รู้ไว้ใช่ว่า “เทศกาลกินเจ” ไม่มีให้เห็นในประเทศจีน!

รู้ไว้ใช่ว่า “เทศกาลกินเจ” ไม่มีให้เห็นในประเทศจีน!

รู้ไว้ใช่ว่า “เทศกาลกินเจ” ไม่มีให้เห็นในประเทศจีน!
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ประเทศไทยกำลังจะเข้าสู่ช่วงเทศกาลถือศีลกินเจในอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้แล้ว โดยในปี 2563 นี้จะเริ่มตั้งแต่ช่วงเย็นของวันเสาร์ที่ 17 ตุลาคม ไปจนถึงเย็นวันอาทิตย์ที่ 25 ตุลาคม ซึ่งเทศกาลกินเจนี้ถือเป็นอีกหนึ่งเทศกาลที่ชาวไทยนิยมกันอย่างมาก โดยเฉพาะชาวไทยเชื้อสายจีน ในบริเวณที่เป็นที่อยู่อาศัยของชาวจีนโพ้นทะเลกันอย่างหนาแน่น เราเห็นธงสีเหลืองและตัวอักษรสีแดงตามริมถนนทั้งเส้น และหาของกินที่ไม่เจยากเหลือเกิน

ในเมื่อเทศกาลกินเจที่เราเห็นสื่อชัดเจนว่าเป็นประเพณีของจีนอย่างแน่นอน ส่วนที่ไทยในหลายพื้นที่ก็จัดงานกันยิ่งใหญ่อลังการ หลายคนเลยนึกสงสัยว่าขนาดที่ไทยยังจัดยิ่งใหญ่ขนาดนี้ แล้วที่จีนที่เป็นต้นกำเนิดประเพณีจะเป็นอย่างไร ยิ่งใหญ่กว่าเราขนาดไหนกัน แต่ถ้าเราไปเที่ยวที่จีน ฮ่องกง หรือไต้หวัน เราจะไม่เห็นการจัดงานเทศกาลนี้เลยด้วยซ้ำ นั่นแปลว่า เทศกาลกินเจสุดยิ่งใหญ่ในเมืองไทยนั้น คนจีนส่วนใหญ่ไม่รู้จัก

เทศกาลกินเจ ประเพณีจากจีน แต่คนจีนไม่รู้จัก

อันที่จริงแล้ว เทศกาลนี้มีที่มาจากประเทศจีนจริง ๆ แต่ในอดีตเขาไม่ได้ทำกันอย่างแพร่หลาย เป็นเทศกาลยิ่งใหญ่แบบตรุษจีน ที่คนจีนทั่วโลกเฉลิมฉลองกันยิ่งใหญ่ ซึ่งการกินเจที่ยิ่งใหญ่ในไทยมีที่มาจากชาวจีนโพ้นทะเลที่อพยพมายังดินแดนบริเวณเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

อย่างที่เรารู้กันว่าประเทศจีนนั้นมีพื้นที่กว้างใหญ่ไพศาลมากแค่ไหน แต่ละพื้นที่ แต่ละมณฑลมีเอกลักษณ์ที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ยิ่งถ้าเป็นมณฑลที่อยู่ทางเหนือ ทางใต้ ตะวันออก ตะวันตก ที่พื้นที่ห่างไกลกันมาก ๆ ถ้าหน้าไม่ดูจีน หรือใช้ภาษาที่ฟังแล้วเหมือนภาษาจีน เราจะรู้สึกว่าเหมือนเป็นคนละประเทศเลยด้วยซ้ำ ไม่ว่าจะเป็นภาษา (ภาษาจีนภาษาถิ่น เมื่อพูดต่างกันจะคุยกันไม่รู้เรื่อง จึงได้มีภาษาจีนกลางมาตรฐานขึ้นมาเป็นภาษาราชการเพื่อให้คนทุกพื้นที่ของจีนสื่อสารกันรู้เรื่อง) วัฒนธรรม ความเชื่อ ความเป็นอยู่

ดังนั้น การกินเจในประเทศจีนนั้นเป็นเรื่องประจำท้องถิ่น ไม่ได้กินกันเป็นล่ำเป็นสันแบบไทย ซึ่งชาวจีนที่กินเจในจีน ส่วนใหญ่จะเป็นชาวจีนฮกเกี้ยน และแต้จิ๋ว ตามมณฑลฝูเจี้ยน ซึ่งเป็นมณฑลชายฝั่งทะเลทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ของจีน ในช่วงที่ชาวจีนกลุ่มนี้ อพยพลงมาตามแนวทะเลจีนใต้มาขึ้นฝั่งในดินแดนแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คือบริเวณภาคใต้ของไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ ก็นำเอาประเพณีกินเจติดมาด้วย สันนิษฐานว่าคนจีนแผ่นดินใหญ่เริ่มอพยพมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ที่มีการติดต่อการค้ากับจีน

เมื่อผสานรวมกับวัฒนธรรมท้องถิ่น ประเพณีกินเจในไทยจึงกลายเป็นประเพณีแบบเฉพาะลูกหลานชาวจีนโพ้นทะเลในดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จัดกันยิ่งใหญ่มากในไทย โดยงานเฉลิมฉลองยิ่งใหญ่ก็จะเป็นแถวภูเก็ต สงขลา พังงา และตรัง

ตรงกันข้าม การกินเจในจีนกลับหายไป เพราะในช่วงปฏิวัติทางวัฒนธรรม ปี พ.ศ. 2509 ลัทธิคอมมิวนิสต์ได้พยายามทำลายวัฒนธรรม ประเพณีดั้งเดิมที่สืบทอดมาจากสมัยราชวงศ์ เช่น ทำลายหนังสือเรียน ทำลายคัมภีร์เกือบทุกอย่างที่เกี่ยวกับพิธีกรรม วัฒนธรรม ศาสนา ใครที่ยังนับถือความเชื่อเดิม ๆ จะถือว่าต่อต้านและเป็นปฏิปักษ์กับรัฐบาลคอมมิวนิสต์ จะต้องถูกกำจัดให้หมดไป ลูกหลานรุ่นต่อ ๆ มาเลยไม่มีโอกาสได้รู้จักวัฒนธรรมประเพณีนี้

จุดเริ่มต้นเทศกาลกินเจในไทย

เมื่อประเพณีกินเจจากจีนเข้ามาสู่ดินแดนไทย เดิมไม่ได้เรียกเทศกาลนี้ว่าเทศกาลกินเจ แต่เรียกว่า เทศกาลเฉลิมฉลองของพระราชาธิราชทั้ง 9 ซึ่งเป็นการนับถือพระเจ้าของลัทธิเต๋า จะบูชาเป็นจำนวน 9 วัน ตามปฏิทินจันทรคติจีน เริ่มต้นตั้งแต่วันขึ้น 1 ค่ำถึงขึ้น 9 ค่ำ เดือน 9

บันทึกประวัติศาสตร์หนึ่งของคนภูเก็ตระบุว่า ในปี พ.ศ. 2368 พระยาถลาง เจ้าเมืองภูเก็ต ในตอนที่ย้ายเมืองมาตั้งที่บริเวณบ้านเก็ตโฮ่ ขณะนั้นพื้นที่บริเวณเป็นป่า ชุมชุกด้วยไข้มาลาเรีย จนต่อมามีคณะงิ้วจากเมืองจีนมาทำการแสดง แล้วเกิดล้มป่วย คณะงิ้วจึงประกอบพิธีกินผักขึ้น เพื่อบวงสรวงเทพเจ้า “กิ๋วฮ๋องไต่เต่” และ “ยกอ๋องซ่งเต่” ผลลัพธ์คือทำให้คนป่วยหายอย่างน่าอัศจรรย์ ประเพณีกินผักก็ถูกนำไปเกี่ยวข้องกับโรคภัยไข้เจ็บและบาปบุญ จึงมีพิธีกินผักขึ้น จากนั้นมา

โดยศาลเจ้าแรกที่เริ่มประเพณีถือศีลกินผักนี้ก็คือ ศาลเจ้ากะทู้ หรืออ๊ามกะทู้ (คนภูเก็ตจะเรียกศาลเจ้าว่า “อ๊าม”) เมื่อเห็นว่าคณะงิ้วนั้นหายป่วยเพราะกินผัก ชาวบ้านจึงเกิดความศรัทธา แล้วประกอบพิธีกินผักตาม เริ่มตั้งแต่วันขึ้น 1 ค่ำ ถึงวันขึ้น 9 ค่ำ เดือน 9 (ตามปฏิทินจีน) รวม 9 วัน 9 คืน เป็นประจำทุกปีจนถึงทุกวันนี้ โดยกลายเป็นความเชื่อว่าถือศีลกินผักเป็นการทำบุญ ละเว้นบาป และดีต่อสุขภาพ

ดังนั้น จุดเริ่มต้นของเทศกาลถือศีลกินเจในไทย เริ่มต้นที่ภูเก็ตโดยมาจากการเชื่อมโยงกับเรื่องของโรคภัยไข้เจ็บ เชื่อว่าการกินผักมีประโยชน์ต่อสุขภาพมากกว่าเนื้อสัตว์ ก่อนที่ชาวจีนโพ้นทะเลที่อาศัยอยู่ที่อื่น ๆ ในประเทศไทยเริ่มที่จะมีเทศกาลนี้ทั่วทุกหัวระแหง แพร่หลายไปยังบรรดาชาวไทยที่ไม่ได้มีเชื้อสายจีน เพราะรู้สึกว่าเป็นประเพณีที่ไม่ได้แย่ มีประโยชน์ และน่าทำตาม ส่วนหนึ่งเป็นเพราะถือเป็นการกินเพื่อสุขภาพ อีกทั้งยังเป็นการทำกายใจให้บริสุทธิ์ งดเว้นจากการกินเนื้อสัตว์ ถือเป็นการมีจิตเมตตาต่อสัตว์ที่ต้องมาเป็นอาหารของมนุษย์

เหตุใดเทศกาลกินเจจึงรุ่งเรืองมากที่ไทย

เนื่องจากชาวจีนฮกเกี้ยนโพ้นทะเลที่อพยพลงมาบริเวณเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้นกระจายกันไปตามดินแดนต่าง ๆ เช่น สิงคโปร์ แต่ดินแดนบริเวณนี้เคยถูกปกครองโดยอังกฤษ ทำให้สังคมสมัยใหม่แบบยุโรปกลืนประเพณีเก่าแก่ลงไป ขณะเดียวกันชาวจีนฮกเกี้ยนโพ้นทะเลที่อยู่ในมาเลเซีย อินโดนีเซีย ก็เป็นประเทศมุสลิม ดังนั้น พื้นที่ที่ยังถือศีลกินเจกันอย่างมั่นคงจึงเป็นทางตอนใต้ของประเทศไทย และจัดงานเฉลิมฉลองกันอย่างยิ่งใหญ่นั่นเอง

สำหรับศูนย์กลางของงานเทศกาลกินเจที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในไทย และเป็นที่รู้จักของชาวต่างชาติที่นอกจากย่านเยาวราชในกรุงเทพฯ คือเทศกาลถือศีลกินผักที่ภูเก็ต โดยจะเรียกว่า เจี๊ยะฉ่าย ด้วยมีชาวจีนจำนวนมากอพยพขึ้นเกาะภูเก็ต จนที่นี่มีศาลเจ้าจีนพอ ๆ กับวัด แต่ละศาลเจ้าจะจัดพิธีบูชาบวงสรวงเทพเจ้า ตลอด 9 วัน 9 คืนช่วงกินเจ มีประเพณีแห่พระรอบเมือง จุดประทัดเสียงดัง รวมถึงพิธีลุยไฟ สะเดาะเคราะห์ หรือส่งพระ กลายเป็นประเพณีที่สืบทอดจากรุ่นสู่รุ่นหลานหลายชั่วอายุคน

อย่างไรก็ตาม การจัดงานกินเจในภูเก็ตที่ใหญ่ที่สุดนั้น เราจะเห็นกิจกรรมหนึ่งที่น่าหวาดเสียวมาก เรียกว่า “งานม้าทรง” จะมีคนที่เรียกว่าเป็นม้าทรงจำนวนกว่า 2,000 คน ออกมาทรมานตนเองในรูปแบบต่าง ๆ ที่น่าทึ่งและน่ากลัวสำหรับผู้พบเห็น เช่น แทงแก้มแทงลิ้นด้วยเหล็กแหลม เดินเหยียบเศษแก้ว เดินลุยไฟ เดินบนบันไดมีด วัตถุประสงค์ก็เพื่อเป็นการสะเดาะเคราะห์ให้กับผู้ถือศีลกินผัก ตามความเชื่อว่าเทพเจ้า “กิ้วอ๋องไต่เต่” ที่เข้าทรงเหล่าม้าทรงจะเป็นผู้รับเคราะห์แทน

นั่นจึงทำให้ตลอด 9 วัน ผู้ที่เข้าร่วมเทศกาลกินเจ จะงดเว้นการกินเนื้อสัตว์ทุกชนิด รวมถึงผลิตภัณฑ์ที่ได้จากสัตว์ ได้แก่นม ไข่ไก่ ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมจากสัตว์ รวมถึงผักฉุน และเครื่องปรุง เพื่อให้กินแบบธรรมชาติที่สุด โดยอาหารกับเครื่องดื่มที่เป็นเจจะมีธงสีเหลืองปักอยู่เป็นสัญลักษณ์ นอกจากนี้ เนื่องจากเป็นการถือศีล ผู้เข้าร่วมกินเจต้องอยู่ในศีลธรรมอันดี ทำบุญทำทาน งดบุหรี่กับดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ สำหรับผู้ที่เคร่งครัด จะงดเว้นการด่าทอ พูดคำหยาบ และแต่งกายด้วยชุดสีขาว เพื่อการทำบุญที่ประสบความสำเร็จ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook