ดรอปเรียน ทางเลือกหรือทางออก? ไม่ใช่เด็กทุกคนที่พร้อม “เสียเวลา”
นาทีนี้คงไม่มีใครกล้าพูดได้เต็มปากเต็มคำว่าตนเองไม่เดือดร้อนเพราะ COVID-19 ทุกคนต่างได้ผลกระทบทั่วถึงกันหมดไม่มากก็น้อย ขนาดคนมีเงินที่ปกติช่วงปีใหม่สามารถเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศได้ แต่ตอนนี้ก็ไม่สามารถทำได้ จะเที่ยวในประเทศยังต้องคิดแล้วคิดอีก เพราะหากติดเชื้อขึ้นมาเพื่อแลกกับการได้เที่ยวคงจะไม่ค่อยคุ้มเท่าไร
เช่นเดียวกันกับนักเรียน/นักศึกษาทั่วโลกที่ได้รับผลกระทบไม่ต่างกัน โรคระบาดที่รุนแรงทำให้สถานศึกษาต้องหยุดทำการเรียนการสอน แม้ว่าบางที่มีการเรียนการสอนผ่านออนไลน์ได้ก็ตาม แต่ก็ไม่ได้ตอบโจทย์กับเด็กทุกคน เพราะหากมองเรื่องนี้ให้กว้างจริง ๆ ต้องไม่ลืมว่าในโลกไม่ได้มีแค่สถานศึกษาใหญ่ ๆ หรือเด็กที่อาศัยอยู่ตามเมืองใหญ่เท่านั้น เด็กหลายคนเป็นเด็กต่างจังหวัด เด็กหลายคนอยู่ในถิ่นทุรกันดาร ซึ่งเขาก็ต้องเรียนหนังสือเหมือนกัน ลำพังการไปโรงเรียนเด็กก็ได้รับโอกาสไม่เท่ากันอยู่แล้ว การเรียนออนไลน์ยิ่งไม่ต้องพูดถึง
พูดง่าย ๆ ก็คือ ไม่ใช่ทุกที่ที่เทคโนโลยีเข้าถึง แต่เด็กมีอยู่ทุกที่ ทำให้บางสถานศึกษาต้องหยุดทำการเรียนการสอนไปเลย ด้วยความไม่พร้อมหรือปัจจัยที่ไม่เอื้อให้เด็กเรียนออนไลน์ ดังนั้น การเรียนการสอนแบบออนไลน์ ไม่ใช่สิ่งที่นักเรียน/นักศึกษาทุกคนจะเข้าถึงได้
จนในโลกออนไลน์เริ่มมีการพูดถึงว่า ถ้าจะต้องเรียน ๆ หยุด ๆ แบบนี้ “การดรอปเรียน หรือยุติการเรียนการสอนทั้งหมดเลย 1 ปีการศึกษา” เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจหรือทำได้จริงหรือไม่?
เพราะเหตุใดจึงมีความเห็นกันเช่นนี้
ใครที่มีโอกาสเข้าโลกออนไลน์ น่าจะเห็นผ่าน ๆ ตามาบ้าง ไม่ตามทวิตเตอร์ที่มี #Dek63 หรือ #Dek64 หรือ#เรียนออนไลน์ ขึ้นเทรนด์ในประเทศ ก็ตามสเตตัสในเฟซบุ๊กที่มีเด็ก ๆ บ่นกันระงมถึงเรื่องเรียนออนไลน์ เพราะการเรียนการสอนแบบออนไลน์มันมีข้อจำกัดของมันอยู่ ซึ่งข้อจำกัดเหล่านั้นไม่ได้ใช้เวลาวันหรือสองวันในการลดช่องว่าง ขณะเดียวกันชีวิตของเด็กทุกคนต้องดำเนินไปทุกวัน
เด็กหลายคนเรียนออนไลน์ไม่รู้เรื่อง หรือสภาพแวดล้อมบ้านของเด็กหลายคนไม่ได้เอื้อต่อการเรียน และไม่ใช่เด็กทุกคนที่จะเข้าถึงระบบการเรียนออนไลน์ เพราะการเรียนออนไลน์มีต้นทุน เด็กไม่สามารถเรียนออนไลน์ได้หากไม่มีอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ไม่มีอินเทอร์เน็ต หรือไม่มีไฟฟ้า
ฉะนั้น การเรียนออนไลน์ไม่ตอบโจทย์กับนักเรียนทุกคน จริงอยู่ว่านี่เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่ทำได้ดีที่สุดในช่วงเวลานี้ แต่การเรียนออนไลน์ทำให้การเรียนของเด็กไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วยเท่ากับการนั่งในห้องเรียน นักเรียน/นักศึกษาหลายคนต้องใช้เวลามากกว่าเดิมในการเรียนรู้และพัฒนาทักษะตามที่ควรจะเป็นจากการศึกษาปกติ เป็นต้นว่า หากทุกอย่างเป็นปกติ เวลานี้ฉันควรจะต้องเรียนจบมหาวิทยาลัยและเริ่มหางานทำ แต่พอหันกลับมา พวกเขาไม่สามารถไปโรงเรียนได้ และหลายคนไม่สามารถเรียนได้ด้วยซ้ำ ทั้งที่อยู่ในชั้นปีเดียวกันแต่ต่างสถานที่กัน
การที่ไม่สามารถไปเรียน หรือไม่มีโอกาสเรียนออนไลน์ เด็กหลายคนสูญเสียโอกาสสำคัญในการพัฒนาการเรียนรู้ รวมถึงการเข้าสังคมตามช่วงวัยของพวกเขา ลองนึกสภาพที่ผู้ใหญ่อย่างเรานั่ง Work from Home ทั้งวันและทุกวัน (ที่ทำงาน) เรายังรู้สึกเครียด แล้วกับเด็กที่เป็นวัยเข้าสังคม วัยสนุกสนาน เด็กเล็กเล่นกับเพื่อนฝูง เด็กโตก็ไปเที่ยวกับเพื่อนกลุ่มเดียวกันหลังเลิกเรียน ถูกจำกัดให้นั่งอยู่หน้าจอ ไม่ได้เจอเพื่อน ไม่ได้มีปฏิสัมพันธ์กับเด็กวัยเดียวกัน ก็รู้สึกแย่ไม่ต่างกับเรา
ขณะเดียวกัน เงิน เป็นปัจจัยของการศึกษา COVID-19 ทำให้หลายครอบครัวประสบปัญหาด้านการเงิน การขาดรายได้ การตกงาน การเป็นหนี้เป็นสินที่ส่งบุตรหลานเรียนก่อนหน้านี้ เท่ากับขาดงบสนับสนุนการศึกษาของเด็กด้วย ปัญหาที่ตามมาอีกคือ ถ้าผู้ปกครองไม่มีเงินจ่ายค่าเทอม (หรือจะเรียกว่าค่าสนับสนุนการศึกษาก็ตามแต่) ยากที่เด็กจะได้เรียนต่อ เด็กหลายคนอาจถูกบีบออกจากระบบการศึกษา หรือไม่ได้รับการศึกษาในระดับที่สูงพอต่อการมีงานทำ และเสียงสะท้อนจากเด็กบางคนก็มองว่าไม่คุ้มกับค่าเทอมที่เสียไป
หรือหากไปโฟกัสที่เด็กโต เด็กเตรียมเข้ามหาวิทยาลัย รวมถึงเด็กที่เตรียมจบการศึกษา การที่พวกเขาไม่สามารถเรียนได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ รวมถึงขาดปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น ซึ่งเป็น EQ ที่จำเป็นต้องมีในสังคมการทำงาน พวกเขาก็ขาดโอกาสสำหรับบริษัทที่มองหาทักษะลักษณะนี้จากคนหางาน
รวมถึงไม่ใช่ทุกวิชาที่จะเรียนออนไลน์ได้โดยไม่มีข้อจำกัด นักศึกษาระดับมหาวิทยาลัยในคณะที่มีวิชาภาคปฏิบัติ เช่น แพทย์ นักศึกษาแพทย์ไม่สามารถหยิบมีดมาผ่าอาจารย์ใหญ่ได้สำหรับการเรียนออนไลน์ การที่นักศึกษาแพทย์ไม่ได้ฝึกปฏิบัติ ก็จบออกมารักษาคนไข้ไม่ได้ เท่ากับเราก็ขาดแพทย์จบใหม่ที่เตรียมผลิตสู่ระบบแรงงานด้วยเช่นกัน หรือการเรียนสายอาชีพ การเรียนวิชาเฉพาะทางด้านวิศวกรรม วิชาที่ต้องลงมือปฏิบัติฝึกฝนทักษะ ถ้าดูแต่วิดีโอแต่ไม่ได้แตะชิ้นงานจริง ๆ เลย โอกาสที่เด็กจะไปต่อได้มีมากน้อยแค่ไหน
จากเหตุผลทั้งหมดทั้งมวล การเรียนออนไลน์ไปไม่ได้ช่วยให้เด็กทุกคนได้เรียนอย่างมีประสิทธิภาพ แต่เหตุการณ์ก็ไม่ได้เอื้อให้เด็กได้ไปเรียน การดรอปเรียนจึงพอจะเป็นทางเลือกหนึ่ง หยุดทุกอย่างไว้ก่อนแล้วเริ่มต้นนับหนึ่งกันใหม่เมื่อสถานการณ์กลับมาเป็นปกติ เพื่อให้ทุกอย่างที่เด็กจะเสียไปจากการนั่งเรียนอยู่กับบ้านกลับมาได้รับเป็นปกติ ทั้งประสิทธิภาพในการเรียน สังคม เพื่อนฝูง แต่นี่คงไม่ใช่ทางออก เพราะเด็กบางคนจะเสียเวลาไปเปล่า ๆ หนึ่งปีไม่ได้
เด็กไม่ได้พร้อมจะ “เสียเวลา” กันทุกคน
องค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ หรือยูนิเซฟ (UNICEF) ระบุว่า ยิ่งเด็กอยู่นอกโรงเรียนนานเท่าไร โอกาสที่จะกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาก็ยิ่งน้อยลงเท่านั้น คาดว่าเด็กมากถึง 24 ล้านคนจะหมดโอกาสได้รับการศึกษาในระบบอย่างถาวร
ไม่ต้องมองไกลตัวมาก อย่างเด็กมัธยมปีสุดท้ายที่เตรียมเข้ามหาวิทยาลัย (ม.6) การไม่ได้เรียนในสิ่งที่ควรเรียน หรือไม่ได้สอบในสิ่งที่ต้องสอบ โดยที่ระบบการเรียนการสอนในบ้านเราไม่ได้สนับสนุนการเรียนรู้นอกห้องเรียนมาก่อน นั่นหมายความว่าเด็กจำเป็นต้องใช้ตำราเรียนเป็นบันไดสำหรับการเรียนจบและการมีงานทำ
เด็กบางคนหาเงินเรียน เงินที่หาไว้เพื่อการศึกษาในอนาคตถูกนำมาใช้เพื่อการดำรงชีวิตในช่วง 1 ปีที่หยุดเรียน จะหางานทำเพื่อหาเงินเพิ่มก็ทำได้ยากเพราะไม่มีวุฒิการศึกษา (ม.6 ก็ยังไม่จบเพราะเรียนได้เพียงเทอมเดียว) งานที่ไม่ใช้วุฒิการศึกษาก็หายหมดเพราะเทคโนโลยีเข้ามาแทนที่ รวมถึงคนก็แย่งกันหางานทำ อัตราการว่างงานยิ่งสูงมากขึ้น
ปัญหาเศรษฐกิจยิ่งทำให้หางานยาก หลายธุรกิจปิดตัวลง อย่างใครจะคิดว่าจะได้เห็นนักบิน แอร์โฮสเตสตกงาน สายการบินขาดทุนย่อยยับจนต้องเลิกกิจการ หลายต้องยอมรับค่าจ้างที่น้อยลงแลกกับการไม่ตกงาน ทั้งที่ค่าใช้จ่ายเท่าเดิมหรือมากขึ้น บางสายงานหายไป มีสายงานใหม่เกิดขึ้นมาแทนที่ การจ้างงานลดลง ยิ่งเหมือนเป็นทางตันของเด็กยุคนี้ ชีวิตพวกเขายังต้องเดินต่อทุกวัน แต่การปรับตัวก็ต้องใช้เวลา ในเมื่อเด็กยังไม่คุ้นเคย จบออกมาแล้วโอกาสที่จะ “เตะฝุ่น” ก็มีมากขึ้น
ถ้าจะว่ากันตามจริง ต่อให้เด็กจบกันมาตามปกติ ก็ไม่ได้หางานทำได้ง่าย ๆ ปัญหาใหญ่ (มาก) สำหรับเด็กจบใหม่ที่ไม่พูดถึงไม่ได้ คือเรื่องสถาบันการศึกษาที่จบและเกรดเฉลี่ยที่เป็นตัวชี้วัดในการมีงานทำ นี่เป็นเรื่องจริงที่ “คุณจบจากที่ไหน” “คุณมีเกรดเฉลี่ยเท่าไร” และ “คุณมีเกียรตินิยมไหม” โอกาสได้งานคุณจะสูงกว่าเด็กที่จบรุ่นเดียวกัน ก็ย้อนกลับไปที่การเรียนออนไลน์ ถ้าเด็กได้รับการศึกษาที่ไม่มีประสิทธิภาพมากพอ (และไม่ใช่ว่าเด็กไม่ขวนขวาย) ผลการศึกษาไม่ได้เป็นไปตามหวัง เด็กหลายคนก็ไม่มีอะไรไปต่อรองการมีงานทำ
การดรอปเรียนจึงเป็นแค่ทางเลือกไม่ใช่ทางออก
การเสียเวลา 1 ปีการศึกษา หรืออาจนานกว่านั้น ก็ยังไม่มีใครประเมินสถานการณ์ได้อย่างแม่นยำ เด็กเหล่านี้ต้องสูญเสียโอกาสในการสร้างรายได้ในอนาคต เสียเวลาที่จะมีงานทำไปอย่างน้อย 1 ปี ที่ต้องบอกว่าอย่างน้อย 1 ปี เพราะยังไม่นับรวมโอกาสที่เด็กจบใหม่จะว่างงานยาวจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นด้วย
รายงานจากธนาคารโลก (World Bank) ระบุว่าการปิดโรงเรียนเนื่องจากโรคระบาด นักเรียนกว่า 1.6 พันล้านคนต้องออกจากโรงเรียน (ตัวเลขสูงสุดในเดือนเมษายน ปี 2020) ตามมาด้วยภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่ทำให้เด็กจบใหม่สูญเสียรายได้ที่เขาควรจะหาได้หลังจากเรียนจบกว่า 10 ล้านล้านดอลลาร์ นี่คือตัวเลขมูลค่าความเสียหายที่นักเรียน/นักศึกษายุค COVID-19 ได้รับผลกระทบ
ระยะเวลา 1 ปีที่เด็กจะไม่ได้เรียนหากมีนโยบายให้ดรอปขึ้นมาจริง ๆ เด็กบางคนยังพึ่งผู้ปกครองได้ แต่กับเด็กบางคน…ไม่ พวกเขาต้องรีบเรียนให้จบ รีบมีวุฒิการศึกษา รีบหางานทำ รีบมีเงินเดือน ก่อนที่จะอดตาย ข้อจำกัดนี้ทำให้เห็นว่า การดรอปเรียนก็มีแค่เด็กที่มีปัจจัยเอื้อเท่านั้นที่จะเสียเวลาได้
แน่นอนว่าเมื่อเกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้ขึ้นมา การย่ำอยู่กับที่ไม่ช่วยอะไร เราต่างก็ต้องค่อย ๆ ปรับตัว แต่การเปลี่ยนแปลงต้องใช้เวลา กลายเป็นว่าเด็กยุคนี้เป็นหนูทดลองโดยไม่ทันตั้งตัว และผู้ใหญ่ก็ไม่ได้เตรียมตัวทดลองใด ๆ ทั้งสิ้นก่อนหน้านี้ ทุกอย่างเกิดขึ้นปุบปับ เด็กรู้แค่ว่าจะต้องหยุด 1 เดือน หรือเรียนที่บ้าน 1 เดือน แล้วทุกอย่างก็หยุดอยู่แค่ตรงนี้
ดังนั้นการฟังความคิดเห็น หรือฟังปัญหาจากเด็กที่กำลังเรียนและเผชิญปัญหาจริง ๆ อยู่ในขณะนี้ น่าจะดีกว่าการที่ผู้ใหญ่ออกมาตัดสินเองว่าเด็กต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้ หรือเด็กควรต้องปรับตัว เพราะนี่ไม่ใช่แนวทางแก้ปัญหาที่ใช้เวลาแค่ 1 เดือนแล้วจะปรับตัวกันได้ทัน และหากจะยุติการเรียนการสอนทั้งหมดไปเลย 1 ปีการศึกษา เด็กหลายคนก็ไม่มีเวลามากขนาดนั้นที่จะยอมเสียเวลาได้ 1 ปี