เด็กจบใหม่ “ไร้งานทำ” เพราะทักษะไม่ตรงที่ตลาดต้องการ
บัณฑิตที่จบออกมาใหม่ทุกวันนี้ ยิ่งใหม่มากเท่าไรก็ยิ่งเจ็บมากเท่านั้น เพราะปัจจุบัน เด็กที่จบใหม่มีทักษะไม่ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน นี่ยังไม่นับรวมโรคระบาดที่ disrupt หลายต่อหลายธุรกิจ นั่นหมายถึงไม่ว่าจะนับรวมหรือไม่นับ การหางานของเด็กจบใหม่จำนวนมากก็หายากอยู่ดี นี่คือสาเหตุที่ว่า “ทำไมจบมาตั้งหลายเดือน (เป็นปี) แล้ว แต่ยังไม่มีงานทำ”
แล้วทักษะอะไรที่เด็กจบใหม่มีไม่ตรงกับความต้องการของตลาด มาดูกัน หากยังไม่สายเกินไปจะได้แก้ไขกันทัน
พวกที่เรียนแค่เอาวุฒิ จบป.ตรียังไงก็มีงานทำ
มีเด็กหลายคนที่คิดแบบนี้จริง ๆ เพราะเคยมองว่าคนที่ไม่มีงานทำคือคนที่การศึกษาต่ำ ซึ่งสถานการณ์ปัจจุบันมันไม่ใช่อีกต่อไปแล้ว ต่อให้จบป.เอก แต่บริษัทเขาไม่ได้ต้องการทักษะที่คุณมี เขามองหาคนทำงานตามลักษณะที่เขาอยากได้ ถ้าคุณไม่มีคุณก็ไม่มีงานทำ เพราะฉะนั้น จงลบความคิดว่าที่แค่เรียนให้ได้วุฒิป.ตรีมาไว้ใช้ยื่นสมัครงานก็พอแล้วไปเสียให้หมด ชีวิตไม่ได้ง่ายขนาดนั้น
แถมบางคนยังอวดภูมิว่าฉันจบตั้งป.ตรี ถ้าต้องทำงานแบบนี้ฉันจะเรียนจบสูงไปทำไม โดยที่บางคนไม่ได้ประเมินความรู้ความสามารถของตนเองก่อนเลยด้วย ว่ามากพอจะต่อรองหรือเรียกร้องอะไรไหม ซึ่งถ้าเลือกงานเบอร์นี้ ก็คงได้ว่างงานไปยาว ๆ แน่นอน
ที่สำคัญ โลกยุคปัจจุบัน มีสายงานส่วนหนึ่งหายไป ทำให้เด็กที่เรียนในคณะที่ไม่ได้เน้นอาชีพเฉพาะด้านโดยตรง หางานทำได้ยากขึ้นไปอีก หลายคนไม่ได้ตั้งใจเลือกคณะหรือสถาบันการศึกษาเพราะมองไปถึงอนาคต แต่เลือกเพราะแค่ให้มีที่เรียน มีที่ให้จบ จบมาแล้วได้วุฒิ เท่านั้น บางคนเลือกเรียนในสิ่งที่ตนเองชอบ โดยที่ลืมมองโลกความเป็นจริงว่าจะมีงานทำไหม โลกที่ขับเคลื่อนด้วยระบบทุนนิยม บางทีสิ่งที่ชอบก็ใช้หาเงินเลี้ยงชีวิตไม่ได้
ความสามารถไม่โดดเด่น
แปลให้เข้าใจง่าย ๆ ก็คือ “ไม่เก่งพอ” หรือ “มีคนที่เก่งกว่า” ต่อไป โลกใบนี้จะไม่มีที่ยืนสำหรับคนที่มีความสามารถระดับกลาง ๆ อีกต่อไป ในยุคที่การแข่งขันสูง ทุกสิ่งอย่างต้องแข่งกับเวลา แข่งกับคนอื่น แข่งกับตัวเอง เราไม่สามารถเอาตัวรอดได้ถ้าไม่โดดเด่นหรือแกร่งมากพอ
เนื่องจากแต่ละองค์กรต้องการพนักงานที่ไม่เหมือนกัน และมักจะเจาะจงไปที่ความสามารถเฉพาะด้านมากขึ้นกว่าเดิม คนที่ความสามารถอยู่ในระดับกลาง ๆ บางคนถูกตัดออกเพราะองค์กรมีตัวเลือกที่ดีกว่า ฉะนั้น วัยเรียนทุกคนคงต้องเริ่มตระหนักให้มากขึ้นแล้วว่าอาชีพในฝันของเราต้องการคนที่มีความเชี่ยวชาญด้านไหนเป็นพิเศษ และต้องเก่งขนาดไหนถึงจะสู้คู่แข่งได้ จะได้พัฒนาตัวเองให้ถูกทาง ถ้าอยากเหนือกว่าคนอื่นที่จบพร้อมกับเรา ก็คงต้องมาตั้งเป้าหมายกันใหม่ และพยายามพัฒนาตัวเองให้แกร่งมากพอจะลงสู่สนาม
ไม่รู้เทรนด์เทคโนโลยี
ในตอนนี้ต่อให้เก่งแค่ไหน ก็ต้องรู้ว่าเทคโนโลยีหลาย ๆ อย่างเก่งกว่าเราไปแล้ว หลายสิ่งหลายอย่างที่ก่อนหน้านี้เราจินตนาการไม่ออกว่ามันจะมี มันก็มีแล้วและล้ำด้วย (เพราะคนที่พัฒนาเทคโนโลยีขึ้นมาก็เก่งกว่าเรา) จึงย่ามใจไม่ได้เลยว่าจะไม่ตกงานในอนาคตอันใกล้ คาดว่าอีกไม่เกิน 10 ปี (หรือ COVID-19 จะเร่งให้เร็วกว่านั้น) เทคโนโลยีจะเข้ามาทำงานแทนคนได้อย่างสมบูรณ์ ทำได้เกือบเท่าคน ทำได้ดีเท่าคน และทำได้ดีกว่าคน โดยเฉพาะสิ่งที่เรียกว่า AI หรือ IoT หรืออะไรก็ตามแต่ สิ่งเหล่านี้คือคู่แข่งสำคัญในศตวรรษที่ 21 คู่แข่งที่เราไม่รู้ว่ามันเก่งขนาดไหน
นี่จึงเป็นช่วงเวลาที่น่ากลัวมากว่าเราจะต้องทำอะไรสักอย่างกับชีวิต เพราะเทคโนโลยีไม่หยุดพัฒนาเพียงเท่านี้แน่ แค่แย่งงานกับคนกันเองโอกาสก็ริบหรี่มากพออยู่แล้ว ยังจะต้องมาแย่งงานกับเทคโนโลยีอีก แล้วสิ่งที่เทคโนโลยีได้เปรียบคนเราก็คือ พวกมันไม่มีปากมีเสียง ไม่งอแงตามอารมณ์เวลาทำงาน และไม่เรียกร้องให้ขึ้นเงินเดือน! หากองค์กรมีตัวเลือกที่ดีกว่าขนาดนี้ ทำไมเขาต้องเลือกคนมาทำงานด้วยล่ะ?
พื้นฐานการเรียนจากสถานศึกษาไม่ตอบโจทย์การทำงานจริง
ระบบการศึกษาในประเทศไทยยังเน้นเรื่องของการรู้ทฤษฎีและการท่องจำเป็นหลัก ยังไม่เน้นให้ลงมือปฏิบัติจริงเท่าที่ควร ทั้งยังไม่เน้นให้นักเรียนนักศึกษานำเอาทฤษฎีมาประยุกต์ใช้หรือบูรณาการให้เข้ากับการทำงาน ซึ่งตรงกันข้ามกับโลกการทำงานจริง ที่เขาไม่ได้เลือกพนักงานมาทดสอบว่าจำนู่นนั่นนี่ได้มากน้อยแค่ไหนแล้วท่องออกมา เขาต้องการคนที่ทำงานแล้วได้ผลงานที่จับต้องได้
หมายความว่า คุณต้องเอาทฤษฎีทั้งหมดที่เรียนมาตลอด 4 ปี (หรือมากกว่านั้น) มาประยุกต์ใช้ให้เข้ากับการทำงานงานจริง ทั้งยังต้องรู้จักบูรณาการกับสิ่งรอบตัวที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดทุกวินาที หากไม่อัปเกรดชีวิตให้ตัวเองเลย ก็ไม่ต่างอะไรกับการยืนอยู่กับที่ ในขณะที่องค์กรเดินไปข้างหน้า สุดท้ายเขาก็จะทิ้งคุณไว้ข้างหลัง ดังนั้น นักเรียนนักศึกษาที่กำลังศึกษาอยู่ ณ ขณะนี้จึงควรเตรียมตัวให้พร้อม ติดตามความเป็นไปในแวดวงอาชีพของตนเอง ว่าพอจะเอาความรู้ที่มีไปทำอะไรได้บ้าง เพื่อที่ตนเองจะได้มีคุณสมบัติตรงกับความต้องการขององค์กร
EQ ต่ำ
สถาบันการศึกษาส่วนมากจะสอนความรู้ด้าน Hard Skills หรือความรู้พวกหลักการ ทฤษฎีต่าง ๆ ที่เน้นให้เด็กท่องจำแล้วนำไปสอบ มากกว่าการฝึกให้คิดให้ทำ และทักษะทางสังคมก็มีอยู่น้อยนิด Soft Skills หรือ EQ ที่จำเป็นสำหรับการทำงานก็ต่ำลง เพราะเด็กบางคนต้องเรียนหนัก จึงไม่ได้เข้าสังคมกับคนอื่นมากเท่าที่ควร ซึ่งก็ขัดกับธรรมชาติในการเรียนรู้ของเด็กในช่วงวัยนั้น ๆ ด้วย พอถึงช่วงวัยทำงานจึงทำให้ในหัวมีแต่ทฤษฎี คิดวิเคราะห์ไม่เป็น ทำงานไม่เป็น แก้ปัญหาไม่ได้ ปรับตัวก็ยาก เข้ากับใครก็ไม่ได้ ไม่มีความคิดสร้างสรรค์ เป็นต้น
โดยทางองค์กรจะรู้ EQ ของผู้สมัครงานได้ส่วนหนึ่งจากประวัติการสมัครงาน และตอนที่เรียกสัมภาษณ์งาน ซึ่งหลายคนก็ไม่ได้ระมัดระวังหรือเตรียมตัวไม่พร้อมเท่าที่ควร จึงพลาดหลุดอะไรบางอย่างไป ก็เป็นเหตุผลที่ทำให้ตกรอบสัมภาษณ์ แต่ในคนที่เตรียมตัวมาดี พอได้เข้ามาทำงานจริง ๆ ก็อาจจะมีปัญหาดังที่กล่าวไว้ในย่อหน้าที่ผ่านมา ก็ไปต่อไม่ได้อีก พูดง่าย ๆ ก็คือองค์กรแทบจะใช้ประโยชน์อะไรจากตัวคุณไม่ได้เลย ในการที่ให้คุณเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของทีม หากองค์กรให้โอกาสรับเข้ามาในทีแรก แต่ในท้ายที่สุดก็อาจจะไปไม่รอดก็ได้
ไม่มีความรู้เฉพาะด้าน
เหมือนกับการไม่มีที่ยืนให้กับคนที่มีความรู้ความสามารถระดับกลาง ๆ นั่นเอง คนที่มีความสามารถแบบ “เป็ด” ก็อาจจะไม่รอดเหมือนกันสำหรับการทำงานในยุคนี้ ที่จริงแล้วการเป็นเป็ดไม่ได้ผิด แถมยังมีข้อดีด้วยซ้ำที่คุณสามารถทำอะไรได้หลาย ๆ อย่าง แต่อย่างน้อย คุณควรจะต้องเก่งอะไรสักด้านให้ชัดเจน ให้รู้ว่าถ้าจะทำงานนี้ มีคุณคนเดียวเท่านั้นที่ทำได้ ยิ่งไม่มีประสบการณ์การทำงาน ไม่เคยฝึกงาน ไม่เคยเป็นพนักงานพาร์ทไทม์ โอกาสก็น้อยกว่าคนที่เขามีส่วนนี้ในโปรไฟล์ เพราะคนเหล่านี้เคยเห็น เคยสัมผัสบรรยากาศการทำงานจริง ๆ แล้วว่าเป็นอย่างไร
นั่นหมายความว่าถ้าคุณยังไม่รู้ว่าตัวเองชอบหรือถนัดอะไรเป็นพิเศษ นี่คงไม่ใช่เวลาที่จะมามัวโอ้เอ้อีกแล้ว ในโลกของความเป็นจริง ทักษะที่ตลาดแรงงานต้องการมีการเปลี่ยนแปลงและอัปเดตอยู่ตลอดเวลา ทำให้นับวันงานยิ่งหายากขึ้นเรื่อย ๆ ถ้าคุณปล่อยให้คนอื่น ๆ เขาก็ล้ำหน้าไปกันหมด คุณจะไปแทรกตรงไหนได้ ส่วนใครที่รู้ตัวเองแล้ว ก็พยายามอัปเกรดตัวเองต่อไป และตั้งใจทำให้ดีขึ้น เพื่อที่เวลายื่นประวัติสมัครงานจะได้มีโปรไฟล์ว่าอย่างน้อยก็ยังมีความรู้เฉพาะในด้านนี้ ความรู้เฉพาะที่องค์กรหวังพึ่งจากคุณได้คนเดียวเท่านั้น
ไม่ขวนขวายพัฒนาตนเอง
ปัจจัยส่วนหนึ่งมาจากการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยที่เอื้อให้คนขี้เกียจมากขึ้น เด็กหลายคนเคยชินกับความสะดวกสบายเกินไปจนไม่คิดจะทำอะไรทั้งนั้นเมื่อมีเวลาว่าง ดูง่าย ๆ ขนาดช่วงสอบบางคนยังขี้เกียจอ่านหนังสือ ก็ไม่แปลกที่จะไม่ขวนขวายทำอะไรที่เป็นประโยชน์ จะทำเฉพาะสิ่งที่ถูกบังคับกลาย ๆ ว่าต้องทำเท่านั้น แต่รู้ไหมว่าในยุคนี้ตำแหน่งงานไม่มากพอจะให้คนที่หางานทุกคนได้งาน ในวินาทีหนึ่ง ๆ คุณมีคู่แข่งเป็นร้อยเป็นพันคน ทั้งยังมีเทคโนโลยีมาเป็นคู่แข่งอีก หากไม่พัฒนาตนเอง ส่อแววแพ้ตั้งแต่ยังไม่ได้ลงสนามเลยด้วยซ้ำ
นั่นหมายความว่า นักเรียนนักศึกษาคนไหนที่ยังช้าและไม่พยายามอัปเกรดทักษะความสามารถของตนเอง คุณก็จะไม่มีอาวุธอะไรไปสู้กับคนอื่นเขา โอกาสที่จะได้งานที่ตนเองชอบก็น้อยตาม คนที่เรียนอยู่ต้องเตรียมตัวตั้งแต่เนิ่น ๆ สำรวจดูว่าเทรนด์โลกและองค์กรต้องการคนทำงานที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านไหน เพื่อที่เราจะได้หาความรู้เพิ่มเติมมาเสริมคุณสมบัติของตัวเอง โดยความรู้เหล่านั้นมักเป็นความรู้ที่สถาบันการศึกษาไม่ได้สอน เราต้องหาความรู้นอกห้องเรียนเอง อย่างเทรนด์โลกดิจิทัล คือทักษะที่จำเป็นสำหรับสายงานหลายสายในยุคปัจจุบัน แล้วคุณทำอะไรได้บ้าง