธงแบบนี้ก็ใช้ชักขึ้นเสาเรือสินค้าของหลวงที่ไปค้าขายยังต่างประเทศเท่านั้น ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 4 ธงเรือค้าขายได้เปลี่ยนรูปแบบ ถอดรูปวงจักรซึ่งถือเป็นของสูงในฐานะเครื่องราชูปโภคออกจากจากธง เหลือเพียงพื้นสีแดงและรูปช้างเผือกอยู่กลางผืนธง และเรียกว่า ธงช้างเผือก

thai-flag3

ธงชาติผืนแรก ของ สยามประเทศ

ประเทศไทยเริ่มมี “ธงประจำชาติ” ในสมัยรัชกาล 4 ซึ่งตรงกับยุคล่าอาณานิคมของชาติตะวันตก และประเทศต่างๆ ในเอเชียก็เริ่มมีการใช้ “ธงประจำชาติ” เป็นสัญลักษณ์เหมือนประเทศในแถบตะวันตก และ “ธงช้างเผือก” ก็ได้กลายเป็น “ธงชาติสยาม” และได้ปรากฏสู่สายตาชาวโลกครั้งแรกใน พ.ศ.2400 พร้อมการปรากฏตัวของคณะราชทูตสยามชุดที่มีหม่อมราโชทัยเป็นล่าม เดินทางไปเฝ้าควีนวิคตอเรีย ที่อังกฤษ ต่อมาในปี พ.ศ. 2410 ธงช้างเผือก ได้ถูกนำไปประดับในโรงนิทรรศการของสยาม ในงานแสดงศิลปหัตถกรรมนานาชาติ ที่ประเทศฝรั่งเศส

ในสมัยรัชกาลที่ 5 ทรงดำเนินวิเทโศบายทางการเมืองระหว่างประเทศจนในที่สุดฝรั่งเศสยอมทำสัญญายกเมืองตราดคืนให้แก่สยามประเทศ เป็นที่มาของ “วันตราดรำลึก” ซึ่งตรงกับวันที่ 23 มีนาคม ของทุกปี โดยชาวตราดจะปัก “ธงช้างเผือก” เป็นการรำลึกถึงเหตุการณ์สำคัญนั้นด้วย

thai-flag2

ทำไมต้องใช้ ธงไตรรงค์

วันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2460 ประเทศไทยออกประกาศพระราชบัญญัติธง พ.ศ. 2460 แก้ไขลักษณะธงชาติจาก “ธงช้างเผือก” เป็น “ธงไตรรงค์” และกำหนดให้ธงไตรรงค์เป็นธงชาติ ครั้งนั้นรัชกาลที่ 6 โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้มีการเปลี่ยนรูปแบบธงชาติจากธงที่มีรูปช้างเผือกอยู่บนผืนธง มาเป็นรูปแบบธงสีแดง ขาว และน้ำเงิน ซึ่งเหตุผลหนึ่งคืออิงต้นแบบมาจากตะวันตก อาทิ ธงสามสีของฝรั่งเศส ธงยูเนียนแจ็คของอังกฤษ และธงดาวและริ้วขาวน้ำเงินแดงของสหรัฐอเมริกา อีกเหตุผลเพราะทรงเห็นความลำบากของราษฎรที่ต้องสั่งซื้อผ้าพิมพ์รูปช้างมาจากต่างประเทศ ตอนเย็บบางครั้งก็ติดธงผิดเอาขาช้างชี้ขึ้น

ในสมัย รัชกาลที่ 7 ทรงมีพระราชดำริให้เปลี่ยนแปลงรูปแบบธงชาติ จาก “ธงไตรรงค์” กลับมาเป็น “ธงช้าง” เพราะธงไตรรงค์ยังไม่เป็นที่รู้จักของต่างประเทศและสียังคล้ายคลึงกับธงชาติบางประเทศ ขณะที่ธงช้าง ไม่ซ้ำกับธงชาติใดเลย พระองค์ได้ขอความคิดเห็นจากองคมนตรี แต่คณะองคมนตรีมีความเห็นยืนยันที่จะใช้ธงไตรรงค์ตามเดิม ธงไตรรงค์จึงกลายเป็นธงชาติไทยมาจนถึงปัจจุบัน

thai-flag

ธงชาติและการสร้างชาติ

สำหรับความหมายของ ธงชาติไทย ที่เปลี่ยนมาเป็น ธงไตรรงค์ นั้น สีแดง หมายถึง ชาติและความสามัคคีของคนในชาติ สีขาว หมายถึง ศาสนา และ สีน้ำเงิน หมายถึง กษัตริย์ สะท้อนถึง 3 ศูนย์รวมจิตใจของคนไทย ด้านการเคารพธงชาติวันละ 2 เวลา (ชักธงขึ้นสู่ยอดเสาในเวลา 8.00 น. เชิญธงลงเวลา 18.00 น.) เริ่มต้นสมัย จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี และก็ได้ซบเซาขาดหายไป

กระทั่งรัฐบาลนายธานินทร์ กรัยวิเชียร (หลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519) ได้รื้อฟื้นการเคารพธงชาติวันละ 2 เวลาให้กลับมาอีกครั้ง ทั้งยังได้ประกาศเชิญชวนข้าราชการหยุดยืนตรงเคารพธงชาติเพื่อเป็นตัวอย่างอันดีแก่ประชาชนทั่วไป โดยออกเป็นประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีเรื่องระเบียบการชักธงชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2519 ลงวันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2519 ต่อมาประกาศในราชกิจจานุเบกษา จึงมีการเทียบเวลาจากสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศ วันละ 2 ครั้ง ในเวลาเคารพธงชาติ

thai-flag4-1

ธงชาติไม่ได้แค่เป็นตัวแทนของชาติเท่านั้น แต่การเกิดขึ้นของธงชาติยังมาพร้อมกับการสร้างชาติ และการปลุกกระแสชาตินิยมให้เกิดขึ้น เช่น การปักธงชาติหรือการเชิญธงขึ้นสู่ยอดเสาในสถานที่ราชการ โดยเฉพาะโรงเรียนในการศึกษาภาคบังคับ มีความหมายถึง การแสดงอำนาจอธิปไตยเหนือพื้นที่นั้นๆ โดยมติคณะรัฐมนตรี พฤษภาคม 2546 สมัยรัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร กำหนดให้ สถานที่ราชการและรัฐวิสาหกิจประดับธงชาติตลอด 24 ชั่วโมง

31 กรกฎาคม 2546 ธงชาติไทยถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ของการฉลองปลดหนี้ไอเอ็มเอฟ โดยนายทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ออกรายการโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจ แถลงความสำเร็จของรัฐบาลที่ได้ชำระหนี้เงินกู้งวดสุดท้ายจำนวน 6 หมื่นกว่าล้านบาทให้แก่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ และเชิญชวนให้ประชาชนไทยประดับธงชาติเพื่อร่วมเฉลิมฉลองการปลดหนี้ ฟื้นฟูประเทศได้จากวิกฤติเศรษฐกิจ 2540 (วิกฤติต้มยำกุ้ง)

พ.ศ. 2549 นับเป็นยุคเฟื่องฟูของ ธงชาติไทย ในสารคดีเรื่อง “ ธ ธง คนนิยม” โดย ศรัณย์ ทองปาน กล่าวถึงปรากฏการณ์ ยอดขาย ธงชาติไทย ที่เพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวจากปี 2548 ซึ่งผลมาจากวาระสำคัญคือช่วงงานฉลองสิริราชสมบัติครบรอบ 60 ปีของรัชกาลที่ 9

28 กันยายน พ.ศ. 2560 เนื่องในโอกาสครบรอบ 100 ปีธงไตรรงค์ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีนำโดย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รักษาการแทนนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้มีมติเห็นชอบให้วันที่ 28 กันยายนของทุกปีเป็น “วันพระราชทานธงชาติไทย” (Thai National Flag Day)

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook