ทำไมบางคนถึงฟังเพลงเดิมซ้ำ ๆ ได้เป็นเดือนเป็นปี

ทำไมบางคนถึงฟังเพลงเดิมซ้ำ ๆ ได้เป็นเดือนเป็นปี

ทำไมบางคนถึงฟังเพลงเดิมซ้ำ ๆ ได้เป็นเดือนเป็นปี
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

สำหรับมนุษย์แล้ว การมี “เพลงโปรด” ไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกเท่าไร โดยที่เพลงโปรดเหล่านั้นเราจะสร้างเป็น playlist ส่วนตัว เพื่อรวบรวมเพลงที่ชอบเอาไว้ทั้งหมดในที่เดียว แต่…จะมีเพียงไม่กี่เพลงที่เป็นมากกว่าเพลงโปรด เพราะเป็นเพลงที่เราจะตะบี้ตะบันฟังซ้ำ ๆ นับร้อยนับพันรอบ ถามว่าเพราะชอบมากกว่าเพลงอื่น ๆ เหรอ? ก็มีส่วน แต่ไม่ใช่ทั้งหมด

แล้วเราเปิดเพลงนั้นฟังซ้ำมากขนาดไหน บางคนก็ไม่รู้ตัวหรอกว่าเปิดเพลงเพลงเดียววนไปแล้วกี่รอบ เพราะตั้งให้ repeat อัตโนมัติ ฟังอยู่เพลงเดียวนี้มานานเท่าไรแล้ว บางคนอาจฟังมาเป็นเดือน จนตอนนี้ก็ยังฟังอยู่ หนักกว่านั้น บางคนฟังอยู่เพลงเดียวเป็นปี ๆ ก็ยังไม่เบื่ออีกเหมือนเคย คือถ้าเป็นเพลงภาษาอื่นที่ไม่ใช่ภาษาไทย ก็คือฟังจนร้องได้ แถมยังเลียนสำเนียงได้เป๊ะด้วย จากที่ไม่รู้ความหมายก็ไปหาความหมายมา (แล้วตอนฟังก็อินกว่าเดิม) รู้หรือเปล่า ว่านี่ไม่ใช่แค่เรารู้สึกถูกจริตกับเพลงนั้นหรอก ถึงได้เปิดฟังเป็นสิบเป็นร้อยรอบขนาดนั้น

การที่บางคนตั้งให้เพลงใดเพลงหนึ่งเล่นแบบ repeat อัตโนมัติ หรือเวลาจะเปิดเพลงฟังก็เลื่อนหาเพลงนี้ก่อน หรือเวลาที่เพลงมันเปลี่ยนเองอัตโนมัติในบางแอปพลิเคชัน หลังโฆษณา (คนที่ไม่ได้สมัคร vip) เพลงจะเปลี่ยน ไม่ว่าจะทำอะไรอยู่ ก็จะว่างเสมอเพื่อกดวนกลับมาฟังเพลงเดิม อะไรที่มีผลให้เราผูกพันกับเพลงเพลงนั้นถึงขนาดที่ไม่สามารถมูฟออนไปไหนได้

ศาสตราจารย์ Alice Honig นักวิจัยพัฒนาการเด็กและพฤติกรรมมนุษย์ แห่งมหาวิทยาลัยซีราคิวส์ สหรัฐอเมริกา ได้กล่าวไว้อย่างน่าสนใจว่า การที่เราเปิดเพลงเดิมวนฟังซ้ำ ๆ แบบไม่เบื่อง่าย ๆ นั้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเพลงที่เราเปิดดันมีความเกี่ยวข้องหรือสะท้อนตัวเรา ณ ขณะนั้น หรือเรียกง่าย ๆ ก็คือ “อิน” หลายคนอินแค่ช่วงระยะเวลาสั้นในตอนนั้น แต่บางคนก็อินยาว เพราะไปรวมเข้ากับความรู้สึกชอบส่วนตัว

เนื่องจากเพลงเพลงนั้นอาจไปสะกิดโดนต่อมความทรงจำและความรู้สึกเข้า มันจึงทำให้เรานึกถึงช่วงชีวิตที่ผ่านมา ช่วงที่มีความสุข หรือช่วงที่เจ็บปวด (แผลสด) ที่เรายังคงยึดติดอยู่ จึงได้เปิดมันฟังซ้ำ ๆ เอาให้เจ็บใจเจียนตายกันไปข้าง

นี่ช่วยอธิบายว่าทำไมเวลาที่เราอกหัก เราถึงได้โหยหาจะฟังแต่เพลงเศร้า ๆ พวกเพลงที่มีเนื้อหาเจ็บปวดจากการอกหัก แต่จะมีอยู่ 1 เพลงที่อินมากเป็นพิเศษ คือ เพลงที่จี้ใจดำเข้าอย่างจัง เช่น ถ้าเลิกกับแฟนเพราะถูกนอกใจ เพลงที่ฟังวนไปมาก็จะเป็นเพลงที่มีความหมายในเชิงถูกนอกใจเช่นเดียวกัน

โดยที่เนื้อเพลง ความหมายเพลง หรือแม้แต่ทำนองเพลงมันสะท้อนอารมณ์ของเรา ณ ขณะนั้น ขณะที่เรากำลังฟังเพลงนั้นอยู่ เราอาจจะยังไม่ได้ขาดสติจนเหม่อลอยเสียทีเดียว ระหว่างที่ฟัง สมองยังคิดตาม หัวใจยังเจ็บปวดตามในทุกท่วงทำนอง ยิ่งตอกย้ำให้ตัวเองเจ็บกว่าเดิม แต่พอถึงจุดหนึ่ง เราจะเริ่มรู้สึกว่าคงมีคนอีกอย่างน้อย 1 คนที่กำลังถูกนอกใจเหมือนเรา และอาจจะกำลังฟังเพลงนี้เหมือนกันกับเราอยู่ก็ได้ หมายความว่า เขาก็อาจกำลังเผชิญสถานการณ์ที่ยากลำบากนี้อยู่เหมือนกัน แชร์ความรู้สึกกันไปอย่างเข้าอกเข้าใจกัน

ในทางตรงกันข้าม ลองมานึกถึงเพลงรักกันบ้าง อาจเป็นรักแบบที่เกิดจากการไปตกหลุมรักใครสักคน หรือเป็นรักประเภทที่ติดอยู่ในจิตใต้สำนึก ถึงจะไม่ได้ปิ๊งใครอยู่ตอนนั้น แต่ด้วยชีวิตที่มีความสุขดี ก็รู้สึกอินกับเพลงรักได้ เพลงรัก 2 แบบ คือ ฟังระหว่างตกหลุมรัก กับฟังระหว่างมีความสุขก็ต่างกันอีก ลองพิจารณา

เพลงรักที่เราฟังเพราะไปตกหลุมรักใครบางคนเข้า จะมีเนื้อหาไปในความหมายว่าเธอทำให้ฉันรู้สึกดี เธอทำให้ฉันชอบเธอ เธอทำให้ใจฉันเต้นแรง เธอทำให้ฉันมีความสุข ส่วนจังหวะและทำนองก็ทำให้รู้สึกเหมือนกำลังกระโดดโลดเต้นอยู่ในสวนดอกไม้สีชมพู

แต่ถ้าเป็นเพลงรักที่ติดเพราะกำลังอารมณ์ดี ก็ไม่จำเป็นต้องเป็นเพลงรักที่สื่อความหมายว่ากำลังอยู่ในห้วงแห่งความรัก ไม่จำเป็นว่าพอฟังแล้วพาลให้นึกถึงใครบางคน แต่เป็นเพลงรักที่ให้ความหมายรักแบบกว้าง ๆ ทำให้โลกสวย ทำให้โลกนี้สดใส และก็หวังลึก ๆ ว่าฉันก็อยากจะมีความรักแบบนี้บ้างเหมือนกัน ยิ่งฟังก็ยิ่งอารมณ์ดี นั่งยิ้มนั่งเขินอยู่คนเดียวโดยที่ไม่ได้นึกถึงใครเป็นพิเศษ แค่ฟังเพลงนี้ก็มีความสุขได้

ไม่ว่าเราจะฟังเพลงใดเพลงหนึ่งซ้ำ ๆ เพราะอกหัก เพราะตกหลุมรัก หรือว่าเพราะมันโดนใจตั้งแต่ครั้งแรกที่ได้ฟัง สาเหตุมันเป็นเพราะ เราเสพติดความรู้สึกยามที่รู้สึกเมื่อฟังเพลง อยากให้ความรู้สึกนั้นยังอยู่กับเรา ไม่ก็ท่อนนั้นยิ่งฟังยิ่งโดน ชอบมาก ๆ เลยชอบฟังซ้ำ รวมถึงมันทำให้เรานึกถึงอะไรบางอย่างที่เราประสบพบเจอ

นอกจากนี้ ศาสตราจารย์ Alice Honig ยังได้กล่าวในอีกนัยหนึ่ง ว่าเพลงที่เราเปิดวนไปมาซ้ำแล้วซ้ำเล่านี้ มันช่วยเยียวยาความเจ็บปวดได้ จริงว่าที่เราเสพติดมันก็เพราะเราอิน แต่พอผ่านไปได้ระยะหนึ่ง ความรู้สึกเจ็บในเพลงมันทำให้เรารู้สึกว่าไม่ใช่เราคนเดียวเสียหน่อยที่ถูกทิ้ง ไม่ใช่เราคนเดียวที่กำลังทุกข์ทรมาน หลายคนสามารถตกผลึกความคิดบางอย่างได้จากการฟังเพลง แล้วก็พบว่าความหมายของเพลงมันช่วยแชร์เอาความเจ็บปวดในใจเราออกไปได้เหมือนกัน

ถึงแม้ว่าสาเหตุที่เราเปิดเพลงเดิมฟังซ้ำนี้จะยังไม่มีคำตอบในทางวิทยาศาสตร์ที่ชัดเจน แต่จะบอกว่ามันเป็นเหตุผลทางความรู้สึกก็ได้ ซึ่งก็เป็นพฤติกรรมปกติของมนุษย์ เพราะมนุษย์ก็ทำอะไรตามความรู้สึกอยู่แล้ว นั่นจึงแปลว่าเราก็คงจะมูฟออนจากเพลงนี้ไปไหนไม่ได้หากเรายังคงรู้สึก ถึงจะยังไม่หายแต่ก็เบาลงกว่าเดิม ทำให้เรายังคงเปิดเพลงเดิมฟังซ้ำ ๆ วนไป จนกว่าเราจะเบื่อมันไปเอง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook