5 ทักษะที่ควรฝึกไว้ ถ้าคิดจะไปยุ่งกับปัญหาของชาวบ้าน

5 ทักษะที่ควรฝึกไว้ ถ้าคิดจะไปยุ่งกับปัญหาของชาวบ้าน

5 ทักษะที่ควรฝึกไว้ ถ้าคิดจะไปยุ่งกับปัญหาของชาวบ้าน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เคยเป็นกันบ้างไหม หวังว่าจะไปช่วยคนอื่นแก้ปัญหา แต่กลายเป็นว่าเอาปัญหามาใส่ตัวเอง อาทิ เข้าไปช่วยงานของเพื่อนร่วมงานเพราะหวังว่าจะทำให้เขาเสร็จงานเร็วขึ้นแต่กลับกลายเป็นว่าคุณเข้าไปรับผิดชอบในงานของคนอื่นเฉยเลย หรือเข้าไปเป็นที่ปรึกษาปัญหาครอบครัวให้เพื่อนสนิท แต่กลายเป็นว่ายิ่งให้คำปรึกษายิ่งทำให้ปัญหาหนักขึ้น และคุณต้องรับฟังความจากทั้งสองฝ่ายจนกลายเป็นความเครียดของตนเอง

ลักษณะแบบนี้แหละที่เรียกว่าไปยุ่งกับปัญหาของชาวบ้านจนทำให้ตนเองเดือดร้อน เพราะเอาเข้าจริงปัญหาของคนอื่นควรให้เขาแก้ไขเอง คุณจะยื่นมือเข้าไปช่วยต่อเมื่อเขาออกปากขอความช่วยเหลือ หรือ มันสุดทางแล้วจริงๆ และก่อนจะเข้าไปช่วยคุณเองก็ต้องพิจารณาด้วยเช่นกันว่าคุณจะมีขอบเขตของการให้ความช่วยเหลือแค่ไหน และคำแนะนำต่อจากนี้คือ 5 ทักษะที่คุณควรฝึกเอาไว้เมื่อมีคนมาขอความช่วยเหลือ หรือเป็นที่ปรึกษา เพื่อที่คุณจะได้ไม่ต้องเอาห่วงของคนอื่นมาผูกคอของตนเอง

1. อารมณ์คือการแสดงออกอย่างหนึ่งของมนุษย์ ไม่ใช่ปัญหาที่ต้องจัดการให้หมดไป

หากเพื่อนสนิทของคุณกำลังวิตกกังวลอย่างหนัก หรือ อยู่ในภาวะซึมเศร้าเพราะผิดหวังอย่างหนัก ขอให้ตั้งสติและมองว่านี่คือเรื่องปกติของการแสดงอารมณ์ต่อปัญหาที่เกิดขึ้น หลังจากนั้นให้มองในอีกมุมว่าเมื่อเกิดปัญหาที่ทำให้พวกเขาต้องตกอยู่ในภาวะเศร้าอย่างมาก หรือ เครียดอย่างมากแล้ว แทนที่จะรีบเข้าไปปลอบใจเพื่อให้เขาหายจากอาการให้ได้เร็วที่สุด อยากให้คุณมองว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นนั้น เป็นเพราะอะไร อะไรคือต้นเหตุแห่งปัญหา หากคุณสามารถมองเห็นได้ หนทางในการช่วยเหลือก็จะง่ายขึ้นว่าจะทำวิธีไหนให้เพื่อนของคุณคลายทุกข์ได้ดีที่สุด ดีกว่ามานั่งปลอบกันทั้งวันทั้งคืน

2. หากเจอคนที่กำลังทุกข์กับปัญหาเดียวกับที่คุณเคยมีขอให้ใช้ประสบการณ์ที่ผ่านมาในการแก้ปัญหา

ก่อนที่จะสงสารคนอื่นขอให้คุณสงสารตนเอง หรือให้ความเมตตากับตนเองก่อน เพราะการเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับปัญหาของคนอื่นนั้นคือการเข้าไปอยู่ในสถานการณ์ที่คุณเอง ไม่มีส่วนได้และมีแต่ส่วนเสีย ทำดีก็แค่เสมอตัวดังนั้นถ้าต้องกลายเป็นที่ปรึกษาในปัญหาเดียวกับที่คุณเคยเจอ คุณไม่จำเป็นต้องทุ่มช่วยสุดตัว แต่จงให้คำแนะนำว่า ที่ผ่านมาคุณแก้ปัญหาอย่างไร ไม่จำเป็นต้องมีอารมณ์ร่วม หากคนที่มาขอคำปรึกษาไม่รับฟัง ก็ไม่จำเป็นต้องไปโน้มน้าวใดๆ เพราะคุณได้ช่วยเขาไปแล้วกับคำแนะนำในเบื้องต้น

3. ฝึกการฟังแล้วสะท้อนคำพูดนั้นกลับไปยังคนที่พูด

เชื่อหรือไม่ว่าเมื่อคนเราตกอยู่ในวังวนของปัญหา พวกเขาไม่ได้ต้องการให้คุณเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาสักเท่าไรหรอก พวกเขาต้องการให้คุณแสดงความเห็นใจเข้าใจกับสิ่งที่พวกเขาต้องเจอ ดังนั้น ไม่จำเป็นต้องกดดันตนเองในการที่จะช่วยให้คนหนึ่งคนพ้นไปจากปัญหา ขอให้คุณเป็นผู้รับฟังที่ดีก็พอ และจะดีเป็นอย่างยิ่งหากคุณฝึกการฟังของคุณ ให้กลายเป็นการฟังเพื่อสะท้อนกลับไปยังคนที่พูด หรือที่เรียกว่า Reflective Listening (เมื่อมีใครเล่าปัญหาของเขาให้คุณฟัง การฟังเพื่อจับใจความของคุณจะทำให้คุณตอบเขากลับด้วยสิ่งที่เขาเพิ่งพูดออกมา) วิธีการในลักษณะนี้จะทำให้เพื่อนของคุณรู้สึกว่าคุณอยู่ข้างเดียวกับเขา

4. สำรวจอารมณ์ของตนเองก่อนที่จะช่วยคนอื่นแก้ปัญหา

สิ่งสำคัญก่อนที่คุณจะไปช่วยคนอื่นคลายทุกข์ คือการสำรวจอารมณ์ของตนเองเสียก่อน หากคุณเองยังอยู่ในสภาพอารมณ์ที่ยังไม่นิ่งพอ นั่นหมายความว่าคุณยังไม่สามารถช่วยเหลือใครได้ เพราะสภาพอารมณ์ที่นิ่งพอ จะทำให้คุณสามารถแยกสาเหตุของปัญหาที่เกิดขึ้น และ หาทางแก้ไขปัญหาได้ดีกว่าสภาพอารมณ์ที่ยังขุ่นมัว

5. จำไว้ว่าปัญหาของคนอื่นไม่ใช่ความรับผิดชอบของคุณ

นี่คือข้อสุดท้ายที่คุณควรฝึกให้เป็นนิสัย เพราะคนที่เข้าไปยุ่งกับปัญหาของคนอื่นจนอินไปกับปัญหา เมื่ออินแล้วก็จะมีความรู้สึกตามไปด้วย ซึ่งจะตามมาด้วยความรู้สึกที่ต้องรับผิดชอบที่เข้าไปช่วยเขาแก้ปัญหา ซึ่งในความเป็นจริงแล้วต้องตั้งใจมองให้ดี ๆ ว่า ปัญหานี้ไม่ใช่ปัญหาของคุณ แม้ว่าคุณเข้าไปช่วยแต่ไม่จำเป็นต้องร่วมรับผิดชอบ คุณอาจให้คำแนะนำ ให้เครื่องมือในการช่วยเหลือได้ แต่ไม่ควรให้ใจลงไปด้วยเพราะนั่นเท่ากับว่า คุณลงไปยุ่งกับปัญหาของคนอื่นและท่องให้ขึ้นใจว่าอย่าเอา ห่วงของคนอื่นมาผูกคอตนเอง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook