ศึกษากฎหมาย "ไม่ยืนเคารพธงชาติ" "ไม่ยืนเคารพเพลงสรรเสริญ" มีความผิดหรือไม่
เรียกว่าเป็นที่ถกเถียงกันมานานสำหรับการยืนเคารพธงชาติ หรือ ยืนเคารพเพลงสรรเสริญพระบารมี เป็นข้อบังคับทางกฎหมายรึเปล่า ถ้าผู้ที่ไม่ทำตามจะมีโทษทางกฎหมายหรือไม่ ดังนั้นเราจึงได้ศึกษาหาข้อมูลมาว่า การไม่ยืนเคารพธงชาติ หรือ ไม่ยืนเคารพเพลงสรรเสริญพระบารมี นั้นมีความผิดทางกฎหมายหรือไม่
ถ้าย้อนกลับในสมัย จอมพล ป. พิบูลสงคราม หรือหลวงพิบูลสงคราม เป็นนายทหารและนักการเมือง ได้มีการกำหนดวัฒนธรรมให้มีรูปแบบเดียวกันในลักษณะ “ไทยเดียว” หรือ เรียกยุค “ปฏิวัติวัฒนธรรม” โดยในช่วงนั้นมี พระราชบัญญัติวัฒนธรรมแห่งชาติ พ.ศ. 2485 ออกมา โดยมาตรา 6 บัญญัติว่า วัฒนธรรมซึ่งบุคคลจักต้องปฏิบัติตาม นอกจากจะได้กำหนดไว้โดยพระราชบัญญัติแล้ว ให้กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกาได้ในกรณีดังต่อไปนี้
- ความเป็นระเบียบเรียบร้อยในการแต่งกาย จรรยาและมารยาทในที่สาธารณสถานหรือที่ปรากฏแก่สาธารณชน
- ความเป็นระเบียบเรียบร้อยในการปฏิบัติตนและการปฏิบัติต่อบ้านเรือน
- ความเป็นระเบียบเรียบร้อยในการประพฤติตนอันเป็นทางนำมาซึ่งเกียรติของชาติไทยและพระพุทธศาสนา
- ความมีสมรรถภาพและมารยาทเกี่ยวกับวิธีดำเนินงานอาชีพ
- ความเจริญงอกงามแห่งจิตใจและศีลธรรมของประชาชน
- ความเจริญก้าวหน้าในทางวรรณกรรมและศิลปกรรม
- ความนิยมไทย
มาตรา 15 ผู้ใดฝ่าฝืนพระราชกฤษฎีกาซึ่งออกตามความในมาตรา 6 มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งร้อยบาทหรือจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือนหรือทั้งปรับทั้งจำ (มาตรา15 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติฯ ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2486
ต่อมาได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดวัฒนธรรมแห่งชาติ พ.ศ. 2485 ประกาศออกมาบังคับใช้ซึ่งในมาตรา 6 บัญญัติว่า บุคคลทุกคนจักต้องเคารพตามระเบียบเครื่องแบบหรือตามประเพณีคือ
- เคารพธงชาติขณะที่ชัดขึ้นและลงประจำวันพร้อมกัน ตามเวลาประกาศของทางราชการ
- เคารพธงชาติ ธงไชยเฉลิมพล ธงเรือรบ ธงประจำกองยุวชนทหาร หรือธงประจำกองลูกเสือ เมื่อชักขึ้นหรือลงประจำสถานที่ราชการ เมื่อเชิญมาตามทางราชการ หรืออยู่กับที่ประจำแถวหรือหน่วยทหาร ยุวชนทหาร หรือลูกเสือ
- เคารพเพลงชาติ เพลงสรรเสริญพระบารมีและเพลงเคารพอื่นๆ ซึ่งบรรเลงในงานตามทางราชการ ในงานสังคม หรือในโรงมหรสพ
ต่อมาในพ.ศ. 2553 ในช่วงรัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้ประกาศบังคับใช้พระราชบัญญัติวัฒนธรรมแห่งชาติ พ.ศ. 2553 โดยเนื้อหาในความสำคัญของพระราชบัญญัติฉบับนี้มีใจความว่า มาตรา 3 ให้ยกเลิก พระราชบัญญัติวัฒนธรรมแห่งชาติ พ.ศ.2485 , พระราชบัญญัติวัฒนธรรมแห่งชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2486 , พระราชบัญญัติเครื่องแบบกรรมการสภาวัฒนธรรมแห่งชาติ พ.ศ. 2486 , พระราชบัญญัติสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ พ.ศ. 2522 และ พระราชบัญญัติสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535
โดยให้ใช้พระราชบัญญัติใหม่นี้แทน สิ่งที่น่าสนใจในพระราชบัญญัตินี้ คือ “ไม่กำหนดโทษ” สำหรับผู้ฝ่าฝืนการไม่ยืนตรงเคารพเพลงสำคัญ เช่น เพลงชาติ หรือ เพลงสรรเสริญพระบารมี ดังนั้นเมื่อกฎหมายแม่อย่างพระราชบัญญัติฯ 2485 ได้สิ้นสภาพลง กฎหมายลูกอย่าง พ.ร.ฎ. 2485 ก็ต้องสิ้นสภาพลงไปด้วย