ทำไมนะ ญาติผู้ใหญ่ถึงเชื่อข้อมูลปลอมออนไลน์มากกว่าเชื่อเรา
ทุกวันนี้เทคโนโลยีต่าง ๆ ที่ก้าวหน้าพัฒนาขึ้นอยู่เสมอ ได้เข้ามามีบทบาทในชีวิตของเรามากยิ่งขึ้น จนกลายเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่หลายคนขาดไม่ได้ไปเสียแล้ว
โดยเฉพาะ สมาร์ตโฟน ที่ตอนนี้แทบจะกลายเป็นอวัยวะส่วนที่ 33 ของเรากันแล้ว อย่าปฏิเสธเลยว่าไม่จริง เพราะเชื่อได้เลยว่าอยู่กับโทรศัพท์แทบทุกเวลา แม้กระทั่งตอนนั่งว่าง ๆ ก็ยังเป็นอันต้องหยิบขึ้นมาถูไถ ติดไม้อยู่มือตลอดไม่ห่างตัว ซึ่งสำหรับเด็ก ๆ หรือวัยรุ่นจนถึงวัยรุ่นตอนปลาย ก็คงจะเคยชินกันดี เพราะคนในช่วงวัยเหล่านี้เกิดและเติบโตมาพร้อม ๆ เทคโนโลยีอยู่แล้ว เรียกได้ว่าเป็นเพื่อนกันเลยก็ว่าได้
แต่ภาพที่ค่อนข้างไม่คุ้นตาของใครหลาย ๆ คนก็เห็นจะเป็นการที่ได้เห็น ผู้ใหญ่ในวัยสูงอายุ ถือสมาร์ตโฟนมานั่งเล่นไลน์ ส่งสติกเกอร์ ดู YouTube เนี่ยแหละ ประเด็นนั้นอยู่ตรงที่พอผู้ใหญ่ในวัยนี้ได้เรียนรู้การใช้สมาร์ตโฟนนั้นก็มักจะเพลิดเพลินจนถึงขั้นติดบางคนนั่งเล่นทุกเวลา ส่งไลน์หาลูกหลาน เช่น รูปดอกไม้สีตามวันพร้อมคำทักทายสั้น ๆ เหมือนกับว่าผู้ใหญ่คิดว่าการทำสิ่งเหล่านี้ เป็นบรรทัดฐานในการเล่นแชต
โดยเฉพาะเรื่องข่าวปลอมหรือเรื่องลวงหลอก ที่ฟอร์เวิร์ดต่อ ๆ กันทางกลุ่มไลน์ ที่หากมองเพียงผิวเผินคุณอาจจะเห็นว่ามันเป็นเพียงเรื่องเล็ก ๆ แต่ความเป็นจริงนั้นไม่ใช่เลย เพราะเหล่าญาติผู้ใหญ่ของเรามักจะเชื่อพวกข่าวปลอมและข้อมูลลวงหลอกนี้แบบเป็นตุเป็นตะ เชื่อว่าเรื่องจริง
ซึ่งหากดูภาพหรืออ่านข้อมูลเหล่านั้นแล้ว เราจะสามารถจับทางได้ง่าย ๆ เลยว่าไม่ใช่ของจริง เช่น ภาพที่ใช้รูปแบบความละเอียดต่ำ การวางตัวอักษรแบบขอไปที ข้อมูลบอกว่ามีผลวิจัยมั่ว ๆ พร้อมลงท้ายว่า ส่งต่อให้คนที่คุณรัก และแน่นอนลูกหลานอย่างเราต้องคอยรับข้อมูลแบบนี้จากญาติผู้ใหญ่อยู่ทุกเมื่อเชื่อวันเลยล่ะ
แล้วทำไมไม่เตือน หลายคนอาจจะถามแบบนี้ ซึ่งสำหรับใครที่เตือนแล้วพวกเขารับฟังเราก็ยินดีด้วย แต่มีอีกส่วนมากที่ผู้ใหญ่เหล่านี้ไม่รับฟัง หาว่าเราปีนเกลียวผู้ใหญ่ เป็นเด็กเป็นเล็กจะมารู้ดีกว่าผู้ใหญ่ได้ยังไง นั่นแหละ สุดท้ายก็ทำได้แค่เงียบเอาไว้ แล้วคิดในใจ “แล้วใครกันเป็นคนสอนพวกป้าเล่นไลน์ ถ้าไม่ใช่ลูกหลานอย่างหนู”
สาเหตุที่ข้อมูลลวงได้ผลกับผู้ใหญ่ ซึ่งหลังจากการนั่งหาเหตุผลคิดย้อนไปมา เราสามารถสรุปออกมาได้อย่างง่าย ๆ ว่า พวกท่านยังใหม่ต่อโลกอินเทอร์เน็ตอยู่มาก เมื่อเห็นข้อมูลอะไรผ่านตาพวกท่านก็ไม่ทันคิดว่าจะมีคนทำข่าวปลอมออกมาแชร์ อีกทั้งยังเป็นห่วงเป็นใยคนอื่น ๆ จึงมีการส่งต่อกันเป็นทอด ๆ ในกลุ่มไลน์
เปรียบเทียบกับพวกเรา ก็เหมือนช่วงที่เรายังเด็ก อ่อนต่อโลกและถูกชักจูงได้ง่าย ซึ่งลืมไปแล้วหรือเปล่าว่าในช่วงที่เราใช้อินเทอร์เน็ตกันในยุคแรก ๆ พวกเรายังหลงเชื่อข้อความลูกโซ่กันเลย จริงไหม? เช่น วิธีถอดจิตต้องทำหลังเที่ยงคืนบลาบลา หากได้อ่านแล้วใครไม่ส่งต่อจะมีอันเป็นไปในเร็ววัน เป็นต้น
ดังนั้น เราก็ควรให้โอกาสพวกท่านในการเรียนรู้โลกของอินเทอร์เน็ตให้มากขึ้นมากกว่าจะห้ามปราม ซึ่งหากเราเห็นข้อมูลอันใดที่ไม่เป็นความจริง เราก็หาทางออกแบบสร้างสรรค์ไปเลย เช่น หาความจริงเกี่ยวกับข้อมูลเหล่านั้นแล้วส่งกลับเข้าไปในแชตให้พวกท่านได้อ่าน หรือจะฝากบทความวิธีตรวจสอบข้อมูลข่าวลวงต่าง ๆ ที่ตอนนี้ก็มีให้เห็นกันทั่วไปก็ได้เหมือนกัน
เพราะอย่างน้อยการที่ผู้ใหญ่ได้ใช้อินเทอร์เน็ตก็ช่วยให้พวกท่านหายเหงาไปได้มาก และการที่พวกท่านได้พูดคุยกับมิตรสหายเก่า ๆ ได้ง่ายกว่าสมัยก่อน ได้เห็นหน้าหลาน ก็เป็นการช่วยให้จิตใจคนแก่กระชุ่มกระชวยขึ้นไม่มากก็น้อยไม่แก่บ้างให้มันรู้ไป