กฎคุ้มครองผู้เยาว์บนเฟซบุ๊ก โพสต์รูปลูกหรือตัวเองตอนเด็ก อาจโดนแบนได้
ทางเฟซบุ๊กมีนโยบาย ไม่อนุญาตให้มีการลงเนื้อหาที่มีความล่วงละเมิด หรือมีความเป็นอันตรายต่อเด็ก โดยเฟซบุ๊กได้ร่วมมือกับ ศูนย์เพื่อเด็กหายและถูกฉวยผลประโยชน์แห่งชาติ หรือ National Center for Missing and Exploited Children (NCMEC) เพื่อปกป้องสิทธิของเด็กในด้านนี้โดยเฉพาะ
ถึงแม้ว่าจะเป็นรูปของตัวเองในวัยเด็ก หรือ ลูกของตัวเอง ในภาพเปลือย ในเจตนาที่ดี ดูน่ารัก แต่ก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรโพสต์และจะถูกลบออกจากระบบเฟซบุ๊ก เนื่องจากโพสต์ในรูปแบบนี้อาจจะถูกผู้อื่นละเมิดและนำภาพไปใช้ในทางที่ผิดอีกด้วย
ซึ่ง Sanook Campus เราก็ได้สรุปสิ่งที่ไม่ควรโพสต์เกี่ยวกับเด็กลงบนเฟซบุ๊กแบบคร่าวๆ มาให้เพื่อนๆ ได้ลองศึกษากัน ว่าอะไรสามารถทำได้หรือทำไม่ได้สำหรับโพสต์เนื้อหาเด็กลงบนเฟซบุ๊ก
- ภาพที่เห็นหัวนมของเด็ก ไม่ว่าจะเป็นเด็กชาย หรือ เด็กหญิง อายุต่ำกว่า 4 ปี จะถูกมองว่าเป็นการละเมิดสิทธิของเด็ก
- รูปภาพที่แสดงออกถึงการออกถึงความรัก (ในแบบที่เกินไป) ของผู้เยาว์และผู้ใหญ่ เช่นภาพจูบกันของผู้โพสต์กับผู้เยาว์ ยกตัวอย่างเช่นภาพ เราจูบที่ปากลูกชายหรือลูกสาวจะถูกระบบมองว่าเป็นการล่วงละเมิดเด็ก แต่หอมแก้มได้
- รูปภาพที่แสดงออกถึงการออกถึงความรัก (ในแบบที่เกินไป) ของผู้เยาว์และผู้เยาว์ เช่นภาพเด็กจูบกัน (ถึงจะดูน่ารัก แต่ในบางครั้งทางระบบอาจจะมองว่าเป็น การล่วงละเมิดเด็กได้)
- การโพสต์ภาพหรือข้อความในเชิงคุกคามผู้เยาว์ ไม่ว่าจะเป็นการตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม รวมไปถึงการส่งข้อความส่วนตัวด้วย
- รูปภาพและวิดีโอที่แสดงให้เห็นถึงกิริยาที่ไม่เหมาะสมในเชิงสื่อทางเพศของผู้เยาว์ (ท่าโพสถ่ายรูปบางท่าอาจจะจะถูกมองว่าเป็นการยั่วยวนทางเพศได้) ตลอดไปจนถึงภาพเปลือยด้วย (ไม่ว่าจะเป็นภาพตัวเองในตอนเด็ก หรือรูปลูกหลานของตัวเอง)
- ข้อความหรือเนื้อหาที่ยกย่อง สนับสนุน หรือแนะนำในการสร้างการโพสต์เนื้อหาไม่ว่าจะเป็นข้อความหรือสื่อที่มีความละเมิดผู้เยาว์