ประวัติและที่มา "โรงละครแห่งชาติ" โรงละครแห่งแรกของประเทศไทย
โรงละครแห่งชาติ หรือ The National Theatre เป็นโรงละครแห่งแรกของประเทศไทย ตั้งอยู่ในบริเวณพระราชวังบวรสถานมงคลหรือ พระบวรราชวัง (เดิม) ข้างสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร
ประวัติ โรงละครแห่งชาติ
กรมศิลปากร รับโอนกิจการ โขน ละคร และดนตรี จากสำนักพระราชวัง มาดำเนินการตั้งแต่ปี พ.ศ. 2475 แต่เดิมยังไม่มีโรงละครแห่งชาติ มีแต่โรงแสดงของกรมศิลปากร ซึ่งเป็นหอประชุมเก่าของกรมศิลปากร เป็นอาคารสร้างด้วยไม้หลังคามุงด้วยสังกะสี ตั้งอยู่ด้านขวาของพระที่นั่งศิวโมกขพิมานอันเป็นส่วนหนึ่งของหอสมุดและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคล ได้ปรับปรุงหอประชุมขึ้นใหม่ ต่อมาได้มีการเปลี่ยนชื่อจาก หอประชุมกรมศิลปากร เป็น "โรงละคอนศิลปากร" และเกิดเหตุเพลิงไหม้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2503
โรงละครแห่งชาติ เริ่มสร้างในปีงบประมาณ พ.ศ. 2504 ถึง พ.ศ. 2508 โดยใช้งบประมาณค่าใช้จ่ายรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 56,484,465 บาท โดยมี นายอิสสระ วิวัฒนานนท์ เป็นสถาปนิก และศาสตราจารย์ ดร.รชฎ กาญจนะวณิชย์ เป็นวิศวกรผู้ควบคุม ต่อมามีการดัดแปลงแก้ไข โดยมีหม่อมเจ้าสมัยเฉลิม กฤดากร เป็นสถาปนิกผู้แก้ไข โดยใช้งบประมาณจำนวน 41 ล้านบาท
เมื่อการก่อสร้างดำเนินมาได้ระยะหนึ่ง ทางคณะกรรมการก่อสร้างโรงละคร ได้กราบบังคมทูลเชิญเสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรโรงละครแห่งชาติที่กำลังก่อสร้าง ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินเมื่อวันที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2507 และโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชวินิจฉัยแนะนำแก้ไขเพิ่มเติมหลายประการ หลังจากนั้นโรงละครแห่งชาติแล้วเสร็จ และทำพิธีเปิดเป็นทางการได้ในวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2508 โดยมี จอมพล ถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรีเป็นผู้ประกอบพิธีเปิด
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรการแสดงนาฏศิลป์ไทยในวโรกาสพิธีเปิดโรงละครแห่งชาติ ในคืนวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2508 ซึ่งได้มีการจัดแสดงรวม 3 ชุด คือ
- รำดอกไม้เงินดอกไม้ทองถวายพระพร
- การแสดงละครเรื่องสังข์ศิลป์ชัย ตอนชุบสังข์ศิลป์ชัย
- โขนเรื่องรามเกียรติ์ ชุด รามาวตาร
ซึ่งนับเป็นปฐมฤกษ์ของการดำเนินกิจการโรงละครแห่งชาติตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
โรงละครแห่งชาติ เป็นส่วนราชการอยู่ในบังคับบัญชาของกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม มีฐานะเป็นกลุ่มงาน มีการบริหารงานแบบไม่หวังผลกำไร ดำเนินงานภายใต้การกำกับดูแลของสำนักการสังคีต ปัจจุบันโรงละครแห่งชาติ มีอยู่รวมทั้งหมดจำนวน 4 แห่ง โดยอยู่ในส่วนกลาง 1 แห่ง และอยู่ในส่วนภูมิภาค 3 แห่ง มีฐานะเป็นฝ่ายในสังกัดโรงละครแห่งชาติ ได้แก่
- โรงละครแห่งชาติ (ส่วนกลาง)
- โรงละครแห่งชาติภาคตะวันตก จังหวัดสุพรรณบุรี (ส่วนภูมิภาค)
- โรงละครแห่งชาติภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดนครราชสีมา (ส่วนภูมิภาค)
- โรงละครแห่งชาติภาคใต้ จังหวัดนครศรีธรรมราช โครงการจัดตั้งทุ่งท่าลาด (ส่วนภูมิภาค)