ฟู้ดโคม่า Food Coma อาการง่วงนอนหลังกินข้าว คืออะไร
“หนังท้องตึง หนังตาก็หย่อน” ทำไมเมื่อเรารับประทานอาหารกลางวันเสร็จแล้วถึงได้รู้สึกง่วงนอนกันนะ? ปัญหานี้มักจะเกิดขึ้นบ่อยกับชาวออฟฟิศ นอกจากจะทำให้ไม่สดชื่น ไม่กระปรี้กระเปร่าแล้ว ยังส่งผลเสียต่อการใช้ชีวิตและยังทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานลดลงอีกด้วย
อาการง่วงนอนหลังกินอิ่ม ทางการแพทย์เรียกอาการนี้ว่า ฟู้ดโคม่า (Food Coma) ในขณะที่เรารับประทานอาหารในแต่ละมื้อที่มักประกอบไปด้วยคาร์โบไฮเดรต โปรตีน และไขมัน เมื่อผ่านระบบการย่อยอาหารแล้วร่างกายจะกลั่นกรองน้ำตาลหรือกลูโคส ที่สามารถซึมเข้าสู่กระแสเลือดนำไปใช้เป็นพลังงานในการใช้ชีวิตประจำ แต่ก็ยังมีกรดอะมิโนชนิดหนึ่งมาจากอาหารที่เราทานเข้าไปเช่นเดียวกัน เรียกว่า ทริปโตเฟน (Tryptophan) ซึ่งสารนี้จะเข้าสู่สมองและระบบประสาททำให้ลดความตึงเครียด และทำให้คุณเกิดอาการง่วงนอนได้
ปัจจัยที่ทำให้เกิด Food Coma
- นอนพักผ่อนไม่เพียงพอ
- ทำงานในช่วงเช้าหนักจนเกินไป
- กินอาหารประเภทแป้งและคาร์โบไฮเดรตมากเกินไป
- ร่างกายนำเลือดไปเลี้ยงสมองน้อยลง เนื่องจากต้องนำเลือดไปเลี้ยงกระเพาะอาหารจากกระบวนการย่อยอาหาร
- สมองหลั่งฮอร์โมนเซโรโทนิน (Serotonin) และ เมลาโทนิน (Melatonin) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ทำให้นอนหลับ โดยมีอาหารที่มีกรดไขมันชนิดดีเป็นตัวกระตุ้นการสร้างฮอร์โมน
วิธีป้องกันอาการ Food Coma
- นอนหลับให้เพียงพอในเวลากลางคืน 7-8 ชั่วโมง/คืน อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานของการนอนหลับที่ดี
- ใช้เวลาในการพักเที่ยงของคุณเดินออกกำลังกาย เพราะจะทำให้เลือดไหลเวียน และสมองทำงานได้เต็มที่ รวมถึงยังสามารถช่วยให้นอนหลับได้ดีขึ้นในเวลากลางคืนอีกด้วย
- ดื่มน้ำให้เพียงพอต่อวันเพื่อให้ร่างกายของคุณสดชื่น
- จัดการงานกองโตที่แสนน่าเบื่อบนโต๊ะทำงานของคุณในช่วงเช้า เพราะเป็นช่วงที่สมองของคุณกำลังตื่นตัว หากสะสมมาทำตอนช่วงบ่ายหรือหลังรับประทานอาหารมื้อกลางวันอาจทำให้คุณรู้สึกเบื่อ เหนื่อย เพิ่มความล้า และกระตุ้นการง่วงนอนได้
ถึงแม้อาการ Food Coma จะไม่ส่งผลกระทบที่ร้ายแรงต่อสุขภาพ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เหมือนกันว่าสร้างความทรมานให้ร่างกายเราไม่น้อย ปัญหาสุขภาพที่ส่งผลให้เกิดอาการง่วงนอนนั้นอาจจะเรื้อรังจนรักษาได้ยาก หรืออาจรักษาได้ไม่ทันการณ์ ซึ่งจะส่งผลเสียกับตัวคุณเองและงานของคุณอีกด้วย