รวม "แฮชแท็กเด็ด ตุลาคม 2020" เดือนแห่งม็อบระอุในทุกวัน
เรามาย้อนดูกันหน่อยดีกว่าว่า ในหนึ่งเดือนที่ผ่านมาประเทศไทยของเรามีกระแสอะไรที่เรียกว่าเป็นที่พูดถึง และกลายเป็นกระแสออนไลน์จนติดเทรนด์โซเชียลในเดือนตุลาคม นี้บ้าง อย่ามัวรีรอ เรามาย้อนรอยผ่านแฮชแท็กไปพร้อมๆ กันเลย
#หอม
เรียกว่าเป็นศัพท์สแลงที่สร้างความสงสัยกับสังคมเป็นอย่างมาก ว่าคำนี้แปลว่าอะไร แล้วคำนี้กลายเป็นคำที่ล่วงละเมิดทางเพศได้อย่างไร โดยคำว่าหอมจริงๆ แล้วตาม ความหมายพจนานุกรมราชบัณฑิตยสถานแปลว่า จูบ, ได้รับกลิ่นดี หรือ ชื่อไม้ล้มลุกมีหัว แต่ว่าคำว่าหอมถูกนำมาใช้เป็นศัพท์สแลง และตีความใหม่ในเชิงคุกคามทางเพศ โดยจะถูกพิมพ์แยกพยัญชนะเป็น ห อ มโดยมีความหมายสื่อถึงเห็นรูปภาพของผู้หญิงแล้วรู้สึกได้กลิ่นหอม เชิงทางเพศออกมา หรืออาจจะมีความหมายเชิงคุกคามอย่างตรงๆ ว่า อวัยวะเพศหญิงอูม (ห อ ม) นั่นเอง
#MissUniverseThailand2020
เรียกว่าเป็นเวทีวาระระดับชาติเลยทีเดียว สำหรับการประกวด Miss Universe Thailand 2020 ที่จัดขึ้นในคำคืนวันที่ 10 ตุลาคม ที่ผ่านมา โดยผู้ที่ได้รับตำแหน่ง Miss Universe Thailand 2020 ในปีนี้ อแมนด้า ชาลิสา ออบดัม สาวสวยคนเก่งจากจังหวัดภูเก็ต ลูกครึ่งสาวไทย-แคนาดา เจ้าของเกียรตินิยมอันดับที่ 1 การจัดการและบริหารธุรกิจ จากมหาวิทยาลัยโทรอนโต ประเทศแคนาดาคนนี้นั่นเอง โดยเธอจะเป็นตัวแทนของประเทศไทย เพื่อไปแข่งขันประกวดบนเวทีโลกอย่าง Miss Universe 2020 นั่นเอง
#saveพี่เอก
เอก Heartrocker นักแคสเกมชื่อดังของประเทศไทย ถือว่าตกเป็นเหยื่อดราม่าของคำว่า หอม ไปอีกคนหลังจากที่เขาเปิดประเด็นถามว่า ดมเสร็จถ้าพี่ไม่อยากใช้คำว่าหอม พี่จะใช้คำว่าอะไรดี โดยการพูดคุยเป็นการคุยเชิงสนุกสนานหัวเราะกันไป แต่มีคนตัดช่วงสนทนานี้ไปแล้ววิจารณ์ว่าเป็นการสนทนาที่มีความคุกคามทางเพศ ตลอดจนถึงทาง เอก Heartrocker และ เพื่อนๆ คัฟเวอร์เพลง "แทนบ๋อย" แบบสนุกๆ ที่มีผู้คนบางส่วนคิดว่าเพลงนี้มีความหมายคุกคามทางเพศ จึงทำให้ไฟดราม่าปะทุขึ้นมาอีก จน ในสุดท้าย เอก Heartrocker ก็ออกมาแสดงความขอโทษ พร้อมแสดงจุดยืนว่าตนนั้นใช้คำว่า "หอม ๆ นะ" มานานแล้ว ในเชิงการปลอบใจ ส่วนการคัฟเวอร์ "แทนบ๋อย" นั่นเห็นว่าเนื้อเพลงตลก ไม่คิดว่าจะมีการทำให้ผู้คนไม่สบายใจ จนสุดท้าย เอก Heartrocker และทีมโบ๊ะบ๊ะก็ตัดสินใจปิดแอคทวิตเตอร์ไป
#ม็อบ14ตุลา
เป็นการรวมตัวกันของกลุ่มประชาชนที่เรียกร้องประชาธิปไตย และให้รัฐบาลลาออก โดยออกมาชุมนุมเพื่อแสดงจุดยืน และข้อเรียกร้องของกลุ่มคณะราษฎร คือ 1.พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องลาออกจากนายกรัฐมนตรี 2. เปิดประชุมวิสามัญรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ และ 3. ปฏิรูปสถาบัน ให้กลับมาอยู่ใต้ระบอบประชาธิปไตย โดยม็อบครั้งนี้ได้จุดชนวนขึ้นมาอีกครั้งภายในวันที่ 15 ตุลาคม โดยเจ้าหน้าที่ฉีดน้ำแรงดันสูงเพื่อเป็นการสลายม็อบ กลุ่มมวลชนใช้ร่มเป็นกำบัง ซึ่งเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์บนสังคมออนไลน์เป็นอย่างมาก ที่เจ้าหน้าที่ใช้กำลังต่อประชาชน หลังจากนั้นก็มีแฮชแท็ก ม็อบขึ้นมารายวันตลอดเดือนตุลาคม
#SaveArtie
อาร์ทตี้ ปฐพร ทรัพย์ไพฑูรย์ อดีตนักข่าว Bangkok Post กลายเป็นที่พูดถึงบนโลกออนไลน์เป็นอย่างมาก จากการนำเสนอข่าวเรื่องม็อบแบบลงพื้นที่ และนำเสนอข้อเท็จจริงของเหตุการณ์แบบตรงไปตรงมาและเป็นกลางเป็นภาษาอังกฤษ เพื่อให้ต่างชาติเกิดความเข้าใจว่าในประเทศไทยนั้นเกิดอะไรขึ้น โดยเขาได้รายงานข่าวที่ลานพระบรมรูปทรงม้าและสัมภาษณ์หญิงใส่เสื้อเหลือง โดยเขาถูกโจมตีด้วยคำพูดจากกลุ่มคนเสื้อเหลืองว่าไม่ใส่เสื้อเหลือง เพราะเขาใส่เสื้อขาวเพื่อแสดงความเป็นกลาง และถูกไล่ออกจากพื้นที่เพราะคิดว่าเขาเป็นนักข่าวเถื่อน เพราะไม่มีบัตรประจำตัวนักข่าว ไม่มีปลอกแขนแสดงตัวว่าเป็นสื่อมวลชน และพยายามเรียก รปภ. ขณะที่ผู้คนโดยรอบต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าเขาคือนักข่าวเถื่อน