แชร์เทคนิคและประสบการณ์การเรียน “ภาษาที่สาม” ให้ได้ผล

แชร์เทคนิคและประสบการณ์การเรียน “ภาษาที่สาม” ให้ได้ผล

แชร์เทคนิคและประสบการณ์การเรียน “ภาษาที่สาม” ให้ได้ผล
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

อย่างที่เคยบอกในบทความก่อนหน้านี้ เรากำลังอยู่ในโลกที่ไร้พรมแดน การที่เรารู้ภาษาเพียงภาษาแม่ของตัวเอง หรือได้แค่ภาษาอังกฤษ ไม่เพียงพออีกต่อไปแล้ว นั่นหมายความว่าอย่างน้อย ๆ เราควรรู้ให้ได้ 3 ภาษา เพื่อโอกาสและข้อได้เปรียบมากกว่าคนอื่น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภาษาที่องค์การสหประชาชาติกำหนดให้เป็นภาษากลางทั้งหมด 6 ภาษา ได้แก่ ภาษาอังกฤษ ภาษาฝรั่งเศส ภาษาสเปน ภาษารัสเซีย ภาษาจีนกลาง และภาษาอาหรับ ซึ่งถ้าเราได้ภาษาหนึ่งในหก หรือได้ทั้งหมดนี้แล้วล่ะก็ เราสามารถคุยกับคนได้แทบทั้งโลก และทำงานได้ทั่วโลก

ในเมื่อการเรียนภาษาที่สามนั้นค่อนข้างจำเป็นและสำคัญต่อการเป็นพลเมืองโลกยุคโลกาภิวัตน์ Tonkit360 จึงมีเทคนิคและประสบการณ์เล็ก ๆ น้อย ๆ ในการเรียนภาษาที่สามให้ได้ผลมาฝาก ซึ่งถ้าทำได้ครบทั้ง 5 ข้อนี้ รับรองว่าเราจะใช้ภาษาที่สามได้เก่ง มั่นใจ มีประโยชน์ และสนุกสนานอย่างแน่นอน

1. รู้เหตุผลว่าเรียนไปทำไม

จริง ๆ แล้วไม่ใช่แค่กับการเรียนภาษาหรอก ไม่ว่าจะอะไรก็ตาม หากเราไม่มีเป้าหมาย ไม่มีเหตุผลที่ชัดเจนว่าทำไปทำไม แต่หวังจะให้ประสบความสำเร็จนั้นเป็นไปได้ยาก ในโลกนี้ไม่มีอะไรที่ได้มาง่าย ๆ ก่อนตัดสินใจเรียนภาษาที่สาม ต้องหาแรงบันดาลใจ หาแพชชั่น อย่างน้อย เหตุผลเพราะสถานการณ์บังคับว่าต้องเรียนก็ควรจะมี จะได้โฟกัสความสนใจ และไม่ออกนอกลู่นอกทาง ดังนั้น การมีเป้าหมายที่ชัดเจนจึงสำคัญที่สุด เพราะมันเป็นตัวกำหนดความสำเร็จ และการดำเนินการในขั้นตอนต่อไปว่าเราจะรอดหรือร่วง

ยกตัวอย่างง่าย ๆ บรรดาติ่งศิลปินเกาหลี ศิลปินจีน หรือแม้แต่ศิลปินฝั่งตะวันตก ในตอนแรกพวกเขาอาจมีจุดมุ่งหมายในการเรียนภาษาเพื่อการติ่งโดยเฉพาะ แต่การรู้ภาษาหลายภาษาไม่ได้มีผลเสียต่อชีวิต ซ้ำยังทำให้มีโอกาสมากกว่าคนที่ไม่รู้ นั่นทำให้ทุกวันนี้บรรดาติ่งหลายคนได้ดิบได้ดีเพราะความคลั่งไคล้ศิลปิน พวกเขาสามารถแปลหนังสือ แปลเพลง แปลซีรีส์ แปลหนัง ที่ทำเงินให้กับเขาได้แม้นั่งอยู่ที่บ้าน

2. ขยันและอดทน

“ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น” เป็นคำที่ใช้ได้กับทุกวงการ อีกครั้งที่ต้องบอกว่าในโลกนี้ไม่มีอะไรที่ได้มาง่าย ๆ ไม่มีอะไรที่ได้มาโดยไม่พยายาม นั่นหมายถึง ถ้าเราขี้เกียจ ก็ไม่มีทางที่จะทำอะไรได้สำเร็จ การเรียนภาษาที่สามในวัยผู้ใหญ่ไม่ใช่เรื่องง่าย ด้วยข้อจำกัดของศักยภาพในการเรียนรู้ที่มีสู้เด็กไม่ได้ เวลา ภาระหน้าที่ต่าง ๆ แต่อะไรก็พ่ายแพ้ต่อความขยัน ถ้าขยันท่องศัพท์ ฝึกเขียน ฝึกอ่าน ฝึกออกเสียงทุกวัน จะไม่เข้าหัวเลยก็ให้รู้ไป

แต่การจะขยันได้มากน้อยหรืออดทนแค่ไหน ก็ต้องย้อนขึ้นไปดูปัจจัยข้อแรก ว่าจุดมุ่งหมายของเราชัดเจนมากพอหรือยัง เวลาที่คนเราทำอะไรด้วยความตั้งใจ แน่วแน่ มีจุดมุ่งหมายให้พุ่งชนได้ชัดเจน ทำให้มีแรงกระตุ้นที่จะทำ บางคนขยันอย่างเอาเป็นเอาตายถึงขั้นหมกมุ่นเพียงเพราะอยากเขียนจดหมายหาศิลปินที่ต่างประเทศ นั่นคือผลลัพธ์ที่ได้มาจะไม่ทรยศความตั้งใจของเราแน่นอน ในเมื่อการเรียนรู้ไม่มีที่สิ้นสุด เพียงอดทนและไม่ยอมแพ้ก็ประสบความสำเร็จได้

3. ใช้พื้นฐานภาษาที่สองมาช่วย

สำหรับเด็กไทย ตามหลักสูตรการเรียนกำหนดให้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่สองที่ต้องมีเรียนในทุกโรงเรียน ซึ่งก็ได้บ้างไม่ได้บ้าง (มีแนวโน้มไปทางไม่ได้มากกว่า) จากการจัดอันดับของสถาบันสอนภาษา EF (Education First) พบว่าทักษะการใช้ภาษาอังกฤษของคนไทยรั้งอันดับที่ 89 ของโลก จาก 100 อันดับ หรือก็คือถูกจัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีทักษะความสามารถด้านภาษาอังกฤษต่ำมากเป็นปีที่ 4 ติดต่อกัน และมีแนวโน้มที่จะต่ำลงเรื่อย ๆ ทั้งยังอยู่โซนรั้งท้ายประเทศอาเซียน อันดับที่ 8 จาก 10 ประเทศ ยกเว้นบรูไนและลาวที่ไม่ได้รับการจัดอันดับในครั้งนี้

แต่การที่เราพอจะมีพื้นฐานภาษาที่สองอยู่บ้างนั้น จะช่วยให้การเรียนภาษาที่สามง่ายขึ้นมาก ประการแรก คือการที่เรารู้แล้วว่าลักษณะการเรียนรู้ของตนเองเป็นอย่างไร วิธีไหนเป็นวิธีเฉพาะในการจำของตัวเอง ประการที่สอง หากภาษาที่สามที่เราจะเรียน มีรากมาจากภาษาโบราณเดียวกัน หรืออยู่ในตระกูลภาษาเดียวกัน ยิ่งทำให้เรียนรู้ง่าย เพราะภาษาที่จัดอยู่ในตระกูลภาษาเดียวกันนั้นมักมีจุดร่วมที่เหมือนกันอยู่ เช่น ไวยากรณ์คล้ายกัน ตัวเขียนใกล้เคียงกัน การออกเสียง การสะกด การสร้างคำ รูปประโยคคล้ายกัน เราจะสามารถดึงภาษาแม่หรือภาษาที่สองมาช่วยในการเรียนได้

เช่น เรียนภาษาจีน การมีพื้นฐานภาษาอังกฤษช่วยในเรื่องการสะกดสัญลักษณ์แทนเสียงที่เรียกว่า พินอิน แม้ว่าจะไม่ได้คล้ายกันทุกตัว แต่ก็ใช้ประโยชน์ได้ การเรียนภาษาฝรั่งเศส คำศัพท์หลายคำคล้ายกับภาษาอังกฤษ เพียงแต่อาจมีตัวหนังสือแปลก ๆ ที่เราไม่เคยเห็นอยู่บ้าง การออกเสียงใกล้เคียงกัน ซึ่งถ้าเรารู้ความหมายของคำศัพท์ภาษาอังกฤษแล้ว ก็พอจะเดาความหมายของศัพท์ภาษาฝรั่งเศสที่เขียนคล้าย ๆ หรือออกเสียงคล้าย ๆ ได้เหมือนกัน (ศัพท์ภาษาอังกฤษหลายคำก็มาจากภาษาฝรั่งเศส)

4. ฝึกฝนอย่างต่อเนื่อง

ผลลัพธ์ของการไม่ฝึกฝน ไม่ทำอย่างต่อเนื่องคือ ลืม!!! ต้องเข้าใจว่าคนไทยส่วนใหญ่ใช้ภาษาไทยเป็นภาษาแม่ เพราะฉะนั้นทุกวันเราใช้กันแต่ภาษาไทย หากไม่พยายามรักษาความต่อเนื่อง ความสม่ำเสมอในการเรียน โอกาสที่จะลืมก็มีอยู่สูง และยังทำให้เราหมดกำลังใจในการเรียนไปได้ด้วย เนื่องจากเราไม่ได้ใช้มันเลย ซึ่งต่างจากคนที่ได้ 2 ภาษา หรือพวก Bilingual เพราะเขาสามารถใช้ได้ทั้ง 2 ภาษาอยู่แล้ว ด้วยชีวิตประจำวันที่ต้องใช้ทั้ง 2 ภาษา

การฝึกฝนอย่างต่อเนื่องสามารถทำได้หลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มคำศัพท์ลงคลังสมอง ฝึกการแต่งประโยค ฝึกการใช้ประโยคทั้งตามไวยากรณ์และบริบทที่เจ้าของภาษาใช้กันจริง ฝึกออกเสียงให้สำเนียงเป๊ะ ฝึกฟังจากเพลง ดูซีรีส์ ฝึกเขียน ฝึกพูดสนทนาโต้ตอบ ฝึกอ่านข่าวภาษานั้น ๆ จะช่วยได้มาก ฝึกทุกวัน อย่างน้อยวันละหนึ่งชั่วโมง รักษาความถี่และความสม่ำเสมอ นานวันเข้าก็จะคล่องและเก่งขึ้นเอง

5. พาตัวเองเข้าไปใช้ภาษาจริง ๆ

วัน ๆ นอกจากท่องศัพท์ หัดอ่าน ฝึกฟัง ฝึกพูด จนคล่องแล้ว แต่ไม่เคยได้โต้กับตอบเจ้าของภาษา หรือคนที่ใช้ภาษานั้นจริง ๆ ความพยายามทั้งหมดที่ทำมาก็แทบสูญเปล่า หากเรียนมาแต่ไม่ใช้จริงจะเรียนมาทำไม ดังนั้น ควรพาตัวเองเข้าไปอยู่ในสถานการณ์ที่ต้องใช้ภาษานั้นจริง ๆ ความกดดันที่ต้องฟังเขาให้ออก คุยกับเขาให้รู้เรื่อง จะช่วยให้ความพยายามพุ่งสูงปรี๊ดเลยทีเดียว และถ้าเราแจ้งวัตถุประสงค์ชัดเจนว่าต้องการฝึกภาษา เขาก็พร้อมช่วยเหลือ

พังกำแพงความเขินอาย ความไม่กล้า ลองหาเพื่อนต่างชาติที่เขาใช้ภาษานั้น ๆ ดู ซึ่งสามารถหาได้ตามกลุ่มโซเชียลมีเดียที่คนที่เรียนภาษานั้น ๆ ตั้งไว้คุยหรือแชร์ความรู้กัน มักจะมีคนมาชี้เป้าไว้บ่อย ๆ ถ้าเลี่ยงได้ให้เลี่ยงคนไทยด้วยกัน เพราะสถานการณ์ไม่กดดันมากพอ คำไหนนึกไม่ออกเราอาจหลุดใช้ภาษาไทยไปเลย โดยไม่ขวนขวายเปิดศัพท์ดู ที่สำคัญ การพูดคุยกับเจ้าของภาษาโดยตรง เขาสามารถบอกเราได้ว่าเราใช้ได้ถูกต้องหรือไม่ เช่นภาษาไทย การที่เราถามว่า “ไปไหนมา” เราอาจจะไม่ได้อยากได้คำตอบเป็นสถานที่ แต่มันคือคำทักทายเช่นเดียวกันกับคำว่า “สวัสดี”

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook