หมีแพดดิงตัน โลกวรรณกรรมเด็ก ที่ซ่อนความเศร้าของการทำลายผืนป่า
A Bear called Paddington หนังสือประกอบภาพสำหรับเด็ก เขียนโดย ไมเคิล บอนด์ วางแผงฉบับตีพิมพ์ครั้งแรกวันแรกในวันที่ 13 ตุลาคม ปี ค.ศ. 1958 หนังสือเล่มนี้ได้ให้กำเนิดตัวละคร หมีแพดดิงตัน หมีน้อยขนสีน้ำตาลสวมหมวกแดงและเสื้อโค้ตสีน้ำเงิน ผู้รักการกินเบคอนเป็นอาหารเช้า
ตามเนื้อเรื่องในหนังสือเล่าว่า หมีแพดดิงตัน พลัดถิ่นมาจากป่าแอมะซอน ประเทศเปรู ซึ่งกำลังถูกทำลายด้วยไฟป่า เหตุการณ์น่าเศร้าครั้งนั้นทำให้หมีแพดดิงตันต้องหนีและพลัดหลงข้ามทวีปมาถึงลอนดอน อันเป็นที่มาของภาพหมีน้อยนั่งเดียวดายอยู่บนกระเป๋าเดินทางหนังสีน้ำตาล บริเวณสถานีรถไฟแพดดิงตัน ชานเมืองลอนดอน พร้อมข้อความบนป้ายแขวนคอเขียนว่า “โปรดดูแลหมีตัวนี้ด้วย ขอบคุณ” (Please Look After This Bear, Thank you.) ต่อมาครอบครัวบราวน์ได้มาพบหมีแพดดิงตันเข้า จึงรับอุปการะหมีน้อยที่พูดจาภาษาคนได้ และตั้งชื่อมันว่า หมีแพดดิงตัน ตามชื่อสถานีรถไฟ
ต้นกำเนิดที่แท้จริงของหมีแพดดิงตัน เริ่มเมื่อปี ค.ศ. 1956 จากตุ๊กตาหมีขนฟูตัวสุดท้ายที่เหลือบนชั้นวางสินค้าของร้าน Selfridge ในกรุงลอนดอน ซึ่ง ไมเคิล บอนด์ ตากล้องสถานีโทรทัศน์ BBC ตั้งใจซื้อมาเป็นของขวัญคริสต์มาสให้ภรรยา พร้อมตั้งชื่อตุ๊กตาหมีตัวนั้นว่า แพดดิงตัน ตามชื่อสถานีรถไฟที่อยู่ใกล้บ้านพวกเขา
หลังจากที่รับ หมีแพดดิงตัน เข้ามาเป็นสมาชิกในบ้าน ไมเคิล บอนด์ ก็เริ่มเขียนเรื่องราวของหมีน้อย พร้อมจินตนาการว่าถ้าหมีตัวนี้ต้องผจญภัยในเมืองหลวงของอังกฤษเขาต้องเจอกับอะไรบ้าง ไมเคิล บอนด์ ใช้เวลาเพียง 1 สัปดาห์ในการเขียนเรื่องราวทั้งหมด 8 บท แต่ก็ไม่ได้ตีพิมพ์เป็นหนังสือออกมาในทันที กระทั่งเวลาผ่านไป 2 ปี สำนักพิมพ์วิลเลียม คอลลินส์ ก็ได้จัดตีพิมพ์งานเขียนของบอนด์ในชื่อ A Bear called Paddington เป็นฉบับปกแข็ง มีภาพประกอบวาดโดย Peggy Fortnum เป็นหนังสือเรื่อง หมีแพดดิงตัน ฉบับแรกที่วางจำหน่าย
ปี ค.ศ.1959 หนังสือ A Bear called Paddington ได้รับรางวัล หนังสือวรรณกรรมเยาวชนดีเด่นประจำปี จากสมาคมผู้พิมพ์และจัดจำหน่ายวารสารและหนังสือในสหราชอาณาจักร ในเดือนกันยายนปีเดียวกัน เรื่องราวภาคต่อของแพดดิงตันในชื่อเล่ม More About Paddington เขียนโดย ไมเคิล บอนด์ ก็วางแผงตามกันมา
หนังสือ A Bear called Paddington ขายได้มากกว่า 35 ล้านเล่มทั่วโลก และแปลมากกว่า 40 ภาษา รวมทั้งภาษาไทย ซึ่งตีพิมพ์โดย สำนักพิมพ์ Stranger’s Book
ไมเคิล บอนด์ เป็นนักเขียนพาร์ทไทม์มาเกือบ 10 ปี และเขียนเรื่องราวผจญภัยของเจ้าหมีแพดดิงตัน ต่อเนื่องมาจนถึง 14 เล่ม จนมีรายได้สะสมมากพอสมควร ปี ค.ศ. 1965 บอนด์จึงตัดสินใจเกษียณตัวเองจากงานถ่ายภาพให้ BBC และมาทำงานเป็นนักเขียนเต็มตัว
เหตุผลหนึ่งที่หนังสือชุดหมีแพดดิงตัน ได้กลายเป็นวรรณกรรมคลาสสิกสำหรับเด็กทั่วโลกก็เพราะเรื่องนี้เล่าถึงการผจญภัยของหมีน้อยที่ต้องเผชิญหน้ากับปัญหาในชีวิตประจำวัน เป็นเหมือนโลกเสมือนที่ให้เด็กๆ เตรียมตัวไปเจอะเจอในอนาคต อีกทั้งในแต่ละตอนก็สื่อให้เห็นความอ่อนโยน ความมีน้ำใจของคนรอบข้างที่ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือหมีน้อยแพดดิงตันเสมอ เหมือนกับคำโปรยตอนเปิดเรื่องที่บอกไว้ว่า “โปรดดูแลหมีตัวนี้ด้วย ขอบคุณ”