วัดบนเหรียญไทย นั้นมีวัดอะไรบ้าง ศึกษาความเป็นไทยจากเหรียญกษาปณ์

วัดบนเหรียญไทย นั้นมีวัดอะไรบ้าง ศึกษาความเป็นไทยจากเหรียญกษาปณ์

วัดบนเหรียญไทย นั้นมีวัดอะไรบ้าง ศึกษาความเป็นไทยจากเหรียญกษาปณ์
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เหรียญกษาปณ์ ที่เราใช้กันอยู่ในทุกวันนี้ นอกจากเราจะใช้แลกเปลี่ยนแล้ว เหรียญกษาปณ์ ยังบ่งบอกถึงประวัติศาสตร์ของความเป็นไทยได้ด้วย รูปวัดต่างๆ ที่มีความสำคัญต่อประเทศชาติของเราด้วยนั่นเอง ในวันนี้ Sanook Campus เราจะพาเพื่อนๆ มาดูกันว่า วัดบนเหรียญไทย นั้นมีวัดอะไรบ้าง

istock-641624764

วัดบนเหรียญไทย นั้นมีวัดอะไรบ้าง

  • เหรียญ 10 บาท : พระปรางค์ วัดอรุณราชวราราม
  • เหรียญ 5 บาท : พระอุโบสถ วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม
  • เหรียญ 2 บาท : พระบรมบรรพต วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร (ภูเขาทอง)
  • เหรียญ 1 บาท : พระศรีรัตนเจดีย์ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม
  • เหรียญ 50 สตางค์ : พระบรมธาตุ วัดพระธาตุดอยสุเทพ
  • เหรียญ 25 สตางค์ : วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร

วัดบนเหรียญไทย นั้นมีวัดอะไรบ้าง ศึกษาความเป็นไทยจากเหรียญกษาปณ์

เหรียญ 10 บาท : พระปรางค์ วัดอรุณราชวราราม

i10

วัดอรุณราชวราราม หรือที่นิยมเรียกกันในภาษาพูดว่า วัดแจ้ง หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า วัดอรุณ เป็นวัดโบราณ สร้างในสมัยอยุธยา ที่ชื่อวัดแจ้ง เพราะ พระเจ้าตากฯ ทำศึกเสร็จ แล้วยกทัพกลับมาเป็นเวลาเช้าพอดี ว่ากันว่าเดิมเรียกว่า วัดมะกอก และกลายเป็นวัดมะกอกนอกในเวลาต่อมา เพราะได้มีการสร้างวัดขึ้นอีกวัดหนึ่งในตำบลเดียวกัน แต่อยู่ในคลองบางกอกใหญ่ ชาวบ้านเรียกวัดที่สร้างใหม่ว่า วัดมะกอกใน (วัดนวลนรดิศ) แล้วจึงเรียกวัดมะกอกซึ่งอยู่ปากคลองบางกอกใหญ่ว่า วัดมะกอกนอก ส่วนเหตุที่มีการเปลี่ยนชื่อเป็นวัดแจ้งนั้น เชื่อกันว่า เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงตั้งราชธานีที่กรุงธนบุรีใน พ.ศ. 2310 ได้เสด็จมาถึงหน้าวัดนี้ตอนรุ่งแจ้ง จึงพระราชทานชื่อใหม่ว่าวัดแจ้ง แต่ความเชื่อนี้ไม่ถูกต้อง เพราะเพลงยาวหม่อมภิมเสน วรรณกรรมสมัยอยุธยาที่บรรยายการเดินทางจากอยุธยาไปยังเพชรบุรี ได้ระบุชื่อวัดนี้ไว้ว่าชื่อวัดแจ้งตั้งแต่เวลานั้นแล้ว

เหรียญ 5 บาท : พระอุโบสถ วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม

i5

วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร ไม่ปรากฏหลักฐานว่าสร้างขึ้นเมื่อใด เดิมชื่อ วัดแหลม หรือ วัดไทรทอง ภายหลังได้รับพระราชทานนามจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวใหม่ว่า วัดเบญจบพิตร ซึ่งหมายถึง วัดของเจ้านาย 5 พระองค์ที่ทรงร่วมกันปฏิสังขรณ์วัดแห่งนี้ เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างสวนดุสิตขึ้นพระองค์ทรงทำผาติกรรมสถาปนาวัดขึ้นใหม่และพระราชทานนามว่า วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม อันหมายถึง วัดของพระเจ้าแผ่นดินรัชกาลที่ 5

เหรียญ 2 บาท : พระบรมบรรพต วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร (ภูเขาทอง)

is

วัดสระเกศ เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดราชวรมหาวิหาร ตั้งอยู่ริมคลองมหานาค เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย มีจุดเด่นคือ พระบรมบรรพต เหรียญ 2 บาท เป็นรูป “พระบรมบรรพต โดย วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร” หรือที่รู้จักกันดีในนาม “ภูเขาทอง” สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 แต่มาแล้วเสร็จลงในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยมีรูปแบบเป็นพระเจดีย์แบบกลม (ทรงลังกา) บนยอดเขา เพื่อให้เป็นเจดีย์ที่สูงใหญ่ของพระนคร

เหรียญ 1 บาท : พระศรีรัตนเจดีย์ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม

i1

วัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า วัดพระแก้ว เป็นวัดที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นในพร้อมกับการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ พ.ศ. 2325 เป็นวัดในพระบรมมหาราชวังเช่นเดียวกับวัดพระศรีสรรเพชญ์ ซึ่งเป็นวัดในพระราชวังหลวงในสมัยอยุธยา และมีพระราชประสงค์ให้วัดพระศรีรัตนศาสดารามเป็นที่ประดิษฐาน พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร หรือพระแก้วมรกต พระคู่บ้านคู่เมืองของแผ่นดินสยามที่พบ ณ วัดป่าเยี้ยะ (ป่าไผ่) จังหวัดเชียงราย และเป็นสถานที่ทรงบำเพ็ญพระราชกุศล วัดพระศรีรัตนศาสดารามเป็นวัดที่ไม่มีพระสงฆ์จำพรรษาอยู่ เพราะมีแต่ส่วนพุทธาวาสไม่มีส่วนสังฆาวาส

เหรียญ 50 สตางค์ : พระบรมธาตุ วัดพระธาตุดอยสุเทพ

i50

วัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร เป็น พระอารามหลวง ชั้นโท ชนิดราชวรวิหาร ตั้งอยู่ในอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย วัดมีความสูงจากระดับที่ราบเชียงใหม่ราว 689 เมตร และมีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 1,046 เมตร เป็นหนึ่งในวัดที่มีความสำคัญมากที่สุดของจังหวัดเชียงใหม่ ก่อสร้างตามแบบศิลปะล้านนา มีเจดีย์ทรงเชียงแสน ฐานสูงย่อมุมระฆังทรงแปดเหลี่ยมปิดด้วยทองจังโก 2 ชั้น ลานเจดีย์เป็นจุดชมทิวทัศน์เมืองเชียงใหม่ ทางขึ้นเป็นบันไดนาคเจ็ดเศียรก่อปูน

เหรียญ 25 สตางค์ : วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร

i25

วัดพระบรมธาตุวรมหาวิหาร หรือ วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร ตั้งอยู่ ถนนราชดำเนิน ตำบลในเมือง อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดวรมหาวิหาร

ประเพณีที่เป็นที่รู้จักสำหรับวัดพระบรมธาตุวรมหาวิหาร คือ พิธีที่นิยมปฏิบัติกันผ้าขึ้นธาตุ หมายถึง การนำผ้าผืนยาวขึ้นไปห่มองค์พระบรมธาตุเจดีย์ในวันสำคัญทางศาสนา ชาวนครได้ร่วมมือร่วมใจกันบริจาคเงินตามกำลังศรัทธานำเงินที่ได้ไปซื้อผ้ามาเย็บต่อกันเป็นแถวยาวนับพันหลา แล้วจัดเป็นขบวนแห่ผ้าขึ้นห่มพระบรมธาตุเจดีย์ ผ้าที่ขึ้นไปห่มองค์พระบรมธาตุเจดีย์เรียกว่า “ผ้าพระบฎ” (หรือ พระบต) นิยมใช้สีขาว สีเหลือง สีแดง สำหรับผ้าสีขาวนิยมเขียนภาพเนื้อหาเกี่ยวกับพุทธประวัติตั้งแต่ประสูติ เสด็จออกบรรพชา ตรัสรู้ ปฐมเทศนา และปรินิพพาน ประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุเป็นเอกลักษณ์ประจำเมืองนครศรีธรรมราช แก่นแท้อยู่ที่การบูชาพระพุทธเจ้าอย่างใกล้ชิด โดยใช้องค์พระบรมธาตุเจดีย์เป็นตัวแทน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook