รู้จัก “โรคหลอกตัวเอง” ระวังมโนจนคิดว่าเป็นเรื่องจริง!

รู้จัก “โรคหลอกตัวเอง” ระวังมโนจนคิดว่าเป็นเรื่องจริง!

รู้จัก “โรคหลอกตัวเอง” ระวังมโนจนคิดว่าเป็นเรื่องจริง!
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

การโกหกหรือหลอกตัวเองบ่อย ๆ จนสุดท้ายเชื่อว่าเรื่องเหล่านั้นเป็นเรื่องจริง อาจเข้าข่ายอาการป่วยที่เรียกว่า “โรคหลอกตัวเอง” โดยที่เจ้าตัวก็ไม่รู้ตัว

โรคหลอกตัวเอง (Pathological Liar) เป็นโรคที่ผู้ป่วยมีเจตนาที่จะพูดไม่จริง หรือโกหกเป็นนิสัย ซึ่งต่างจากผู้ป่วยที่มีปัญหาทางจิตเวชที่หลุดจากโลกของความจริง ที่คิดว่ามีคนจะทำร้าย สะกดรอยตาม หรือวางยา เพราะไม่ได้มีเจตนาที่จะโกหก

สาเหตุของการหลอกตัวเอง

การที่เราหลอกตัวเองนั้น พญ.วินิทรา แก้วพิลา อาจารย์ด้านจิตเวชศาสตร์เด็กและวัยรุ่น ประจำสถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ ระบุว่าสาเหตุที่ทำให้ต้องโกหกนั้น เป็นการทำไปเพื่อให้รู้สึกดีกับตัวเองมากขึ้น ทำเพื่อให้สังคมยอมรับ หรือมีเจตนาจะหลีกเลี่ยงความลำบากใจบางอย่าง เช่น ความรู้สึกผิด ความรู้สึกด้อยค่าในตัวเอง หรือต้องการหลีกเลี่ยงปัญหาที่เกิดขึ้นแม้ว่าเป็นเรื่องเล็กน้อยก็ตาม

โรคหลอกตัวเองเกิดกับใครได้บ้าง?

โรคหลอกตัวเองมักเกิดกับกลุ่มคนที่มีปม หรือมีปัญหามาตั้งแต่วัยเด็กหรือในอดีต รู้สึกไม่เห็นคุณค่าของตัวเอง มีความขัดแย้งเกิดขึ้นภายในครอบครัวอย่างรุนแรง ไม่ได้รับการยอมรับจากผู้อื่น มีการกระทำรุนแรงในครอบครัว หรือบางกรณีอาจเกิดจากสารเคมีในสมองที่ไม่สมดุล

สัญญาณเตือนหรืออาการที่บ่งชี้ว่าหลอกตัวเอง

จากข้อมูลของเว็บไซต์ Medical News Today ระบุว่าผู้ป่วยจะเริ่มจากการโกหกในเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ก่อน จากนั้นจะเริ่มมีความซับซ้อนในการโกหกมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากจำเป็นต้องปกปิดเรื่องที่เคยโกหกมาก่อนหน้านี้

อย่างไรก็ตาม คนที่โกหกบ่อย ๆ ใช่ว่าจะต้องป่วยเป็นโรคหลอกตัวเอง เพราะหากเป็นโรคดังกล่าวจะเป็นการโกหกโดยไม่จำเป็นต้องมีแรงจูงใจใด ๆ

ดังนั้น คนที่มักพูดอะไรที่เกินจริงอยู่บ่อย ๆ เพื่อให้ตัวเองได้รับความสนใจ และมักจะโกหกอยู่ตลอดเวลา เพื่อปกปิดข้อผิดพลาดที่ตัวเองได้ทำไว้นั้น จึงไม่เข้าข่ายของการเป็นโรคหลอกตัวเอง

หากคนใกล้ตัวเข้าข่ายเป็นโรคหลอกตัวเอง

พญ.วินิทรา แนะนำว่าควรนำมาพบจิตแพทย์ และคนใกล้ชิดต้องไม่ส่งเสริมให้โกหกต่อไปเรื่อย ๆ โดยให้บอกไปตรง ๆ ว่ารู้ความจริงในสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นแล้ว และให้โอกาสอีกฝ่ายได้สารภาพโดยไม่มีการซ้ำเติม ซึ่งสิ่งแรกที่ควรจะทำคือการกล่าวชื่นชมที่ยอมพูดความจริงออกมา พร้อมชี้แจงให้เข้าใจว่าความจริงก็คือความจริง หากผู้อื่นมาทราบภายหลังว่าไม่ได้พูดความจริง สุดท้ายก็จะสูญเสียทั้งความไว้เนื้อเชื่อใจ การยอมรับ หน้าที่การงาน และความสัมพันธ์ส่วนตัว

อย่างไรก็ตาม ไม่ควรต้อนให้คนเหล่านี้จนมุม เพราะจะเป็นการส่งเสริมให้มีพฤติกรรมโกหกมากขึ้นยิ่งกว่าเดิม แต่ให้พยายามทำความเข้าใจว่าเบื้องลึกหรือสาเหตุที่แท้จริงของการโกหกเป็นเพราะอะไร เพื่อร่วมกันแก้ไขต่อไป

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook