นักปรัชญาแนะวิธี "สอนลูกอย่างไรไม่ให้เหยียดผิว?"

นักปรัชญาแนะวิธี "สอนลูกอย่างไรไม่ให้เหยียดผิว?"

นักปรัชญาแนะวิธี "สอนลูกอย่างไรไม่ให้เหยียดผิว?"
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

อาจารย์เจนนิเฟอร์ ฮาร์วีย์ ผู้สอนวิชาศาสนาและปรัชญาที่มหาวิทยาลัย Drake ในรัฐไอโอวา และผู้เขียนหนังสือชื่อ Raising White Kids: Bringing Up Children in a Racially Unjust America มีข้อแนะนำในบทความซึ่ง CNN นำมาเผยแพร่ว่า ปัญหาหนึ่งในอเมริกาเวลานี้ คือสิ่งที่เธอเรียกว่า White Silence ซึ่งนอกจากจะหมายถึงการนิ่งเงียบอยู่เฉยของกลุ่มคนผิวขาวที่อาจเทียบเท่ากับการยอมรับและยินยอมในสิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว เรื่องนี้ยังอาจสื่อถึงการเพิกเฉยไม่ใส่ใจของคนทั่วไปที่ไม่ต้องการสร้างความขุ่นเคืองหรือยุ่งยากใจให้กับคนอื่นด้วย

โดยอาจารย์เจนนิเฟอร์ ชี้ว่า Silence หรือการนิ่งเงียบนี้ อาจเกิดขึ้นได้ถึงแม้จะมีคำพูดหรือการพร่ำสอนว่าทุกคนนั้นเท่าเทียมกัน หรือเราควรจะเอื้อเฟื้อกับทุกคน รวมทั้งการกล่าวสนับสนุนให้ส่งเสริมความแตกต่างหลากหลายทางเชื้อชาติก็ตาม เพราะคำพูดเหล่านี้จะไม่มีประโยชน์อันใดหากเราไม่ได้ตั้งใจหรือลงมือปฏิบัติอย่างแท้จริง

คุณเจนนิเฟอร์ ฮาร์วีย์ สตรีอเมริกันผิวขาวผู้มีลูกสาวสองคนนี้ เตือนว่า ถ้าเราไม่อยากให้ลูกโตขึ้นและกลายเป็นคนที่เหยียดผิวในอนาคต เราควรต้องใส่ใจเพื่อทำลายความนิ่งเงียบและสอนเด็ก ๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้แต่เนิ่น ๆ เพราะไม่มีคำว่าเร็วไปที่จะพูดคุยเรื่องความแตกต่างด้านเชื้อชาติ

โดยผลการศึกษาหลายชิ้นแสดงว่า ในช่วงอายุสามถึงสี่ปี เด็กจะเริ่มมีภาพจำเกี่ยวกับเอกลักษณ์ตัวตนด้านเชื้อชาติและผิวพรรณของตัวเองและของผู้อื่นแล้ว และที่อายุราวห้าปี เด็กก็จะเริ่มเรียนรู้ว่าคนต่างกลุ่มต่างผิวนั้นได้รับการปฏิบัติที่แตกต่างกันอย่างไร

ดังนั้นการสนทนาเกี่ยวกับประเด็นความแตกต่างด้านเชื้อชาติ จึงเป็นการบอกกับลูกหลานของเราโดยปริยายว่านี่คือสิ่งที่เราสนใจและสามารถจะพูดคุยกันได้ เพราะมิฉะนั้นแล้ว เด็กก็อาจจะคิดเองว่าการพูดคุยในประเด็นเกี่ยวกับเชื้อชาตินั้นเป็นเรื่องต้องห้าม

การเปิดโอกาสให้พูดคุยและแลกเปลี่ยนประสบการณ์หรือการสอนให้เด็กมีความเข้าใจและมีภูมิต้านทานเรื่องการเหยียดผิวนี้ เป็นหน้าที่โดยตรงของครอบครัวไม่ใช่เรื่องที่โรงเรียน กลุ่มเพื่อน หรือสื่อสังคมออนไลน์จะทำแทนได้

โดยอาจารย์เจนนิเฟอร์ ฮาร์วีย์ แนะว่า เราอาจใช้วิดีโอคลิปจากเหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้นเพื่อถามความเห็นของลูกว่าได้เห็นอะไร ซึ่งบางครั้งเราก็อาจจะประหลาดใจเมื่อได้ทราบเกี่ยวกับสิ่งที่ลูกรู้แล้วหรือยังไม่รู้ แต่ที่สำคัญที่สุด การสนทนาแลกเปลี่ยนนี้จะช่วยให้เรารู้ว่าเด็กของเรานั้นควรจะต้องเรียนรู้อะไรบ้าง

อาจารย์เจนนิเฟอร์ ผู้เขียนหนังสือแนะนำวิธีเลี้ยงลูกในสภาพสังคมที่มีความแตกต่างด้านเชื้อชาติผิวพรรณในอเมริกาผู้นี้ ยังเสริมด้วยว่า กระบวนการพูดคุยสนทนาเพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นและสร้างค่านิยมในครอบครัวนี้สำคัญมาก ที่จะช่วยให้เด็กของเราสามารถเรียบเรียงและตีความสิ่งที่พวกเขาได้เห็นและได้ยินในชีวิตประจำวัน เพื่อพัฒนาแนวความคิดและค่านิยมที่ถูกต้องเรื่องความสัมพันธ์กับกลุ่มคนต่างเชื้อชาติต่างผิวพรรณ

และเสริมว่า พ่อแม่ไม่ควรกลัวที่จะพูดความจริง เพราะความจริงถึงแม้จะไม่สวยงามแต่ก็จะช่วยสร้างบริบทสำหรับสิ่งที่เกิดขึ้น และช่วยสร้างความเข้าใจสำหรับสิ่งที่เด็กได้พบเห็นอยู่เป็นประจำ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook