“การเมือง VS ครอบครัว” คุยกันได้ ถ้าเคารพกติกา
เมื่อเรื่องการเมืองกลายเป็นประเด็นถกเถียงในหลายครอบครัว ทำให้เลี่ยงไม่ได้ที่บางครั้งอาจจะเกิดความขัดแย้งกันบ้าง ด้วยความคิดเห็นหรือมุมมองที่ไม่เหมือนกัน
หากคิดจะจับเข่าคุยเรื่องการเมืองกับสมาชิกในครอบครัว ก็อาจจะต้องมีกฎ กติกา มารยาทระหว่างกัน เพื่อให้การถกประเด็นเรื่องการเมืองเป็นไปอย่างสันติ
กำหนดเวลาแสดงความเห็นอย่างเท่าเทียมกัน
เมื่อคิดจะนั่งคุยกันอย่างจริงจัง ก็อาจต้องหาจุดตรงกลางให้พอดี นั่นคือการกำหนดเวลาในการแสดงความคิดเห็นของแต่ละคนอย่างเท่าเทียมกัน เพื่อเปิดโอกาสให้อีกฝ่ายได้พูดบ้าง ไม่ใช่คุยอยู่ฝ่ายเดียว
ตั้งใจฟังโดยไม่ขัดจังหวะอีกฝ่ายในระหว่างพูด
เปิดโอกาสให้คนในครอบครัวได้พูดในสิ่งที่คิดโดยไม่ขัดจังหวะ พร้อมทั้งฟังอย่างตั้งใจ และสิ่งสำคัญคือการทำตัวเป็นผู้ฟังที่ดี มองหน้าผู้พูดเพื่อแสดงให้เห็นว่าเราตั้งใจฟังจริง ๆ ไม่ใช่หน้าตาบูดบึ้ง กลอกตาไปมา หรือทำอย่างอื่นไปด้วย ซึ่งถือเป็นการไม่ให้เกียรติกัน
หลีกเลี่ยงการเอ่ยชื่อ ทั้งคู่สนทนาและบุคคลที่สาม
การเอ่ยชื่อบุคคลแม้กระทั่งชื่อผู้ที่สนทนาด้วยอารมณ์ ถือเป็นสิ่งที่ไม่ควรกระทำ เพราะหากตั้งใจใส่ร้ายใครตั้งแต่เริ่มคุย ไม่ว่าจะเป็นคนที่เราคุยด้วยหรือบุคคลที่สาม จะเป็นการกระตุ้นให้เกิดอารมณ์โกรธทั้งสองฝ่าย และจะทำให้ไม่มีใครยอมฟังใคร ส่งผลให้การสนทนาอย่างสร้างสรรค์ต้องยุติลงโดยยังไม่ทันได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน
อย่าตัดสินผู้อื่น เพราะความคิดเห็นต่างกัน
การมีความคิดเห็นทางการเมืองที่ไม่ตรงกัน ไม่ได้หมายความว่าอีกฝ่ายจะเป็นคนเลว หรือคนไม่ดี ดังนั้น จึงไม่ควรตัดสินผู้อื่นเพียงเพราะมองต่างมุมหรือคิดต่างไปจากเรา แต่ควรเปิดใจรับฟังในสิ่งที่อีกฝ่ายพูด และไตร่ตรองด้วยเหตุผล ไม่ใช่ด้วยอารมณ์
ไม่โจมตีความคิดเห็นคู่สนทนา
หากตั้งใจจะเปิดใจคุยกันเรื่องการเมืองกับสมาชิกในครอบครัว ก็ควรจะเคารพความคิดเห็นของคู่สนทนาด้วย ไม่ใช่จ้องแต่โจมตีในสิ่งที่อีกฝ่ายพูดอยู่ตลอดเวลา และควรมีขอบเขตที่เหมาะสม ไม่ก้าวล่วงความคิดเห็นของผู้อื่น จนทำให้เกิดความอึดอัดใจกันทั้งสองฝ่าย