“โพสต์ด่าสนุกมือ” อบอุ่นในโซเชียล แต่เดียวดายหน้าบัลลังก์

“โพสต์ด่าสนุกมือ” อบอุ่นในโซเชียล แต่เดียวดายหน้าบัลลังก์

“โพสต์ด่าสนุกมือ” อบอุ่นในโซเชียล แต่เดียวดายหน้าบัลลังก์
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เมื่อเป็นคนดัง มีหน้ามีตาในสังคม การใช้ชีวิตก็จะยากตามไปด้วย เพราะไม่ว่าจะทำอะไรก็มักจะมีสายตานับร้อยนับพันคู่คอยจับจ้อง หากเป็นเรื่องดีก็มีคนคอยชื่นชม แต่นั่นอาจไม่มากเท่าเรื่องฉาว ที่อาจจะมีมูลแค่เพียงน้อยนิด นิดเสียจนไม่รู้ว่าจริงเท็จแค่ไหน แต่การแต่งเติมเสริมเรื่องให้ดูน่าติดตาม ก็ทำให้เรื่องเล็กกลายเป็นเรื่องใหญ่ขึ้นมา เรื่องที่ไม่รู้ว่าจริงหรือเท็จกลายเป็นเรื่องจริงที่ทุกคนเชื่อขึ้นมาเสียอย่างนั้น และก็มีคนจำนวนไม่น้อยที่พร้อมจะเหยียบซ้ำ ซึ่งนั่นอาจเป็นราคาที่ต้องจ่าย (?) หากคุณเป็นคนดัง

แค่มีคนเปิดเดี๋ยวก็มีคนตาม ในยุคที่มีโซเชียลมีเดียเป็นแอปพลิเคชันอยู่ในโทรศัพท์มือถือของทุกคน ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนคุณก็สามารถใช้งานได้ ขอเพียงแค่มีอินเทอร์เน็ต ย้อนไปราว ๆ 10-15 ปีก่อน ยุคนั้นมีอินเทอร์เน็ตใช้แล้วก็จริง แต่การใช้งานยังถูกจำกัดว่าคุณต้องนั่งอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์หรือไม่ก็คอมพิวเตอร์แบบโน้ตบุ๊ก น้อยคนมาก ๆ ที่จะมีสิ่งที่เรียกว่าแท็บเล็ต ซึ่งหลายคนอาจจะยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามันคืออะไร

แต่เมื่อทุกอย่างถูกย่อลงมาเหลือขนาดเท่าฝ่ามือ เราสามารถพกโทรศัพท์มือถือเครื่องเดียวไปไหนมาไหนได้ทุกที่ ไม่เว้นแม้แต่การเข้าห้องน้ำ ช่วงเวลาว่าง 10-15 นาทีที่ได้ไถหน้าจอโทรศัพท์ย่อมเห็นข่าวนู่นนี่นั่นมากมาย ข่าวไหนที่อ่านแล้วอินก็อยากจะเข้าไปมีส่วนร่วม

จากนั้นก็เริ่มประมวลเอาสิ่งที่เสพได้เมื่อครู่มาใส่สีตีไข่เพิ่มนิดหน่อยตาม “ความเห็นส่วนตัว” ให้ดูน่าติดตาม ใส่ความเฟียสเพิ่มอีกนิดหน่อยก็เป็นอันใช้ได้ เมื่อกดโพสต์ปุ๊บก็กลายเป็นว่าถูกใจใครหลาย ๆ คน “คนนี้กล้าที่จะพูดสิ่งที่อยู่ในใจฉัน” “ใช่ ๆ ฉันก็คิดแบบนี้” จนต้องกดไลก์บ้าง แชร์ต่อบ้าง เข้าไปผสมโรงบ้าง จนในที่สุดก็กลายเป็นท็อปคอมเมนต์ที่ไม่ว่าใครเข้ามาเจอก็จะได้เห็นก่อน

อินจัดจนอยากมีส่วนร่วม

บ่อยครั้งที่เรื่อง “ส่วนตัว” ของบรรดาคนดังกลายเป็นเรื่องสาธารณะ ไม่ว่าจะคบใคร เลิกกับใครจะต้องเป็นข่าว บางครั้งต้องตั้งโต๊ะแถลงข่าวให้นักข่าวสัมภาษณ์ ซึ่งก็ไม่แปลกที่พอเป็นข่าวแล้วจะมีคนสนใจติดตาม เรื่องไหนที่พอจะเข้าเค้ากับเรื่องของตัวเองก็เริ่มอยากมีส่วนร่วม อยากแสดงความคิดเห็น แต่ความคิดเห็นนั้นเกินขอบเขตของการเป็น “คนนอก” เพราะหลายคอมเมนต์กล่าวราวกับว่าไปเห็นมาด้วยตาของตัวเอง

อีกสิ่งที่ตามมาจากการอินคือการ “ตามด่า” มีคนดังจำนวนไม่น้อยที่ต้องตกเป็นจำเลยสังคมโดยที่สังคมเองก็ยังไม่ทันได้พิสูจน์ด้วยซ้ำว่าเป็นเรื่องจริงหรือเรื่องเท็จ ข่าวฉาวที่มีมูลเพียงเล็กน้อยกลายเป็นมหากาพย์ให้คนติดตามว่าเรื่องจะเป็นอย่างไรต่อไป จากนั้นการตามระรานก็เริ่มลามไปถึงชีวิตส่วนตัวของคนดัง ถูกคอมเมนต์ด้วยถ้อยคำหยาบคาย ด่าว่าเสีย ๆ หาย ๆ บ้างในพื้นที่โซเชียลมีเดียของตนเอง บางคนได้รับข้อความส่วนตัวตามไปด่า รวมถึงการเหมาด่ารวมไปถึงญาติสนิทพี่น้อง ซึ่งก็ทำให้เจ้าตัวเดือดร้อนไม่น้อย

หมิ่นประมาทออนไลน์ ก็มีความผิดทางกฎหมาย

คดีหมิ่นประมาททางอินเทอร์เน็ต หรือที่จะเรียกว่าหมิ่นประมาทออนไลน์ก็ได้ เป็นคดีที่มีลักษณะการโพสต์ในเชิงประจาน แสดงความคิดเห็นในเชิงคุกคาม ดูถูก เหยียดหยามจนทำให้ได้รับความเสียหาย และรวมถึงการนำเรื่องที่ไม่จริงมาทำให้คนอื่นเชื่อว่าเป็นความจริงนั่นเอง

การหมิ่นประมาทผ่านทางช่องทางออนไลน์นี้สร้างความเสียหายได้เป็นวงกว้างอย่างรวดเร็ว คล้ายกับการอัปเดตสเตตัสที่กดอัปปุ๊บก็มีคนเห็นปั๊บ เมื่อเห็นแล้วถ้าถูกใจก็มีการกดไลก์ กดแชร์ต่อ เห็น 10 คน แชร์ 10 ครั้ง เมื่อบรรดาเพื่อนของ 10 คนนั้นเห็นแล้วเกิดแชร์ต่อตามกัน ไม่ถึง 1 นาที ข้อความนั้นอาจถูกแชร์เป็นพันเป็นหมื่นครั้งแล้วก็ได้

ยิ่งถ้าเป็นเรื่องในแง่ลบ ข่าวจะยิ่งถูกกระจายเร็ว และการจำกัดการเผยแพร่ต่อก็ทำได้ยากมาก เพราะถึงจะลบต้นตอแรกของการแชร์ได้ แต่โลกนี้มีเทคโนโลยีที่เรียกว่าการแคปภาพหน้าจอ ถ้ามีคนแคปทันเก็บเอาไว้ทัน ต้นเรื่องหายไปก็ถูกนำมาโพสต์ให้คนอ่านใหม่ได้ หรือต่อให้เวลาผ่านไป 10-20 ปีแล้ว ถ้าคิดจะเอามาโพสต์ต่ออีกรอบก็ทำได้ไม่ยาก

กลุ่มผู้เสียหายส่วนใหญ่ที่เรารู้ ๆ กันจะเป็นบุคคลสาธารณะ ผู้ที่มีชื่อเสียงทางสังคมทั้งหลาย เช่น ดารา นักร้อง นักการเมือง นักธุรกิจ (ถ้าคนธรรมดาโดนหมิ่นประมาทโลกจะไม่รู้เพราะไม่มีนักข่าวทำข่าว) และปัจจุบันก็มีแนวโน้มที่มากขึ้นด้วย เพราะหลายคนเข้าใจว่าการเป็นเงาอยู่หลังหน้าจอ การเป็นเกรียนหลังคีย์บอร์ดโดยใช้แอคเคาท์ปลอมไม่มีใครรู้ว่าเราเป็นใคร จะสนุกมากแค่ไหนก็ได้ไม่มีคนจับได้ และถ้าหากมีคนเห็นด้วยมาก ๆ ก็กลายเป็นคนดังขึ้นมาทันที ยิ่งทำให้ได้ใจเข้าไปใหญ่

บ้านเมืองมีขื่อมีแป ทำผิดก็ต้องรับโทษ

ในที่สุดก็ถึงจุดที่ “ดาราจะไม่ทน” ทนให้ใครที่ไหนก็ไม่รู้มาด่าว่าหยาบคายเสีย ๆ หาย ๆ ในโลกโซเชียล คนที่รู้จักกันไหม…ก็ไม่ สนิทกันไหม…ก็ไม่อีก แต่ถ้อยคำที่ใช้แสดงความคิดเห็นนั้นพูดราวกับไปอยู่ใต้เตียงบ้านเขา รู้ทุกอย่าง ชัดเจนทุกเรื่อง เรื่องจริงบ้างเท็จบ้างมโนเอาเองบ้างเต็มไปหมด

เรื่องดราม่าต่าง ๆ มักจะเริ่มต้นขึ้นโดยมี “สื่อ” เป็นตัวยุยงปลุกปั่น ตามมาซึ่งการโพสต์ประจานผ่านโซเชียลมีเดีย กฎหมายบัญญัติให้เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550

  • มาตรา 14 นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
  • หากเป็นการกระทําต่อบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ผู้กระทํา ผู้เผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ และให้เป็นความผิดอันยอมความได้
  • มาตรา 16 ผู้ใดนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ที่ประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ปรากฏเป็นภาพของผู้อื่น และภาพนั้นเป็นภาพที่เกิดจากการสร้างขึ้น ตัดต่อ เติม หรือดัดแปลงด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์หรือวิธีการอื่นใด โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง หรือได้รับความอับอาย ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกิน 3 ปี และปรับไม่เกิน 200,000 บาท
  • ถ้าเป็นเหตุให้บุคคลอื่นถึงแก่ความตาย ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 5-20 ปี และปรับตั้งแต่ 100,000-400,000 บาท

ดังนั้น โซเชียลมีเดีย ไม่ใช่ช่องทางที่เปิดขึ้นมาให้เราไปด่าใครได้ฟรี ๆ ถ้าคิดว่าเขาทำไม่ดี การต้องทนรับคำวิพากษ์วิจารณ์ ทนรับคำด่า เป็นราคาที่คนดังต้องจ่ายในฐานะคนของสังคม เพราะฉะนั้น การที่เราไปโพสต์ด่า ข่มขู่ คุกคาม หรือปั้นน้ำเป็นตัวใส่ร้ายเขาก็เป็นราคาที่เราต้องจ่ายเช่นกันหากเขาเอาผิดขึ้นมา เพราะในฐานะที่เขาก็เป็นเพียง “คนคนหนึ่ง” เขามีสิทธิ์ที่จะป้องกันตัวเองตามกฎหมาย

การทำให้บุคคลอื่นเสียหายในลักษณะประจานให้เสื่อมเสีย และได้รับผลกระทบทางด้านจิตใจ มีดารามากมายที่ทนไม่ไหวกับกรณีเช่นนี้ เขาไม่จบที่การฟ้องร้อง แต่เลือกที่จะจบชีวิตตัวเองแทน เราเองจะรู้สึกดีได้หรือว่าคำพูดคุณนั้นฆ่าคนตายได้ เราสะใจได้หรือกับหนึ่งชีวิตที่เสียไปเพราะการเป็นจำเลยสังคม กฎหมายอาจเอาผิดเราไม่ได้ แต่สิ่งที่อยู่ในใจไม่อาจลบล้างได้

จะฟ้องร้อง ต้องมีหลักฐานอะไรบ้าง

หากผู้เสียหายมีหลักฐานชัดเจน ก็มีสิทธิป้องกันตัวเองได้ตามกฎหมาย เพราะไม่ใช่ว่าบนโลกออนไลน์ทุกคนจะทำอะไรก็ได้โดยไม่รู้จักขอบเขต ไม่ว่าสิ่งที่นำมาโพสต์หรือด่าจะเป็นเรื่องจริงหรือไม่ก็ตาม

หลักฐานในการฟ้องร้องไม่ได้มีอะไรมากมาย เพียงแค่แคปหน้าจอด้วยโปรแกรมจับภาพหน้าจอ เพื่อถ่ายภาพส่วนที่เป็นข้อความหมิ่นประมาท เห็นครบทั้งชื่อแอคเคาท์ วัน เวลา ลักษณะข้อความ แม้จะเป็นแอคเคาท์หลุมก็สามารถตามตัวเจอได้ แต่ถ้าอยากให้หลักฐานมีความน่าเชื่อถือมากขึ้น ควรใช้โปรแกรมถ่ายภาพหน้าจอเป็นวิดีโอหรือใช้กล้องที่ถ่ายวิดีโอได้ บันทึกภาพในขั้นตอนการคลิกเปิดเข้าไปดูข้อความนั้น เพื่อที่จะลบข้อครหาว่าหลักฐานที่ได้มานั้นอาจเป็นภาพตัดต่อ (ป้องกันถูกกล่าวหาว่าสร้างหลักฐานเท็จ)

แน่นอนว่าการห้ามนินทาเป็นเรื่องที่ทำไม่ได้ โดยเฉพาะกับบุคคลที่มีชื่อเสียง เพราะทุกสิ่งทุกอย่างที่เขาทำอยู่ในความสนใจของสังคม แต่การนินทาว่าร้ายเขาผ่านสื่อสาธารณะก็ไม่ยุติธรรมสำหรับเขาเช่นกัน จะดีกว่าไหมถ้าเราจะนินทาเขาในใจ หรือมากสุดก็เหมือนพูดตุยกับคนบ้านข้าง ๆ ก็น่าจะเพียงพอแล้ว แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันว่าเห็นอย่างไร คุยกันเสร็จก็จบแยกย้าย

กรณีตัวอย่าง “ฟ้องร้อง” สะเทือนคีย์บอร์ด

กรณีศึกษาที่ทำให้สังคมลืมไม่ลง คงจะเป็นกรณีของนางเอกสาว “แมท ภีรนีย์ คงไทย” จากการเปิดตัวคบหากับ “สงกรานต์ เตชะณรงค์” อดีตสามีของ “แอฟ ทักษอร ภักดิ์สุขเจริญ” ทันทีที่มีข่าวออกมา ดาราสาวถูกโจมตีหนักมากจากชาวเน็ต โดยที่เรื่องดราม่าไม่จบง่าย ๆ ดาราสาวถูกระรานในโซเชียลมีเดียส่วนตัว เรื่องเรื้อรังยาวอยู่ประมาณ 2 ปี ทำให้ดาราสาวทนไม่ไหวอีกต่อไป ตั้งทนายและเดินหน้าฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย

ทันทีที่ยื่นเรื่องฟ้อง และมีหมายศาลไปส่งถึงหน้าบ้าน ชาวเน็ตจำนวนไม่น้อยที่ด่าเขาในโซเชียลส่งข้อความไปขอโทษ บางรายยอมขอโทษผ่านสื่อ ให้กราบก็ยอมเพื่อให้ถอนฟ้อง อ้างเหตุผลสารพัดให้เขาเห็นใจ แต่ดาราสาวก็เดินหน้าจนถึงที่สุด โดยเจ้าตัวอธิบายว่าที่ฟ้องเธอไม่ได้อยากได้เงิน แต่เธออยากจะสร้างบรรทัดฐานใหม่ให้กับคนในสังคม ไม่ใช่สักอยากจะพิมพ์ก็พิมพ์ อยากจะด่าอะไรก็ด่า ขอให้เสพข่าวอย่างมีสติ

“เจนี่ อัลภาชน์ ณ ป้อมเพชร” หรือ “เจนี่ เทียนโพธิ์สุวรรณ์” เป็นนักแสดงอีกหนึ่งคนที่มักจะถูกโจมตีจากชาวเน็ตเสมอไม่ว่าจะทำอะไรก็ตาม บางครั้งเจ้าตัวก็โดนบูลลี่ผ่านสื่อสาธารณะ ที่ผ่านมาดาราสาวอาจจะทนมาตลอด แต่หลังจากมีลูกสาว “น้องโนล่า” ก็ถึงจุดที่เจ้าตัวทนต่อไปไม่ไหวแล้ว ลูกสาวเธอถูกนำภาพและข้อความไปโจมตี ถูกคุกคาม ตัดต่อภาพ ทำให้เกิดความอับอาย จนต้องออกมาฟ้องร้องเอาผิดจริงจังกับชาวเน็ตที่ด่าไม่ยั้งคิด ตัวเธอเธอยอมได้ แต่กับลูก เธอไม่ยอม

อีกหนึ่งรายที่จะยกตัวอย่าง คือ “ไบร์ท วชิรวิชญ์ ชีวอารี” ในปีที่ผ่านมาถือเป็นปีของพระเอกหนุ่มคนนี้ แน่นอนว่าชื่อเสียงนำมาซึ่งความอยู่ยาก เริ่มที่จะมีคนขุดนู่นนั่นนี่ในอดีตของเจ้าตัวมาด่า ทั้งยังมีเรื่องประเด็นดราม่าที่เกิดขึ้นใหม่ จนเป็นที่มาของการด่าแบบไม่สนกฎหมาย จนในที่สุดต้นสังกัดก็ไม่ทนอีกต่อไป ตั้งทนายเข้าแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีกับชาวเน็ตที่เสพข่าวจนขาดสติ แล้วโพสต์ด่าจนเสื่อมเสียชื่อเสียง กระทบต่องานและชีวิตประจำวันของดาราหนุ่ม จนในที่สุดคู่กรณีต้องออกมาขอโทษ

จากกรณีตัวอย่างที่ยกมาให้เห็น จะเรียกว่าเป็นการ “เชือดไก่ให้ลิงดู” ก็คงไม่ผิด เพราะที่ผ่านมา ดาราหลายคนเงียบเพราะคิดว่าเดี๋ยวเรื่องก็จบ ไม่ก็คิดว่าการออกมาเรียกร้องความยุติธรรมให้ตนเองเหมือนการยอมรับว่าผิดจริง หรือคิดว่าคนอื่นอาจมองว่าเป็นการรังแกคนธรรมดา ทำให้มีชาวเน็ตจำนวนไม่น้อยได้ใจ คิดว่าดาราไม่เอาจริง แต่ไม่คิดว่าดาราก็เป็นคนเหมือนกัน จนเกิดเหตุการณ์ลักษณะดังกล่าวไม่จบสิ้น ซึ่งถ้าไม่มีกรณีตัวอย่างให้เห็น ก็คงไม่มีใครจำ

สิ่งหนึ่งที่เราควรพึงระวังไว้เสมอก็คือ “ดาราก็เป็นคน ทำไมเขาต้องทนถ้าถูกคุกคาม” ยิ่งกับเรื่องส่วนตัวของเขา ไม่ว่าจะจริงเท็จประการใด “ไม่ใช่หน้าที่เราชาวเน็ต” ต้องไปตามด่า ไปเดือดร้อนแทนใคร ตามโพสต์แซะนู่นนั่นนี่จนเขาเสียหาย ยิ่งการแสดงความคิดเห็นทั้งที่เราก็รับข่าวสารมาอีกต่อยิ่งไม่ควรทำ หากเขาทำผิดจริงดังข่าวลือ ก็ให้คนที่เขามีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรงจัดการ หน้าที่เราแค่ตามอ่านข่าวอยู่ห่าง ๆ ก็พอถ้าอยากรู้ แต่ถ้าอินจัดจนอยากด่าด่าในใจก็พอ

นี่จึงเป็นบทเรียนเตือนใจว่าก่อนจะพิมพ์ด่า บูลลี่ใคร (ไม่จำกัดแค่คนที่มีชื่อเสียง) อย่างน้อยก็ควรจะคิดบนพื้นฐานง่าย ๆ ว่า “ดาราเองก็เป็นคน มีสิทธิ์ไม่พอใจเหมือนกัน” เรื่องส่วนตัวเขาที่เรารู้ไปหรือด่าไปก็ไม่ได้มีประโยชน์อะไรกับชีวิตเรา ไม่ต้องอยากมีส่วนร่วมก็ได้ คุณอาจสนุกปาก ได้บริหารนิ้ว แต่คนที่โดนและครอบครัวของเขาคงไม่สนุกด้วย ลองคิดดูว่าถ้าเราโดนใครก็ไม่รู้ตามด่า เจอเข้ากับตัวเองเราก็คงไม่โอเค แล้วคนอื่นจะโอเคได้อย่างไร น่าจะพอให้ยับยั้งชั่งใจได้บ้าง

และข้อคิดเตือนใจสุดท้ายที่อยากให้เตือนใจตัวเองเสมอ ตอนที่ชวนกันสร้างข้อความตามด่าเขา อาจมีคนร่วมวงกับคุณนับร้อยนับพัน อบอุ่นราวกับเป็นครอบครัวเพราะมีเป้าหมายโจมตีคนคนเดียวกัน แต่เมื่อถึงเวลาที่เขาฟ้องเอาจริงขึ้นมา อาจมีเพียงคุณต้องสู้คดีอยู่เพียงลำพัง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook