ตรรกะวิบัติ เหตุผลกลวง ๆ ของคนวุฒิภาวะต่ำ

ตรรกะวิบัติ เหตุผลกลวง ๆ ของคนวุฒิภาวะต่ำ

ตรรกะวิบัติ เหตุผลกลวง ๆ ของคนวุฒิภาวะต่ำ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

คุณเคยเจอคนประเภท “สูงวัย” แต่ “ไม่น่านับถือ” บ้างหรือไม่ บางคนเรียกคนประเภทนี้แบบแรง ๆ ว่า “แก่กะโหลกกะลา” หรือ “แก่เพราะกินข้าว เฒ่าเพราะอยู่นาน” เลยก็มี ถ้าจะให้เห็นภาพง่าย ๆ ก็คือ “มนุษย์ป้า มนุษย์ลุง” ในสังคมนั่นเอง จริงอยู่ที่เราไม่ควรไปตีตราว่าใครในลักษณะนั้น แต่ก็ไม่มีใครกล้าเถียงหรอกใช่ไหมว่าการคุยกับคนประเภทนี้มันน่าปวดหัวมากจริง ๆ ส่วนตัวเราเองก็ทำอะไรไม่ได้มาก เพราะอาจทำให้เรากลายเป็นคนแบบนั้นเสียเอง

ปรากฏการณ์ที่เห็นอธิบายได้โดยไม่ต้องใช้คำพูด ว่า “วุฒิภาวะ” ของคน ใช่ว่าจะสัมพันธ์กับอายุเสมอไป เพราะคนที่อายุเยอะแต่วุฒิภาวะต่ำหรือแทบไม่มีเลย ในสังคมมีอยู่อีกมาก โดยสิ่งที่เขาใช้โต้ตอบกับบุคคลอื่นก็มักจะแสดงในลักษณะของ “ตรรกะวิบัติ” ที่ทำให้คนที่ต้องร่วมวงสนทนามองบนไปตาม ๆ กัน นอกจากจะคุยกันไม่รู้เรื่องแล้ว คนประเภทนี้ก็ยังไม่ฟัง เถียง พร้อมจะพูดแทรกอยู่ตลอด รวมถึงชอบใช้วิธีพูดกระโชกโฮกฮากเสียงดังให้เราตกใจ

อย่างไรคือวุฒิภาวะต่ำ

วุฒิภาวะ หรือถ้าอิงตามศัพท์สมัยใหม่ ก็คือความฉลาดทางอารมณ์ หรือ EQ วุฒิภาวะมีความสำคัญกับชีวิตเรา นั่นก็เพราะคนเราต้องเข้าสังคม ต้องอยู่ร่วมกับผู้อื่น ดังนั้น วุฒิภาวะจึงถือเป็นทักษะที่คนเราใช้ในการอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคม

คนที่วุฒิภาวะต่ำ พวกเขาจะเป็นคนที่มีความคิดเชิงลบอยู่ตลอดเวลา คิดสร้างสรรค์ไม่ค่อยได้ เอาแน่เอานอนก็ไม่ได้ เขาจะใช้ชีวิตแบบที่ไม่ค่อยมีจุดมุ่งหมายสักเท่าไร เพราะไม่มีหลักการและเหตุผลอะไรมารองรับการกระทำ ซึ่งนั่นทำให้พวกเขาอยู่ร่วมกับคนอื่นในสังคมได้ยาก

เราจะสังเกตเห็นเพื่อนร่วมทีมหรือเพื่อนร่วมงานบางคนที่ชอบทำอะไรแบบ “ตามใจตัวเอง ไม่แคร์สายตาคนรอบข้าง” เอาเข้าจริงบางคนเขาก็ไม่รู้ตัวว่าตนเองแสดงพฤติกรรมนั้นออกมา เพราะสิ่งเหล่านี้ถูกขับเคลื่อนด้วย “จิตใต้สำนึก” นี่จึงเป็นเหตุผลหนึ่งว่า ทำไมมนุษย์ป้าทั้งหลายถึงรู้สึกว่าตัวเองเป็นฝ่ายถูกคนเดียวเสมอ แม้ว่าคนทั้งโลกจะไม่เห็นแบบนั้นก็ตาม

อีกหนึ่งพฤติกรรมที่เรามักจะเห็นได้จากคนที่วุฒิภาวะต่ำ คือ การแสดงความคิดในเชิง “ตรรกะวิบัติ” ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่ทำให้คนรอบข้างต่างเอือมระอา เพราะในการพูดคุยที่มีความเห็นไม่ตรงกัน ไม่มีทาง (และไม่มีวัน) ที่เราจะเถียงชนะคนประเภทนี้ได้ (แม้จะใช้เหตุผลก็ตาม) เขาไม่แม้แต่จะเปิดใจฟัง พร้อมจะโต้แย้งอยู่ตลอดเวลา หากเราไม่จบไปด้วย ก็เป็นการต่อความยาวสาวความยืดเสียมากกว่า

ตรรกะวิบัติที่มาพร้อมกับคนวุฒิภาวะต่ำ

ตรรกะวิบัติ เป็นลักษณะการพยายามจะให้เหตุผล แต่เหตุผลที่ให้นั้นไม่ใช่เหตุผลจริง ๆ คือ เมื่อมีการคิดย้อนกลับแล้ว หาใจความสำคัญที่สนับสนุนกันไม่ได้เลย ส่วนใหญ่จะเป็นคำพูดที่ฟังผ่าน ๆ แล้วสวยหรูดูดี ดูเป็นคำคม หากพิจารณาตามหลักเหตุและผลแล้ว ไร้ซึ่งน้ำหนักและดูกลวง

เพราะลักษณะนิสัยที่ชอบทำอะไรตามใจตัวเอง ไม่ได้สนใจว่าคนอื่นในสังคมเขาอยู่กันแบบไหน แบบที่เรียกว่า “เข้าเมืองตาหลิ่วต้องหลิ่วตาตาม” ทำให้คนประเภทนี้มักแสดงออกสวนทางกับคนอื่น ขวางโลก และมักจะอยู่ในสภาวะที่ควบคุมตัวเองไม่ได้เสมอหากอยู่ในอาการไม่ได้ดั่งใจ ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์ ความคิด หรือการกระทำ

อย่างไรก็ตาม คนส่วนมากที่แสดงตรรกะวิบัติออกมา เขาไม่มีความคิดว่าสิ่งที่เขาคิดและทำนั้นผิด ว่าตัวเองคือศูนย์กลางจักรวาลที่ถูกอยู่คนเดียว การอ้างหรือยกอะไรขึ้นมาพูดก็เป็นแบบคิดเองเออเอง ซึ่งสัญญาณเตือนว่าคุณกำลังทำศึกกับคนตรรกะวิบัติและคนวุฒิภาวะต่ำ ก็อย่างเช่น

  • ชอบอ้างคนหมู่มาก ใคร ๆ ก็ทำกัน ฉันทำฉันก็ไม่ผิด
  • โจมตีคนอื่นที่ตัวตน ไม่ใช่เรื่องที่กำลังถกเถียงกันอยู่
  • อย่ามาสอน ถ้าเธอเองยังทำไม่ได้
  • วกกลับไปจุดเริ่มต้น ตัดสินใหม่ เปลี่ยนใจได้ตลอด
  • โลกนี้มีแค่ 2 ทางเลือก แต่ทางของฉันคือถูกเสมอ

พัฒนาการกับวุฒิภาวะ

ตามหลักทฤษฎีของ คริส อาร์กีริส (Chris Argyris) ที่เป็นทฤษฎีที่ว่าด้วยเรื่องของพัฒนาการของมนุษย์ ผู้ที่ขาดวุฒิภาวะ ก็จะขาดพัฒนาการทั้งด้านบุคลิกภาพและความคิดไปด้วย ทำให้คนคนนั้นยังคงติดอยู่กับ “ความเด็ก” ทั้งที่อายุไม่เด็กแล้ว

ทฤษฎีนี้เชื่อว่าคนที่มีวุฒิภาวะสูง หากมาพร้อมกับความคิดในเชิงบวก คนกลุ่มนี้จะเป็นผู้ที่เป็นทรัพยากรบุคคลที่ดีที่สุดขององค์กร ซึ่งหากเป็นการสัมภาษณ์งานเข้าทำงาน ก็มีโอกาสสูงที่จะเป็นผู้ถูกเลือก ตรงกันข้ามคนที่ส่อเค้าว่าอีโก้สูงจัด ๆ ไม่ฟังอีกฝ่าย เถียง พูดแทรก หรือชอบตะคอกใส่ คนกลุ่มนี้จะจัดอยู่ในกลุ่มคนที่ควบคุมอารมณ์ ความคิด และการกระทำของตนเองไม่ได้ ทักษะในการอยู่ร่วมกับผู้อื่นจึงต่ำ ทำงานร่วมกับคนอื่นยาก

ดังนั้น หากต้องการที่จะพัฒนาวุฒิภาวะของตนเอง จำเป็นมากที่ต้องทำอย่างสม่ำเสมอด้วยตนเอง เพราะ “วุฒิภาวะ” ไม่ได้ขึ้นอยู่กับ “อายุ” ไม่ว่าคุณจะเป็นคนหนุ่มสาวหรือสูงวัย หากขาดความเป็นผู้ใหญ่ คุณก็เป็นเหมือนคนที่ “ขาดพัฒนาการ” ดี ๆ นั่นเอง

การรับมือให้ได้คือหนทางเอาตัวรอด

คนประเภทนี้ในสังคมมีอยู่เกลื่อนกลาด และตัวเราก็รู้ดีว่าคงไม่มีทางที่จะหลีกหนีคนประเภทนี้ได้ตลอดไป ต่อให้เราพยายามไม่ยุ่ง แต่สุดท้ายก็อาจมีบางเรื่องที่ต้องพึ่งพากันและกันอยู่ดี คนประเภทนี้ยิ่งคุยยิ่งปวดหัว ยิ่งคุยยิ่งหัวร้อน การจะรับมือกับคนประเภทนี้ให้ได้ก็คือ “อย่ารู้สึกร่วม” อย่างไรเสียเป็นการยากมากที่เขาจะรู้ตัวว่าตัวเองผิด ฉะนั้น คงต้องควบคุมที่ตนเอง คุยเฉพาะที่จำเป็น อย่าเถียงด้วย ใจเย็นให้มากที่สุด สื่อสารให้ชัดเจน และอย่าไปถือโทษโกรธเคือง

อีกสิ่งหนึ่งที่เราต้องพยายามด้วยตัวเอง คือ การมีสติให้มาก ๆ หมั่นฝึกความอดทน และเตือนตัวเองเสมอว่า “ก่อนจะคุยกับคนวุฒิภาวะต่ำให้รู้เรื่อง ตัวเราเองต้องรักษาระดับวุฒิภาวะ และควบคุมตนเองให้ได้ก่อน”

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook