คณะราษฎร และมรดกทางสถาปัตยกรรมที่ซ่อนนัยแห่งการเมือง
คณะราษฎร ชื่อนี้ปรากฏชัดเจนขึ้นมาในวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ซึ่งเป็นวันที่ประเทศไทยได้เปลี่ยนแปลงการปกครอง จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบประชาธิปไตย โดยมี คณะราษฎร เป็นผู้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ คณะราษฎรได้กล่าวถึงเจตนารมณ์ในการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่นั้นว่า เป็นการนำพาประเทศสู่ความเจริญทันสมัย ชูนโยบายหลัก 6 ประการ ได้แก่ เอกราช ปลอดภัย เศรษฐกิจ เสมอภาค เสรีภาพ และการศึกษา
Sarakadee Lite ชวนย้อนรอยหลักฐานที่เป็นสถาปัตยกรรมชิ้นสำคัญแห่งยุค คณะราษฎร ที่ปรากฏในเมืองไทย ช่วงปี พ.ศ.2475-2490 ที่มีทั้งบริบทการสอดแทรกหลักทั้ง 6 ของคณะราษฎร และการแสดงความทันสมัยของการปกครองผ่านรูปแบบอาคารที่เน้นความเรียบง่ายตามแบบสถาปัตยกรรมที่เรียกว่า “โมเดิร์น” อันเป็นสัญลักษณ์สากลแห่งความทันสมัย ให้รู้ว่าไทยทัดเทียมนานาอารยประเทศทาง
อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย
History: รัฐบาล “จอมพล ป. พิบูลสงคราม” ตั้งใจสร้างอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยขึ้นเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 และเป็นสัญลักษณ์แห่งการก้าวสู่ระบอบประชาธิปไตยของไทย อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยแห่งนี้วางศิลาฤกษ์ปี พ.ศ. 2482 สร้างเสร็จและมีพิธีเปิดเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2483 อนุสาวรีย์นี้เป็นศูนย์กลางแห่งความเจริญก้าวหน้าและเป็นต้นทางของกรุงเทพฯ ไปยังหัวเมืองต่างๆ
ใจความตอนหนึ่งในคำกล่าวของ จอมพล ป. ในวันเปิดอนุสาวรีย์มีใจความว่า
“เพื่อเชิดชูคุณค่าของประชาธิปไตย และเพื่อมีเครื่องเตือนใจให้พยายามผดุงรักษาระบอบนี้ให้สถิตสถาพรอยู่ตลอดกาล คณะรัฐบาลจึงลงมติให้สร้างอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย…”
Design: ออกแบบโดยทีมสถาปนิกสังกัดกรมโยธาธิการ และ กรมศิลปากร โดยมี ศาสตราจารย์ศิลป พีระศรี เป็นผู้ปั้นภาพนูนสูงโดยรอบ การออกแบบได้ซ่อนความหมายทางประวัติศาสตร์ไว้มากมาย เช่น ปีกทั้ง 4 ด้านของอนุสาวรีย์มีความสูง 24 เมตร หมายถึง วันที่ 24 มิถุนายน วันเปลี่ยนแปลงการปกครอง ปืนใหญ่ที่ฝังไว้รอบอนุสาวรีย์มี 75 กระบอก หมายถึงปี 2475
ภาพปั้นนูนสูงบริเวณโดยรอบส่วนล่างของปีกทั้ง 4 แสดงประวัติ คณะราษฎร ผู้ดำเนินการเปลี่ยนแปลง พานรัฐธรรมนูญ สูง 3 เมตร ซึ่งประกอบด้วยรูปลักษณ์ของรัฐธรรมนูญแสดงเป็นเล่มสมุดไทยวางบนพานแว่นฟ้า ตั้งอยู่บนป้อมกลางอนุสาวรีย์ หมายถึงเดือน 3 หรือก็คือ เดือนมิถุนายน ตามปฏิทินจันทรคติของไทย (เริ่มนับเดือนเมษายนเป็นเดือนหนึ่ง) ส่วนรูปพระขรรค์ ประดับรอบป้อมกลางที่ตั้งพานรัฐธรรมนูญ มี 6 รูป หมายถึง นโยบายหลัก 6 ประการของคณะราษฎร
Location: กลางสี่แยกถนนดินสอ ถนนราชดำเนิน
ถนนราชดำเนิน
History: รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างถนนราชดำเนินตามแบบถนนในยุโรปหลังจากเสด็จกลับจากประพาสยุโรปครั้งแรกปี 2440 โดยสิ่งหนึ่งที่แสดงอิทธิพลสถาปัตยกรรมของยุโรปได้เป็นอย่างดีหลังการประพาสครั้งนั้น คือ หินอ่อนที่ประดับตกแต่งอย่างวิจิตรแบบฝรั่งเศส ของสะพานผ่านฟ้าลีลาศ สะพานมัฆวานรังสรรค์ และสะพานผ่านพิภพลีลา
ต่อมาในยุครัฐบาลของ จอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้มีโครงการสร้างความทันสมัยให้ถนนราชดำเนินอีกครั้ง เพื่อให้เป็น “ชองส์-เอลิเซ่ แห่งเมืองไทย” โดยมีการเวนคืนที่ดินบริเวณนั้นเพื่อสร้างอาคารที่แปลกจากสถาปัตยกรรมไทยเดิมขึ้นบนสองฟากถนนราชดำเนินกลาง ตามแบบถนนชองส์-เอลิเซ่ ในกรุงปารีส ฝรั่งเศส พร้อมส่งเสริมให้เป็นย่านทันสมัย ศูนย์รวมทั้งธุรกิจ การค้าและศิลปวัฒนธรรมของคนไทยแท้ๆ เรียกได้ว่าเป็นเปิดหน้าแข่งขันกับย่านการค้าของชาวต่างชาติในไทยอย่างสีลมและเยาวราช มีการขยายถนน ตัดต้นไม้มะฮอกกะนี ที่มีอยู่เดิมตั้งแต่เริ่มสร้างสมัยรัชกาลที่ 5 ทิ้งไป และสร้างอาคารทันสมัยขึ้นมา รวมทั้งอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยอันเป็นสัญลักษณ์แห่งความก้าวหน้า
Design: สถาปนิก “จิตรเสน อภัยวงศ์” นักเรียนเก่าฝรั่งเศส เป็นผู้ออกแบบอาคารสองฟากถนนราชดำเนิน มีทั้งโรงแรม(รัตนโกสินทร์) โรงละครหรือโรงมหรสพ (ศาลาเฉลิมไทย) ห้างสรรพสินค้า (ตึกห้างสรรพสินค้าไทยนิยม -ปัจจุบันคือตึกเทเวศร์ประกันภัย) ทั้งหมดเป็นสถาปัตยกรรมแบบสมัยใหม่ โดดเด่นด้วยอาคารตึกคอนกรีตเปิดพื้นผิววัสดุ ไม่เน้นลวดลาย
Location: ถนนราชดำเนิน ใกล้กับสนามหลวง
ศาลาเฉลิมไทย
History: โรงมหรสพของไทยทันสมัย เป็นโรงละครมาตรฐานสากลและสร้างขึ้นเพื่อรองรับการแสดงสมัยใหม่ เช่น ภาพยนตร์ ละครเวที ศาลาเฉลิมไทยเป็นส่วนหนึ่งของเมกะโปรเจ็กต์พัฒนาถนนราชดำเนิน โครงสร้างอาคารหลักก่อสร้างปี 2483 แต่แล้วเสร็จในปี 2491เนื่องจากมีสงคราม ต่อมาได้รับการพัฒนาต่อโดย บริษัทศิลป์ไทย ศาลาเฉลิมไทยเปิดตัวครั้งแรกด้วยละครเวทีเรื่อง “ราชันย์ผู้พิชิต” วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2492 ยุคแรกการแสดงเป็นละครเวที จนกระทั่งปี 2495 ศาลาเฉลิมไทยปรับมาเป็นโรงภาพยนตร์ และเป็นโรงภาพยนตร์แห่งแรกในเมืองไทยที่จะจัดฉายภาพยนตร์ระบบทันสมัยมาทุกยุค
ต่อมาในปีพ.ศ.2530 คณะรัฐมนตรียุคนั้นได้มีมติอนุมัติให้ดำเนินการรื้อถอนศาลาเฉลิมไทย ด้วยข้ออ้างว่าบดบังโลหะปราสาท พร้อมทั้งจัดสร้างพลับพลาต้อนรับราชอาคันตุกะและที่ประดิษฐานพระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ 3 เปิดโล่งให้เห็นโลหะปราสาทและวัดราชนัดดาอย่างชัดเจน ตามแผนการปรับปรุงเกาะรัตนโกสินทร์ที่ริเริ่มมาตั้งแต่ปี 2516
ภาพยนตร์เรื่องแรกที่ฉายในศาลาเฉลิมไทยคือ RAINBOW ROUND MY SHOULDER ชื่อไทย “รุ้งสวรรค์” ภาพยนตร์เพลงจากค่ายโคลัมเบีย พิคเจอร์ส ฉายเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2496 และภาพยนตร์เรื่องสุดท้ายที่ฉายในโรงภาพยนตร์ที่ศาลาเฉลิมไทยคือ “เพราะว่าฉันรักเธอ” และการแสดงเรื่องสุดท้ายอำลาศาลาเฉลิมไทยคือละครเวทีเรื่อง “พันท้ายนรสิงห์” จัดแสดงในเดือนกุมภาพันธ์ ถึงมีนาคม 2532
Design: รัฐบาลจอมพล ป.ได้มอบหมายให้ จิตรเสน อภัยวงศ์ สถาปนิกที่จบจากฝรั่งเศสออกแบบ โครงสร้างภายในเป็นแบบโรงละครมาตรฐานสไตล์โรงโอเปรา 2 ชั้นของยุโรป บริเวณโถงทางเข้านั่งรอชมเป็นหลังคาโดมสูง
Location: เคยตั้งอยู่บริเวณลานพลับพลาหน้าวัดราชนัดดาราม
ศาลฎีกา (เดิม)
History: หลังจากรัฐบาลคณะราษฎร ได้พยายามแก้ไขสนธิสัญญาต่างๆ ที่ไม่เป็นธรรม และปรับปรุงกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ให้เป็นที่ยอมรับของนานาอารยประเทศ จนนำมาสู่การยกเลิกสนธิสัญญาสิทธิสภาพนอกอาณาเขต และทำสนธิสัญญาใหม่กับประเทศมหาอำนาจตะวันตกรวม 12 ประเทศ ในปี พ.ศ.2483 นัยว่าประเทศสยามได้รับเอกราชสมบูรณ์ ทั้งทางด้านการเมือง ศาล และเศรษฐกิจ ภายใต้การปกครองและบริหารประเทศโดยรัฐบาลคณะราษฎร ในครั้งนั้นได้มีการสร้าง ”อาคารศาลฎีกา” ไว้รำลึก
อาคารศาลฎีกาสร้างเสร็จและมีพิธีเปิดเมื่อ วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2486 ต่อมาปี พ.ศ. 2556 อาคารถูกรื้อถอน เหลือเพียงส่วนหน้าที่เป็นที่ทำการศาลยุติธรรม ปัจจุบันบนพื้นที่เดิมที่ถนนราชดำเนินในมีการสร้างอาคารศาลฎีกาหลังใหม่ที่เปลี่ยนรูปแบบสถาปัตยกรรมเป็นแบบไทยประยุกต์ มีหน้าจั่วไม่เหลือเค้าแบบหลังคาตัดเรียบง่ายสมความโมเดิร์นฉบับคณะราษฎรอีกแล้ว
Design: ออกแบบโดย พระสาโรชรัตนนิมมานก์ (สาโรช สุขยางค์) สถาปนิกกรมศิลปากร ตัวอาคารถือว่าแตกต่างจากอาคารในยุคที่ผ่านมาด้วยหลังคาตัดเรียบ โครงสร้างมั่นคงเรียบง่ายไม่เน้นความวิจิตรบรรจง ลักษณะเด่นทางสถาปัตยกรรมนี้ยังบ่งบอกถึงของการเริ่มต้น “ความทันสมัย” ของประเทศสยามในยุคศตวรรษที่ 20 สันนิษฐานการออกแบบเสา 6 ต้น บริเวณทางด้านหน้าบันไดของอาคาร น่าจะสอดคล้องกับหลัก 6 ประการของคณะราษฎร
Location: ถนนราชดำเนินใน
วัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน
History: ชื่อเดิมตามคณะรัฐมนตรีอนุมัติการสร้างคือ “วัดประชาธิปไตย” สร้างในสมัยจอมพลแปลก พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี วัดประชาธิปไตย สร้างวัดเพื่อเป็นอนุสรณ์การปกครองระบอบประชาธิปไตย เป็นการสร้างวัดที่ประชาชนและรัฐบาลร่วมกัน ใกล้กันนั้นเคยเป็นที่ตั้ง “อนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ” (อนุสาวรีย์หลักสี่) กำหนดสร้างวัดให้แล้วเสร็จทัน 24 มิถุนายน พ.ศ. 2484 ซึ่งครบรอบทศวรรษการเปลี่ยนแปลงการปกครอง
นาวาเอก หลวงธำรงค์นาวาสวัสดิ์ ได้เดินทางไปอินเดีย ขอพระบรมสารีริกธาตุ กิ่งพระศรีมหาโพธิ 5 กิ่ง และดิน จากสังเวชนียสถานทั้ง 4 แห่ง มาประดิษฐานในวัด โดยมีเจดีย์องค์เล็กภายในพระเจดีย์ศรีมหาธาตุเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ จึงได้ตั้งชื่อวัดว่า “วัดพระศรีมหาธาตุ”
Design: “พระพรหมพิจิตร” เป็นนายช่างใหญ่คุมการออกแบบ นัยสำคัญอย่างหนึ่งที่ซ่อนไว้ในดีไซน์ของวัดคือ ยอดเจดีย์ของวัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน ที่มีปล้องไฉน 6 ชั้น จำนวนเลขคู่ แตกต่างจากขนบของสถาปัตยกรรมไทยประเพณีที่นิยมเป็นเลขคี่ ซ่อนความหมายถึงหลัก 6 ประการ ไม่เพียงเท่านั้นภายในยังบรรจุอัฐิของคณะผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง รวมทั้งผู้ทำประโยชน์แก่ชาติ
Location: วัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน
ตึกโดม
History: หนึ่งในเจตนารมณ์ของคณะราษฎรในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง คือ การศึกษา การเปิดตลาดวิชา “ให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร” และ วันที่ 27 มิถุนายน 2477 มีการสถาปนา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง (มธก.) ขึ้นเป็น “ตลาดวิชา” เพื่อทำหน้าที่เป็น “บ่อน้ำบำบัดความกระหายของราษฎรผู้สมัครแสวงหาความรู้” และความรู้ต้องห้ามก่อนหน้านั้น เช่น เศรษฐศาสตร์ รัฐธรรมนูญ พรรคการเมือง ฯลฯ ก็เปิดสอนอย่างเปิดเผย
ในปีแรกมีผู้สมัครเรียนถึง 7,049 คน นายปรีดี พนมยงค์ หนึ่งในผู้นำก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในปี 2477 คือ ผู้ประสาทการ มธก. และดำรงตำแหน่งผู้บริหารตั้งแต่ พ.ศ.2477-2495 ตึกโดมเป็นอาคารที่โดดเด่นมากของธรรมศาสตร์ และเป็นที่มาของคำเรียกนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยแห่งนี้ว่า “ลูกแม่โดม”
Design: ตึกโดมเป็นอาคารหลังแรกของมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ออกแบบโดย “หมิว อภัยวงศ์” ตามคำแนะนำของบุคคลสำคัญของมหาวิทยาลัย ปรับปรุงจากตึกเก่า 4 หลังของทหารโดยสร้างหลังคาเชื่อมแต่ละตึก จนกลาย เป็น อาคารหลังเดียวกัน ส่วนกลางของตึกได้สร้างอาคาร 3 ชั้นขึ้นเพิ่มเติมโดยมี “โดม” เป็นสัญลักษณ์ตรงกลาง รูปแบบ ของโดมนี้ กล่าวอธิบายกันในภายหลังว่านำรูปแบบมาจากดินสอแปดเหลี่ยมที่เหลาจนแหลมคม เพื่อแสดงถึงภูมิปัญญา ที่สูงส่ง ของการจัดการศึกษา
หน้าต่าง 6 บาน บนโดมของ “ตึกโดม” มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สันนิษฐานว่าเป็นการสอดแทรกสัญลักษณ์แสดงหลัก 6 ประการของคณะราษฎร (ที่มาจาก บรรยายพิเศษโดย อาจารย์ชาตรี ประกิตนนทการ,นิตยสารสารคดี สิงหาคม 2552)
Location: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
โรงแรมรัตนโกสินทร์
History: โรงแรมแห่งนี้สร้างขึ้นปี พ.ศ. 2485 แล้วเสร็จพร้อมเปิดให้บริการในปี 2486 โรงแรมรัตนโกสินทร์ เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสร้างความทันสมัยในยุครัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่ปรับภูมิทัศน์ถนนราชดำเนินให้เป็น “ชองส์-เอลิเซ่ แห่งเมืองไทย” สร้างศูนย์กลางความทันสมัยตามแบบถนนชองส์-เอลิเซ่ ในกรุงปารีส ฝรั่งเศส
แรกเริ่มผู้บริหารงานโรงแรมคือสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ก่อนจะเปลี่ยนมือสู่เอกชน บริษัท อิทธิผล จำกัดเป็นผู้เช่า เข้ามาดำเนินกิจการต่อเมื่อปี 2513 โดยใช้ชื่อ รอยัล รัตนโกสินทร์ (Royal Rattanakosin) ปัจจุบันมีห้องพักทั้งหมด 300 ห้อง
Design: การออกแบบผสมสถาปัตยกรรมตะวันตกเข้ากับตะวันออก เน้นรูปทรงเรขาคณิตพื้นฐาน สี่เหลี่ยมและวงกลมประกอบกันอย่างกลมกลืน ด้านนอกอาคารมีองค์ประกอบ ครีบ ขอบปูนปั้น จุดเด่นอยู่รูปทรงอาคารโค้งตามความโค้งของหัวมุมถนนทำเลที่ตั้ง
Location: ริมถนนราชดำเนิน ติดกับสนามหลวง
ห้างไทยนิยมผ่านฟ้า
History: อาคาร 5 ชั้นหลังนี้ เดิมเป็นอาคารที่สร้างเพื่อเป็นที่ทำการสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ แต่ติดช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ต่อมาถูกเอกชนเช่าเป็นห้างขายผ้านำเข้าจากต่างประเทศ ใช้ชื่อตึก “ห้างไทยนิยมผ่านฟ้า” ในช่วงปี 2483 มีงานฉลองรัฐธรรมนูญ ปิดถนนราชดำเนินทั้งสาย และมีงานลีลาศยามราตรีที่ห้างนี้ พร้อมการโชว์ตัวของนางสาวไทยและรองนางสาวไทยให้ประชาชนได้ยลโฉมในช่วงดึก ราวปีพ.ศ.2520 ชั้นล่างสุดของตึกเคยเป็นที่ตั้งของโรฟิโนไนท์คลับ ต่อมาเดือนพฤศจิกายน ปี 2530 บริษัทเทเวศ ประกันภัย จำกัด (มหาชน) ย้ายจากตึกเดิมที่ถนนนครราชสีมา เขตดุสิต มาปักหลักสำนักงานใหญ่ที่ตึกนี้จนถึงปัจจุบัน
Design: ตึกนี้เป็นหนึ่งในอาคารสถาปัตยกรรมแบบสมัยใหม่ (โมเดิร์น) ไม่มีลวดลายประดับ รูปแบบทันสมัย และยังเป็นตึกสูงถึง 5 ชั้น และมีหอโปร่งทรงกลมอยู่บนยอดตึก เป็นส่วนหนึ่งของการแสดงความเจริญก้าวหน้าของประเทศ ตามแผนผังเมือง ณ บริเวณถนนราชดำเนินปี 2482
Location: ถนนราชดำเนิน
Fact File
- คณะราษฎร เป็น คณะผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 ชื่อ “คณะราษฎร” เสนอโดยนายปรีดี พนมยงค์ ต่อที่ประชุมที่กรุงปารีสเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2470 เพราะผู้ก่อการทุกคนเป็นราษฎรไทย และย้ำว่าก่อตั้งรัฐบาลของราษฎร โดยราษฎร เพื่อราษฎร ซึ่งในสมัยนั้นบุคคลไม่มีสิทธิรวมกันก่อตั้งคณะการเมือง
- สถาปัตยกรรมยุคคณะราษฎรเน้นรูปแบบหลังคาเรียบ หรือ หลังคาตัดตามแบบสถาปัตยกรรมยุคสมัยใหม่ ที่เรียกสถาปัตยกรรมโมเดิร์น เป็นอีกหนึ่งสัญลักษณ์ที่สื่อว่าไทยกำลังก้าวสู่ความทันสมัย ทัดเทียมนานาอารยประเทศทางตะวันตก สถาปัตยกรรมยุคคณะราษฎรสร้างขึ้นแทนอาคารสถาปัตยกรรมทรงไทยมีช่อใบระกาครบ
- อีกสิ่งที่เป็นมรดกยุคคณะราษฎรที่ตอนนี้ได้หายไปแล้วก็คือ หมุดคณะราษฎร หรือ หมุดประชาธิปไตย เป็นเครื่องหมายระบุตำแหน่งที่พระยาพหลพลพยุหเสนา หัวหน้าคณะราษฎร อ่านประกาศการเปลี่ยนแปลงสถานะ การปกครองของประเทศสยาม จากการปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบประชาธิปไตย เมื่อเช้าตรู่วันที่ 24 มิถุนายน 2475