มั่นใจ “ข้อมูล” ได้แค่ไหน? เมื่อใคร ๆ ก็หาคำตอบจาก Google
ทุกวันนี้ ใคร ๆ ก็หาข้อมูลต่าง ๆ กันได้ง่ายขึ้น ไม่ว่าจะมีข้อสงสัยหรืออยากรู้เรื่องอะไร ก็แค่เข้าอินเทอร์เน็ต พิมพ์ “คำค้นหา” ที่ต้องการ ก็จะมีข้อมูลขึ้นมาให้เลือกคลิกเข้าไปดูมากมายหลายหน้า
Search Engine (เสิร์ชเอนจิน) หรือโปรแกรมค้นหาข้อมูลที่ได้รับความนิยมสูงสุดในเวลานี้ ยังไม่มีเจ้าไหนโค่น Google (กูเกิล) ลงได้ โดยนับตั้งแต่เปิดตัวครั้งแรกในปี 2540 หรือเมื่อปี 23 ปีที่แล้ว กูเกิลกลายเป็นเสิร์ชเอนจินที่คนทั่วโลกใช้งานมากที่สุด ทุกนาทีจะมีคนพิมพ์คำค้นหาในกูเกิลราว 3.8 ล้านครั้ง!
โดยข้อมูลจาก Statista.com ระบุว่าเว็บไซต์ Google ครองสัดส่วนทางการตลาดสูงสุด เมื่อทั่วโลกมีผู้ใช้สูงสุดถึง 88.14 เปอร์เซ็นต์ (ข้อมูลเดือนตุลาคม 2563) ที่เหลือคือ Bing จากค่าย Microsoft 6.18 เปอร์เซ็นต์ และ Baidu (ไป่ตู้) เสิร์ชเอนจินสัญชาติจีน 0.59 เปอร์เซ็นต์
คนไทยค้นหาข้อมูลผ่าน “กูเกิล” กว่า 99%
ขณะที่ในบ้านเราพบว่าคนไทยใช้กูเกิลค้นหาข้อมูลในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา เกิน 99 เปอร์เซ็นต์จากเสิร์ชเอนจินทั้งหมด และหากนับเฉพาะเดือนพ.ย.2563 เดือนเดียว คนไทยค้นหาข้อมูลผ่านกูเกิลมากถึง 99.23 เปอร์เซ็นต์ (ข้อมูลจาก Statcounter.com)
นั่นหมายความว่า กูเกิลก็ไม่ต่างอะไรกับ “สารานุกรม” ที่รวบรวมความรู้ทุกแขนง เพียงแต่ไม่ต้องเสียเวลาเดินทางไปหาในห้องสมุดเหมือนอย่างสมัยก่อน แค่เข้าอินเทอร์เน็ตจากโทรศัพท์มือถือ โน้ตบุ๊ก หรือคอมพิวเตอร์ ก็ได้คำตอบที่ต้องการแล้ว
“ความช่วยเหลือจากภาครัฐ” คนไทยค้นหามากสุด
หากดูจากคำค้นหายอดนิยมประจำปี 2563 ที่คนไทยค้นหามากที่สุดใน 10 อันดับแรก พบว่าเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับโครงการให้ความช่วยเหลือของรัฐบาลติดอันดับอยู่มากที่สุด ทั้งโครงการเราไม่ทิ้งกัน คนละครึ่ง เยียวยาเกษตรกร เราเที่ยวด้วยกัน และลงทะเบียนรับเงินค่าไฟ
เมื่อเป็นเรื่องปากท้องของประชาชน คนจึงให้ความสนใจมากเป็นพิเศษ และต้องการทราบข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อความเข้าใจที่ชัดเจนยิ่งขึ้น ซึ่งอาจมองได้ว่าขั้นตอนในการรับความช่วยเหลือมีความซับซ้อน จึงต้องมีการค้นหาข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อจะได้ดำเนินการได้อย่างถูกต้อง ขณะเดียวกันก็อาจมองได้ว่าการประชาสัมพันธ์ของภาครัฐอาจไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควรนัก แทนที่จะหาข้อมูลโดยตรงกับหน่วยงานของรัฐ จึงต้องมาค้นหาข้อมูลผ่านกูเกิลแทน
จะมั่นใจได้อย่างไรว่าข้อมูล “เชื่อถือ” ได้?
เมื่อใคร ๆ เลือกที่จะหาคำตอบในกูเกิล แล้วเราจะมั่นใจกับข้อมูลต่าง ๆ ที่ค้นเจอได้มากน้อยเพียงใด ในเมื่อข้อมูลยุคนี้เป็นแบบ “Copy-Paste” ไม่ได้มีการสืบค้นข้อมูลเพิ่มเติม นอกจากคัดลอกของคนอื่นมาตัดแปะจนแทบหาข้อมูลต้นฉบับที่เขียนไว้ไม่เจอ เพราะก๊อปปี้ข้อมูลกันไปมา
นอกจากนี้ กูเกิลยังเคยถูกวิพากษ์วิจารณ์กรณีที่ไม่สามารถกลั่นกรองข่าวเท็จหรือข่าวที่ไม่มีมูลความจริงได้ จนทำให้เกิดความสับสนในการรับข้อมูลข่าวสาร ส่งผลให้กูเกิลต้องเปิดตัวโครงการ Google News Initiative (GNI) เพื่อช่วยในการตรวจสอบข่าวปลอมทางกูเกิล และคัดกรองข้อมูลข่าวสารที่เป็นข่าวจริงเท่านั้น
กูเกิลเชื่อได้ แต่ข้อมูล 6 ประเภทนี้ตรวจสอบก่อน!
แม้ว่าอัลกอริทึมของกูเกิลอย่าง “PageRank” จะช่วยตรวจสอบและจัดอันดับความน่าเชื่อถือของเว็บไซต์ได้ดีขึ้น แต่ก็อาจมีข้อมูลที่ไม่ถูกต้องสอดแทรกเข้ามาได้เช่นกัน และอาจทำให้เกิดการตีความที่ผิดพลาดได้ ซึ่งเว็บไซต์ MakeUseOf แนะนำไว้ว่าเรื่องที่ละเอียดอ่อนดังต่อไปนี้ ควรระมัดระวังในการเสพข้อมูลและควรตรวจสอบข้อมูลให้ถี่ถ้วนเสียก่อน
- ข้อมูลทางการแพทย์ (Medical Information)
- คำแนะนำทางการเงิน (Financial Advice)
- ทฤษฎีสมคบคิด (Conspiracy Theory)
- ข่าวด่วน / ข่าวแทรก (Breaking News)
- พิธีกรรม การปฏิบัติทางศาสนา (Religious Practices)
- คำถามที่เกี่ยวข้องกับการใช้สารเคมี (Chemical-Related Queries)
นอกจากนี้ ข้อมูลจาก Wikipedia (วิกิพิเดีย) ก็ควรมีการตรวจสอบด้วยเช่นกัน เพราะหลายคนมักเข้าใจผิดว่า ข้อมูลในวิกิพิเดียได้รับการตรวจสอบและเป็นข้อมูลที่ถูกต้องแล้ว ซึ่งแท้ที่จริงนั้น เนื้อหาในวิกิพิเดียไม่ว่าใครก็สามารถเข้าไปเพิ่มเติมหรือแก้ไขข้อมูลได้ ดังนั้น จึงควรตรวจสอบจากเว็บไซต์อื่น ๆ ที่เชื่อถือได้จะทำให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องกว่า