ศาสนาพุทธในประเทศไทยและญี่ปุ่นต่างกันอย่างไร?
ในฐานะที่คนไทยคุ้นเคยกับศาสนาพุทธ เมื่อได้เห็นบรรยากาศวัดของญี่ปุ่นแล้วคงให้ความรู้สึกคุ้นเคยที่แปลกใหม่อยู่บ้าง ไม่ว่าจะเป็นลักษณะของวัดญี่ปุ่นที่สร้างจากไม้ พระพุทธรูปที่มีลักษณะต่างจากเรา และอื่นๆ แต่นอกจากนี้แล้วศาสนาพุทธในญี่ปุ่นมีลักษณะเด่นอะไรอีกที่ต่างจากศาสนาพุทธในบ้านเราบ้าง? ในบทความนี้เราจะลองไปดูข้อแตกต่างโดยคร่าวๆ กัน
นิกายของศาสนาพุทธในไทยและญี่ปุ่น
ศาสนาพุทธในประเทศไทยคือศาสนาพุทธนิกายเถรวาท หรือ “ตามแนวทางของพระเถระ” และเป็นนิกายที่เก่าแก่ที่สุดของศาสนาพุทธ เส้นทางการเผยแพร่ของศาสนาพุทธในประเทศไทยเป็นเส้นทางที่ผ่านแถบเอเชียใต้ จากศรีลังกาใต้พระบัญชาของพระเจ้าอโศกมหาราชของอินเดียและผ่านเข้ามาในแถบพม่า ลาว กัมพูชา และไทยเป็นต้น ศาสนาพุทธในประเทศไทยมีการผนวกเข้ากับความเชื่อทางศาสนาพราหมณ์-ฮินดูและความเชื่อเรื่องผีของไทย และทั้งสามความเชื่อต่างมีบทบาททางวัฒนธรรมของคนไทยมาจนถึงปัจจุบัน
ศาสนาพุทธในญี่ปุ่นถูกเผยแพร่ผ่านเส้นทางตอนเหนือของเอเชีย จากอินเดีย สู่จีน เกาหลี มาจนถึงญี่ปุ่น โดยในประเทศญี่ปุ่นมีศาสนาพุทธหลายนิกายด้วยกัน เช่นนิกายเทนไดที่ส่งเสริมให้บูชาพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบันและพระโพธิสัตว์ นิกายโจโดที่มีคำสอนคือไม่มีพระ ไม่มีฆราวาส และพระในนิกายนี้สามารถมีภรรยาได้ ฉันเนื้อได้ และมีความเป็นอยู่คล้ายฆราวาส และที่เรารู้จักดีสุดคือนิกายเซน ซึ่งเชื่อว่าทุกคนมีธาตุพุทธะอยู่ในตัว มีคำสอนให้ดำเนินชีวิตอย่างเรียบง่าย โดยนิกายเซนเป็นนิกายที่ได้รับความนิยมในกลุ่มชนชั้นสูงและซามูไรในอดีตของญี่ปุ่น จนเกิดเป็นวิถีนักรบของซามูไร “บูชิโด (武士道)” ปัจจุบันศาสนาพุทธในญี่ปุ่นถูกนับถือควบคู่กับชินโตที่เป็นศาสนาพื้นเมืองของญี่ปุ่น และต่างมีบทบาทในช่วงชีวิตต่างๆ ของคนญี่ปุ่น
ลักษณะของวัดในไทยและญี่ปุ่น
สิ่งหนึ่งที่คนญี่ปุ่นหลายคนประทับใจเมื่อมาเที่ยวเมืองไทยคือวัดของไทยที่สร้างจากปูนและใช้สีทองทาทับพร้อมประดับลวดลาย กระเบื้อง และกระจกหลากสีสันที่สวยงามสะดุดตา โดยในทางกลับกัน วัดของญี่ปุ่นจะนิยมสร้างด้วยไม้เป็นหลัก และไม่มีการประดับสีสันใดๆ มากนัก เพื่อให้ผู้มาเยือนเกิดความรู้สึกสงบและรับรู้ถึงความรู้สึก “วาบิ ซาบิ” ซึ่งเป็นสุนทรีย์อย่างหนึ่งของญี่ปุ่นที่มองว่าความเรียบง่าย โดยเฉพาะจากธรรมชาติ และความไม่สมบูรณ์คือความงามแบบหนึ่งนั่นเอง
พระสงฆ์ไทยและญี่ปุ่น
สำหรับคนไทยที่คุ้นเคยกับพระสงฆ์ในประเทศไทยที่ไม่สามารถดื่มสุราได้ ไม่สามารถมีครอบครัวได้ และปฏิบัติตนโดยไม่มีการร้องเพลงหรือเล่นดนตรีแล้ว เชื่อว่าหลายคนคงประหลาดใจไม่น้อยที่เห็นพระสงฆ์ญี่ปุ่นสามารถดื่มสุราได้ แต่งงานมีครอบครัวได้ และเห็นคลิปพระสงฆ์ร้องเพลงอยู่บน Youtube ซึ่งส่วนหนึ่งมีที่มาจากนิกายโจโดในญี่ปุ่นที่พระสงฆ์สามารถดำเนินชีวิตเหมือนฆราวาสทั่วไปได้ อย่างไรก็ตาม นิกายอื่นเช่นเซนมีแนวปฏิบัติเคร่งครัด คล้ายคลึงกับพระสงฆ์ของเราและมีข้อกำหนดเช่นห้ามฉันเนื้อเป็นต้น โดยอาหารเจของพระสงฆ์ในญี่ปุ่นคือ “โชจินเรียวริ”
นอกจากนี้ ลักษณะเด่นอีกข้อหนึ่งของพระสงฆ์ในญี่ปุ่นคือ พระสงฆ์ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสและแต่งงานมีครอบครัวนั้น สามารถส่งต่อวัดที่ตนดูแลให้กับบุตรต่อได้ เช่นเดียวกันกับการยกกิจการให้กับบุตรของฆราวาส ซึ่งข้อปฏิบัตินี้มีที่มาจากกฎหมายนิคุจิคุไซไต (肉食妻帯) ของรัฐบาลในสมัยเมจิในปีค.ศ. 1872 ที่กำหนดให้พระสงฆ์สามารถฉันเนื้อและแต่งงานได้ตามกฎหมาย
พุทธในชีวิตประจำวันของคนไทยและคนญี่ปุ่น
หากกางปฏิทินดูวันหยุดแล้ว ประเทศไทยเรามีวันหยุดประจำปีที่เกี่ยวกับศาสนาพุทธได้แก่วันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา วันอาสาฬหบูชา และวันเข้าพรรษา อย่างไรก็ตาม เป็นข้อสังเกตที่น่าสนใจว่าในวันหยุดประจำปีของญี่ปุ่นจะไม่มีวันหยุดที่เกี่ยวข้องกับศาสนาพุทธ โดยวันหยุดประจำปีของญี่ปุ่นมักเกี่ยวข้องกับความเชื่อ วิถีชีวิตดั้งเดิม องค์จักรพรรดิ รวมถึงวันรำลึกเช่น วันฉลองบรรลุนิติภาวะ วันเด็ก วันฉลองพระราชสมภพขององค์จักรพรรดิ วันทะเล วันหยุดเทศกาลโอบ้ง และอื่นๆ
อีกข้อสังเกตที่น่าสนใจเกี่ยวกับบทบาทของศาสนาและความเชื่อในชีวิตประจำวันของคนไทยและคนญี่ปุ่นคือ ในส่วนของคนไทยที่เป็นชาวพุทธนั้นเราจะได้ยินผู้ใหญ่สอนเราเรื่องศีลห้าและมีการอราธนาศีลห้าในชีวิตประจำวันซึ่งยังคงหลงเหลืออยู่ในทุกวันนี้ อย่างไรก็ตามวิถีชีวิตประจำวันของคนญี่ปุ่นจะค่อนข้างมีความใกล้ชิดกับชินโตมากกว่า ไม่ว่าจะเป็นการรักษาความสะอาดซึ่งสอดคล้องกับความเชื่อของชินโตที่เชื่อมความสะอาดเข้ากับเทพเจ้าและเชื่อมความสกปรกเข้ากับสิ่งไม่ดี หรือเรื่องง่ายๆ เช่นการเอ่ยอิตาดาคิมัส เพื่อแสดงความขอบคุณของผู้รับประทานอาหารต่อคนที่ปรุงอาหาร ไปจนถึงธรรมชาติที่มอบอาหารให้ ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดนับถือธรรมชาติของชินโตเป็นต้น
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงเรื่องราวน่าสนใจเบื้องต้นที่แสดงให้เห็นความแตกต่างและลักษณะเด่นของศาสนาพุทธในเมืองไทยและญี่ปุ่น หวังว่าเกร็ดความรู้เล็กๆ น้อยๆ นี้จะช่วยให้เพื่อนๆ สนุกกับการเยี่ยมเยียนวัดในประเทศญี่ปุ่นมากขึ้นนะคะ