เช็กลิสต์หน่อยไหม? เข้าข่าย “หลงตัวเอง” หรือเปล่า

เช็กลิสต์หน่อยไหม? เข้าข่าย “หลงตัวเอง” หรือเปล่า

เช็กลิสต์หน่อยไหม? เข้าข่าย “หลงตัวเอง” หรือเปล่า
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ความมั่นใจและความภาคภูมิใจในตัวเองนับเป็นสิ่งที่ทุกคนควรจะมี แต่หากมีมากจนเกินพอดี ก็อาจทำให้คน คนนั้นกลายเป็นบุคคลที่ “หลงตัวเอง” จนคนอื่นเอือมระอา

หากยึดตัวเองเป็นศูนย์กลางจักรวาล เชื่อมั่นในสิ่งที่ตนเองเป็นจนไม่สามารถทนฟังเสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่ผิดแผกไปจากคำชมที่คุ้นเคย ก็อาจเข้าข่ายบุคลิกภาพผิดปกติจนเป็น โรคหลงตัวเอง (Narcissistic Personality Disorder) ได้

รศ. พญ.สุวรรณี พุทธิศรี ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เคยให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ในช่อง RAMA CHANNEL ว่า โรคหลงตัวเอง เป็นบุคลิกภาพที่สั่งสมมาตั้งแต่เล็ก จนกลายเป็นบุคลิกของตนเองเมื่ออยู่ในวัยที่เดิบโตขึ้น ซึ่งหากหลงตัวเองจนเดือดร้อนผู้อื่น จะถือว่าเป็นบุคลิกที่เป็นปัญหา จำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือ

แบบไหนเข้าข่ายหลงตัวเอง?

  • คิดว่าตัวเองเก่ง
  • คิดว่าตัวเองอยู่ในตำแหน่ง หรือจุดที่ดีกว่าคนอื่น
  • พยายามผลักดันตัวเองให้อยู่ในตำแหน่งที่ดีที่สุดเสมอ
  • ข้าวของเครื่องใช้ คนรอบข้าง ต้องเป็นสิ่งที่ดีที่สุด เพื่อให้ทัดเทียมกับตนเอง
  • หากถูกมองว่าไม่ดี ไม่เก่ง จะรู้สึกเสียใจ โกรธ โมโหรุนแรง
  • มีความเห็นแก่ตัว เพราะไม่อยากให้ใครดีกว่าหรือเก่งกว่าตนเอง
  • เหยียดหรือกดผู้อื่นเพื่อให้ตนเองรู้สึกดีขึ้น เพราะคนเหล่านั้นด้อยกว่า

รศ. พญ.สุวรรณี ระบุว่า กลุ่มคนที่หลงตัวเอง แม้ภายนอกจะดูมั่นใจมาก แต่กลับมีความเปราะบาง หากต้องหล่นจากจุดสูงสุดที่เคยครอบครอง ก็จะเจ็บปวดใจมาก จึงเป็นชีวิตที่น่าสงสาร

อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่คนที่หลงตัวเองมักไม่ค่อยรู้สึกเดือดร้อนกับสิ่งที่ตนเองเป็น แต่คนรอบข้างจะได้รับผลกระทบที่มากกว่า เพราะรู้สึกว่าอยู่กับคนแบบนี้ด้วยยาก ซึ่งคนที่หลงตัวเองมักจะมีปัญหาเรื่องการเข้าสังคม จนใคร ๆ ก็ไม่อยากคบหา แต่พวกเขากลับไม่คิดว่าสิ่งนี้คือปัญหา

ดังนั้น คนหลงตัวเองจึงไม่รับการรักษาหรือปรึกษาจิตแพทย์ เพราะคิดว่าตนเองไม่ได้ผิดปกติ ซึ่งการไปขอรับความช่วยเหลือจากผู้อื่น (พบแพทย์) จะทำให้ตนเองหล่นจากตำแหน่งที่สูงที่สุด และกลายเป็นคนมีปัญหา จึงมักไม่ยอมรับความช่วยเหลือจากแพทย์

รักษาด้วย “จิตบำบัด”

การรักษาด้วยวิธีจิตบำบัดจะช่วยให้ผู้ป่วยสร้างสัมพันธ์อันดีกับผู้คนรอบข้าง เข้าใจสาเหตุที่ทำให้เกิดความคิดและพฤติกรรมของโรคหลงตัวเอง เช่น สาเหตุที่ทำให้อยากแข่งขัน ไม่เชื่อใจผู้อื่น หรือดูถูกผู้อื่น การทำจิตบำบัดต้องใช้เวลาหลายปี เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงบุคลิกภาพของคนเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก เพื่อให้ผู้ป่วยยอมรับและรักษาความสัมพันธ์กับบุคคลรอบข้างตามความเป็นจริง รวมทั้งเรียนรู้การทำงานร่วมกับผู้อื่น, ยอมรับความสามารถและศักยภาพที่แท้จริงของตนเอง ส่งผลให้สามารถรับคำวิจารณ์ผู้อื่นหรือเมื่อต้องประสบความล้มเหลวได้ รวมถึงเข้าใจและสามารถจัดการอารมณ์และความรู้สึกของตัวเองได้ดีขึ้น

รักษาด้วย “วิธีทางการแพทย์”

ผู้ป่วยโรคหลงตัวเองที่มีอาการรุนแรง โดยเกิดอาการหรือพฤติกรรมอื่นที่นอกเหนือไปจากอาการป่วยด้วยโรคหลงตัวเอง เช่น มีอารมณ์เกรี้ยวกราด ทำร้ายตัวเอง หลงผิดไปจากความเป็นจริง ซึมเศร้า หรือวิตกกังวล บุคคลใกล้ชิดจำเป็นต้องโน้มน้าวให้ผู้ป่วยยอมเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล และดูแลจากแพทย์อย่างใกล้ชิด เพื่อรับการรักษาอย่างเหมาะสมต่อไป

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook