ครอบครัวไม่ใช่ที่สุขใจ เด็กหายไปเพราะ “หนีออกจากบ้าน”
ประเด็นการตัดสินใจของเด็กที่ “หนีออกจากบ้าน” ไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับสังคมไทย เด็กหลายคนเขียนจดหมายทิ้งไว้ แล้วระบายความรู้สึกอัดอั้นทั้งหมดเกี่ยวกับปัญหาในบ้าน รวมถึงการที่เด็กบางคนตัดสินใจปิดการติดต่อทางโซเชียลมีเดียทุกทาง เพื่อไม่ให้ผู้ปกครองตามตัวเจอ แน่นอนว่าปัญหานี้คงไม่มีเคสสุดท้าย เมื่อองค์ประกอบในครอบครัวของไทยปัจจุบันเริ่มเปลี่ยนไป และความกดดันของผู้ปกครองที่ส่งผลกระทบต่อเด็กมากขึ้นเรื่อย ๆ
ในปี 2560 มูลนิธิกระจกเงา มีรายงานระบุว่า จำนวนเด็กที่หนีออกจากบ้านด้วยความสมัครใจของเด็กนั้น มีจำนวนสูงขึ้นและเป็นเด็กที่มีอายุเฉลี่ยอยู่ระหว่าง 11-15 ปี เป็นเด็กผู้หญิงมากกว่าเด็กชายถึง 3 เท่า โดยมีสาเหตุมาจากความรุนแรงในครอบครัว และถูกชักชวนไปอยู่กับแฟน รวมทั้งถูกโน้มน้าวจากคนรู้จักในโลกออนไลน์ นอกจากนี้ มูลนิธิกระจกเงา ยังได้ให้ข้อมูลไว้ด้วยว่า ควรทำอย่างไร ถ้าลูกสาวหรือลูกชายของคุณหนีออกจากบ้าน
- ดูว่าเด็กเก็บเสื้อผ้าข้าวของไปหรือไม่ ถ้าเด็กเสื้อผ้าข้าวของสำคัญไป แสดงว่าเด็กมีการเตรียมตัว หากข้าวของสำคัญไม่ได้เอาไปเลย อาจไปโดยไม่ได้เตรียมตัว ซึ่งอาจเกิดเหตุร้ายกับเด็ก
- พิจารณาดูว่า ในรอบหนึ่งเดือน ก่อนเด็กหายไป มีเรื่องทะเลาะกับคนในครอบครัวหรือไม่ เช่น การลงโทษเฆี่ยนตีเด็ก การห้ามเด็กคบกับแฟน การห้ามหรือยึดโทรศัพท์ของเด็ก เป็นต้น
- เพื่อนสนิทของเด็ก อาจเป็นผู้ให้ข้อมูลได้ดีที่สุด แต่แน่นอนว่าเด็กย่อมเข้าข้างกัน ทางที่ดีที่สุด คือ ให้อาจารย์ประจำชั้นเป็นผู้สอบถามข้อมูลให้ ดังนั้น พ่อแม่ต้องมีเบอร์ครูประจำชั้น และทราบว่าใครเป็นเพื่อนสนิทของลูกบ้าง
- ยังไม่ปรากฏว่า มีเด็กหญิงหนีออกจากบ้านไปอยู่คนเดียวตามลำพัง เด็กที่หนีออกจากบ้าน ถ้าเด็กไม่มีแฟน เด็กจะไปอยู่กับเพื่อน ถ้าเด็กมีแฟน เด็กจะไปอยู่กับแฟน ทั้งนี้ แฟนที่เด็กจะไปอยู่ด้วย อาจเคยเจอกันมาก่อน หรือคุยกันแต่ทางอินเทอร์เน็ตหรือโทรศัพท์เท่านั้น เด็กก็กล้าที่จะไปหาและอาศัยอยู่กับเขาแล้ว
- พฤติกรรมก่อนการหายตัวไปของเด็กจะเป็นตัวบ่งชี้สำคัญ เช่น เด็กติดการคุยโทรศัพท์มาก มีซิมการ์ดหลายเบอร์ หรือเล่นแชตมากผิดปกติ โดยเฉพาะตอนกลางคืน นั่นหมายถึง เด็กอาจหายตัวไปกับคนที่เด็กคุยด้วย
- เด็กหายไปเพราะติดต่อกับใครทางช่องทางไหน ให้ตามหาจากสิ่งนั้น เช่น เด็กโทรศัพท์ ให้ตามจากข้อมูลการใช้โทรศัพท์ของเด็ก เด็กใช้การคุยผ่านอินเทอร์เน็ต ให้ตามจากคอมพิวเตอร์ของเด็ก
- การสืบค้นข้อมูลจากทางโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ต ผู้ปกครองขอรับแนะนำได้ที่ มูลนิธิกระจกเงา โทร 080-7752673 หรือ www.facebook.com/thaimissing เพราะมันมีวิธีการของมันอยู่
- เด็กที่หนีออกจากบ้านมีแนวโน้มกลับมาได้เอง หากว่า พ่อแม่เพื่อนที่อาศัยอยู่ด้วยเริ่มกดดันให้กลับบ้าน หรือแฟนที่ไปอยู่ด้วยทำร้าย หรือไม่ดีอย่างที่เด็กจินตนาการไว้
- เด็กที่หนีออกจากบ้านบางคนจะไม่ยอมกลับบ้านเลย หรือหากตามกลับมาได้ก็จะมีแนวโน้มหนีออกจากบ้านอีกรอบ หากเหตุผลในการหนีไป คือ ความรุนแรงในครอบครัว
- ถ้าเกือบทุกข้อที่กล่าวมา แม้ลูกคุณยังไม่หายออกจากบ้าน แต่คุณไม่ทราบข้อมูลเกี่ยวกับตัวลูกพฤติกรรมของลูก สภาพแวดล้อมที่ลูกกำลังประสบพบเจอ แสดงว่าคุณมีความเสี่ยงที่ลูกคุณจะหายออกจากบ้านแล้ว
นอกจากนี้แล้ว หากพบว่า เด็กหนีออกจากบ้านโดยมีการเตรียมการไว้แล้ว ควรจะแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจให้สืบหาเบาะแส เพราะด้วยกระบวนการสืบสวนของตำรวจจะช่วยให้เจอเด็กได้มากกว่าการใช้โซเชียลมีเดีย ซึ่งการส่งต่อภาพและข้อความของเด็ก ในกรณีที่เด็กหนีออกจากบ้านนั้น จะส่งผลกระทบต่อเด็กโดยตรง เมื่อพบตัวเด็กแล้วจะอาจทำให้เด็กไม่สามารถกลับมาใช้ชีวิตตามปกติได้
ทั้งหมดนี้คือ แนวทางและการป้องกันจากมูลนิธิกระจกเงา แต่หนทางที่ดีที่สุดในการป้องกัน คือ คนในครอบครัวเองต้องคอยสังเกตความรู้สึกและความเปลี่ยนแปลงของเด็กในบ้าน การดุด่าว่ากล่าว หรือการลงโทษด้วยความรุนแรงนั้นไม่ควรเกิดขึ้นบ่อยนัก เหนืออื่นใดความเชื่อใจ และความรักและให้กำลังใจจะเป็นเครื่องมือชั้นดีในการเยียวยาปัญหาที่แสนจะเปราะบาง นอกจากนี้ หากผู้ปกครองทำความเข้าใจกับเด็กโดยไม่เอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง คุณก็สามารถป้องกันปัญหาเด็กหนีออกจากบ้านได้มากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์แล้ว