เรื่องสุ่มเสี่ยงแตกหัก คุยอย่างไรไม่ให้เสียเพื่อน

เรื่องสุ่มเสี่ยงแตกหัก คุยอย่างไรไม่ให้เสียเพื่อน

เรื่องสุ่มเสี่ยงแตกหัก คุยอย่างไรไม่ให้เสียเพื่อน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เคยได้ยินกันมาว่า “ถ้าไม่อยากเสียเพื่อนแบบไม่เผาผี หรือตัดญาติขาดมิตรกับใคร อย่าชวนคุยเรื่องการเมืองและศาสนา” ดูเหมือนว่าหลายคนจะพิสูจน์มาแล้วว่าเป็นเรื่องจริง เพราะในความเป็นจริงต่อให้สนิทกันแค่ไหน ก็ไม่ใช่ว่าจะต้องคิดเหมือนกันทุกอย่าง ต้องมีบางเรื่องที่มีความคิดความเห็นไม่ตรงกัน แล้วเผอิญว่ามันไม่ใช่เรื่องเล็กแบบเลือกร้านอาหารไม่เหมือนกันนี่สิ

อย่างเรื่องของการเมืองและศาสนา สองเรื่องนี้เป็นเรื่องของความเชื่อ ความศรัทธา และความรักส่วนบุคคล การจะพูดคุยสองเรื่องนี้กับคนที่ไม่ได้มีความคิดแบบเดียวกัน สุ่มเสี่ยงที่จะทะเลาะกันสูงมาก แต่จะทำอย่างไรได้ ถึงเราจะพยายามไม่พูดเรื่องนี้กับใคร แต่ก็ต้องมีใครมาจั่วหัวกับเราบ้างไม่มากก็น้อย และการเลี่ยงที่จะไม่พูดเลยก็เป็นการหนีปัญหา เลยต้องเสี่ยงดู

แต่ความจริงแล้ว การแสดงความคิดเห็นในสองเรื่องนี้ มีวิธีหลีกเลี่ยงความขัดแย้งอยู่เหมือนกัน Tonkit360 มีคำแนะนำ ว่าถ้าเราจะต้องคุยสองเรื่องนี้กับคนที่มีความเห็นตรงกันข้ามกับเราอย่างไรแบบที่ไม่ต้องเสียเพื่อน โดยที่เราก็ไม่จำเป็นต้องวางตัวเป็นกลาง และสามารถพูดได้เลยว่าเราสนับสนุนฝ่ายไหน

1. ตกลงกันก่อนว่านี่คือ “ความคิดส่วนตัว”

การเซฟตัวเองในขั้นแรก คือ การตกลงกันก่อนว่านี่คือ “การแสดงความคิดส่วนตัว” ที่จะไม่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ส่วนตัว ดังนั้น ให้วางความสัมพันธ์ส่วนตัวที่มีทั้งหมด แล้ววางตัวเป็นคน 2 ฝ่ายที่กำลังคุยกันแบบแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันแทน รับฟัง และพยายามทำความเข้าใจอีกฝ่าย ซึ่งจริง ๆ แล้วเราอาจไม่เข้าใจสิ่งที่เขาคิด หรือ (แอบ) ไม่เห็นด้วย แต่ควรฟัง “ความคิดเห็นส่วนตัวของเขาให้มากที่สุด” ควบคู่ไปกับการควบคุมอารมณ์ตนเอง อย่าเผลอระเบิดอารมณ์ใส่หน้าเพื่อนจนต้องตัดสัมพันธ์กัน เพียงเพราะคิดต่างกันเรื่องการเมืองและศาสนาเลย

2. อ้างอิงด้วยข้อเท็จจริง มีหลักฐานและให้เหตุผลประกอบ

การพูดคุยในเชิงแลกเปลี่ยนความรู้ ความคิดเห็นอย่างผู้ที่รู้จักใช้เหตุและผล เพื่อไม่ให้กลายเป็นการคุยสร้างความแตกแยก จำเป็นมากที่จะต้องหาข้อมูลประเภทข้อเท็จจริงให้พร้อม คือต้องไม่ใช่ข้อมูลที่มโนขึ้นมาเอง และไม่ใช่ข้อมูลที่ส่งต่อกันมาชนิดที่ไม่รู้ว่าของจริงหรือของปลอม เมื่อแสดงข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริง มีหลักฐานแล้ว ค่อยแสดงความคิดเห็นของตนเองออกมาว่ามีความคิดเห็นอย่างไรกับเรื่องดังกล่าว พร้อมแสดงเหตุผลที่เป็นเหตุเป็นผลสนับสนุนกัน หลีกเลี่ยงการโจมตีด้วยคำพูดสร้างความเกลียดชังและการใช้ตรรกะวิบัติ

3. มีสติกับทุกคำพูดและการกระทำ

แน่นอนว่าการพูดคุยสองเรื่องนี้ ยิ่งพูดก็ยิ่งมัน ยิ่งพูดก็ยิ่งมีอารมณ์ร่วม ในช่วงเผลอนี้อาจจะทำให้เราเผลอใส่อารมณ์จนออกนอกหน้า ฉะนั้น ตั้งสติดี ๆ อย่าหลุดสิ่งที่จะเป็นชนวนให้ทะเลาะกัน และอย่าไปเกรียนใส่ใคร หรือถ้าอีกฝ่ายเริ่มเกรียนใส่ก่อน รีบจบบทสนทนานั้นซะ เพราะนี่มันคือการยั่วโมโหฝั่งตรงข้ามปรี๊ดแตกชัด ๆ ถ้าเราเกิดหลุดตามที่เขายั่วแล้วล่ะก็ จะกลายเป็นข้ออ้างที่ใช้โจมตีความคิดเห็นที่เราเชื่อทันที ทีนี้แหละที่จะมองหน้ากันไม่ติด ทั้งนี้รักษามารยาทและความสุภาพตลอดการสนทนา ต่อให้เบื้องหลังจะเป็นเพื่อนสนิทกันแค่ไหนก็ตาม

4. เปิดหู เปิดใจให้มากที่สุด แต่เปิดปากให้น้อยลง

อย่าลืมว่าการแสดง “ความคิดเห็น” มันเป็นเรื่องความเชื่อส่วนตัว ซึ่ง “ความคิดเห็น” ก็ไม่มีถูกผิด เราจะเชียร์ใคร สนับสนุนใครก็ตาม ต่อให้ความรู้สึกจริง ๆ เราอาจจะไม่ชอบฝั่งตรงข้าม (อาจถึงขั้นเกลียด) มากแค่ไหน ก็ต้องสงบสติอารมณ์ เก็บอาการให้อยู่ เปิดหู ฟังในสิ่งที่คนอื่นพูดให้มากที่สุด ฟังแล้วเปิดใจ นำไปคิดตาม พยายามเปิดปากให้น้อยที่สุด ถ้าไม่ใช่คิวตัวเองพูด ถ้าอีกฝ่ายไม่ได้ถาม หรือมีความคิดที่ไม่เห็นด้วย ก็ต้องฟัง ฟังอย่างเดียว และมองทุกอย่างแบบกว้าง ๆ บนพื้นฐานของความเป็นจริง

5. อย่าครอบงำและพยายามเปลี่ยนความคิดเขา

นี่คือการพูดคุยเพื่อ “แลกเปลี่ยนความคิดเห็น” ฉะนั้นเป้าหมาย คือการพยายามเปิดใจรับข้อมูลในฝั่งที่ตนเองไม่ได้เชื่อดูบ้าง เราจะเปลี่ยนความคิดเขาได้หรือไม่ไม่ใช่ประเด็น แต่อย่างน้อยต่างคนยังต่างได้รับข้อมูลอีกด้าน และที่สำคัญให้คำนึงว่าเขากับเราเป็นมนุษย์ที่มีสิทธิมีเสียงเท่า ๆ กัน อย่าลดทอนความเป็นมนุษย์ของเขาโดยการยัดเยียดสารพัดคำด่าเพียงเพราะเขาไม่เชื่อแบบเรา เพิ่มความเกลียดชังกันเปล่า ๆ และนี่ไม่ใช่การโต้วาทีเพื่อการเอาชนะ หรือโน้มน้าวหักล้างความเชื่อใคร แต่เป็นการสนทนาเพื่อพูดในสิ่งที่เราคิดและฟังในสิ่งที่เขาคิดเท่านั้น

ดังนั้น ในวงสนทนาที่พูดคุยเรื่องที่สุ่มเสี่ยงจะเสียเพื่อน หรือตัดญาติขาดมิตรกัน สิ่งที่ต้องท่องจำให้ขึ้นใจและเตือนตัวเองอยู่ตลอดเวลาก็คือ 5 ข้อข้างต้น และเมื่อการสนทนาเรื่องนี้จบลง ก็ให้วางเรื่องที่คุยจบไว้ตรงนั้น และกลับเข้าสู่โหมดความสัมพันธ์แบบเดิม ทั้งนี้ก็เพื่อจะทำให้เรื่องเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องไกลตัว แตะต้องพูดคุยไม่ได้ จึงจำเป็นต้องปลดอคติลงแล้วหันหน้ามาพูดคุย กันแลกเปลี่ยน เรียนรู้ และตรวจสอบความถูกต้องร่วมกัน เพื่อหาทางออกร่วมที่ดีที่สุด

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook