รวมสิทธิประโยชน์เพื่อ “คนว่างงาน 2021” เซ่นพิษโควิด-19
ในความโชคร้ายยังมีความโชคดี เมื่อ “คนว่างงาน” ที่ได้รับผลกระทบอันสืบเนื่องจากสถานการณ์ COVID-19 (โควิด-19) ที่กลับมาระบาดระลอกใหม่จนเป็นเหตุให้ถูกเลิกจ้าง ยังได้รับความเหลียวแลจากภาครัฐ
เมื่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบ “กฎกระทรวงการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเนื่องจากเหตุสุดวิสัย อันเกิดจากการระบาดของโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ พ.ศ.2563” ตามที่กระทรวงแรงงานได้เสนอไป และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 19 ธ.ค.2563 ที่ผ่านมา
กฎกระทรวงดังกล่าวมีขึ้นเพื่อให้ผู้ประกันตนไม่สามารถทำงานได้ หรือนายจ้างไม่สามารถประกอบกิจการได้ตามปกติ มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานตามหลักเกณฑ์เงื่อนไข และอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวง
ได้รับสิทธิประโยชน์อย่างไร?
ในกรณีที่มีเหตุสุดวิสัยและหน่วยงานของรัฐสั่งปิดพื้นที่ เพื่อป้องกันการระบาดของโรคติดต่ออันตราย อันส่งผลให้ลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตนไม่ได้ทำงานและไม่ได้รับค่าจ้างในระหว่างนั้น
- ลูกจ้างมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างรายวัน ตามมติคณะกรรมการประกันสังคม หรือคิดเป็นค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 7,456 บาท (ร้อยละ 50 ของค่าจ้าง) จากฐานเงินเดือน 15,000 บาท
- โดยลูกจ้างมีสิทธิได้รับสิทธิประโยชน์ตลอดระยะเวลาที่สั่งปิดพื้นที่ ภายในระยะเวลา 1 ปีปฏิทิน และจะมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนดังกล่าวทุกครั้ง แต่รวมกันแล้วไม่เกิน 90 วัน
ใครมีสิทธิได้รับสิทธิประโยชน์ทดแทน?
ลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตน ไม่ว่าจะเป็นแรงงานสัญชาติไทย หรือแรงงานข้ามชาติมีสิทธิ์ได้รับสิทธิประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเนื่องจากเหตุสุดวิสัยอันเกิดจากโควิด-19 แต่มีเงื่อนไขดังต่อไปนี้
- ต้องจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือน
- การจ่ายเงินสมทบดังกล่าว ต้องอยู่ภายในระยะเวลา 15 เดือนก่อนการว่างงาน
ทั้งนี้ กรณีเป็นแรงงานข้ามชาติ หรือแรงงานต่างด้าว จะต้องมีการตรวจสอบใบอนุญาตทำงานว่ามีการขออนุญาตถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ หากตรวจสอบแล้วพบว่าเป็นแรงงานเถื่อน นอกจากจะไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ทดแทนดังกล่าวแล้ว จะถูกส่งตัวไปดำเนินคดีต่อด้วย
เบื้องต้นจากการประเมินสถานการณ์ของกระทรวงแรงงาน คาดว่ามีจังหวัดที่ได้รับผลกระทบ รวม 8 จังหวัด ได้แก่ สมุทรสาคร สมุทรปราการ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี นครปฐม ราชบุรี และสมุทรสงคราม รวมกันแล้วประมาณ 5.7 ล้านคน คิดเป็นเงินกว่า 5,225 ล้านบาท
สิทธิประโยชน์สำหรับ “คนว่างงาน” กรณี“ลาออกโดยสมัครใจ”
แม้ว่าไม่ได้ตกงานเพราะผู้ประกอบการเลิกจ้าง แต่สถานการณ์บีบบังคับให้จำเป็นต้องลาออกเองโดยสมัครใจ หรือสิ้นสุดสัญญาจ้างพอดี ก็ยังมีสิทธิประโยชน์ให้กับคนว่างงาน 2021 ด้วยเช่นกัน
- ได้รับเงินทดแทนว่างงานไม่เกินปีละ 90 วัน ในอัตรา 30 เปอร์เซ็นต์ของค่าจ้างเฉลี่ย (คิดจากฐานเงินสมทบขั้นต่ำ 1,650 บาท/เดือน และฐานเงินสมทบสูงสุด 15,000 บาท/เดือน)
แต่ผู้มีสิทธิได้รับเงินทดแทนว่างงานดังกล่าว ต้องขึ้นทะเบียนว่างงานที่เว็บไซต์ของ กรมการจัดหางาน ภายใน 30 วันหลังออกจากงาน และเป็นผู้ประกันตนตามเงื่อนไขดังต่อไปนี้ - ต้องจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือน
- การจ่ายเงินสมทบดังกล่าว ต้องอยู่ภายในระยะเวลา 15 เดือนก่อนการว่างงาน และว่างงานตั้งแต่ 8 วันขึ้นไป
สิทธิประโยชน์สำหรับคนตกงาน ผู้ประกันตนมาตรา 39
สำหรับคนว่างงานที่ยังไม่สามารถหางานใหม่ได้ แต่ต้องการอยู่ในระบบประกันสังคมต่อไป โดยสมัครเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ภายในระยะเวลา 6 เดือนนับจากวันที่ลาออกจากงาน ก็มีสิทธิประโยชน์ในปีใหม่นี้ด้วยเช่นกัน
- ส่งเงินเข้าสมทบกองทุน เพียง 278 บาท (จากเดิม 432 บาท) เป็นเวลา 3 เดือน ระหว่าง ม.ค.-มี.ค 2564
- ยังได้รับความคุ้มครองใน 6 กรณี ได้แก่ กรณีเจ็บป่วย/อุบัติเหตุ ทุพพลภาพ เสียชีวิต คลอดบุตร สงเคราะห์บุตร และกรณีชราภาพ
ส่วนคนที่ไม่แน่ใจว่าควรอยู่ในระบบประกันสังคมต่อไปหรือไม่ และประกันสังคมมาตราต่าง ๆ แตกต่างกันอย่างไร หรือจะย้ายไปทำบัตรทองดี