ไม่รู้ต้องรู้ “เอลนีโญ” หนึ่งในตัวการทำน้ำประปาเค็ม
สาเหตุที่น้ำประปาเค็มนั้น ต้นตอหลัก ๆ ไม่ใช่เรื่องเล็กเลย เพราะการที่ประเทศไทยเผชิญกับสภาพอากาศที่แห้งแล้งอย่างหนักไม่ใช่เรื่องปกติ มันมีต้นสายปลายเหตุ
ภูมิอากาศของประเทศไทย
พิกัดตามภูมิศาสตร์ของประเทศไทย ตั้งอยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เหนือเส้นศูนย์สูตรเล็กน้อย หรือระหว่างเส้นละติจูดหรือเส้นรุ้งที่ 5 องศา 37 ลิปดาเหนือ กับ 20 องศา 27 ลิปดาเหนือ และระหว่างลองจิจูดหรือเส้นแวงที่ 97 องศา 22 ลิปดาตะวันออก กับ 105 องศา 37 ลิปดาตะวันออก จัดเป็นพื้นที่เขตร้อนใกล้เส้นศูนย์สูตร ทำให้มีภูมิอากาศแบบร้อนชื้นตามการแบ่งเขตภูมิอากาศแบบเคิพเพิน พื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศมีภูมิอากาศแบบทุ่งหญ้าสะวันนา ในขณะที่ภาคใต้อยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตรมากกว่า จึงมีภูมิอากาศแบบมรสุมเขตร้อนและบางพื้นที่เป็นแบบป่าดิบชื้น
และด้วยสภาพพื้นที่ราบลุ่มน้ำท่วมถึง ทำให้ประเทศไทยมีความเหมาะสมสำหรับเกษตรกรรม ถือเป็นพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์ด้วยอาหาร และทรัพยากรที่สำคัญแห่งหนึ่งของทวีปเอเชียเลยก็ว่าได้ และทุกภาคของประเทศก็มีแม่น้ำไหลผ่าน ยิ่งทำให้เหมาะแก่การเพาะปลูก
พื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศไทยอยู่ในเขตร้อนชื้น มีมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดเข้าสู่ประเทศไทยช่วงระหว่างเดือนพฤษภาคมและกรกฎาคม (ยกเว้นภาคใต้) เป็นช่วงที่ทำให้ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูฝน กินเวลายาวไปถึงช่วงเดือนตุลาคม ช่วงเดือนพฤศจิกายนและเดือนธันวาคมเป็นจุดเริ่มต้นของฤดูแล้ง ฤดูแล้งในภาคใต้มีระยะเวลาสั้นที่สุด เนื่องจากการที่ภาคใต้มีทะเลขนาบข้างจากทุกด้าน พื้นที่ทั้งประเทศได้รับปริมาณฝนอย่างเพียงพอ ยกเว้นบางพื้นที่เท่านั้น แต่ระยะเวลาของฤดูฝนและปริมาณน้ำฝนจะแตกต่างกันตามภูมิภาคและระดับความสูง
สภาพภูมิอากาศที่แปรปรวน
แต่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เราจะพบว่าสภาพอากาศของประเทศไทยค่อนข้างแปรปรวน เดี๋ยวแล้งหนัก เดี๋ยวฝนตกหนัก ปัจจัยที่ทำให้สภาพภูมิอากาศบ้านเราเปลี่ยนไป เรียกว่า ปรากฏการณ์เอลนีโญ-ลานีญา
ปกติแล้วลมฟ้าอากาศที่เกิดขึ้นในบ้านเราได้รับอิทธิพลมาจากลมมรสุม ส่งผลให้ประเทศไทยมีฤดูกาลที่เด่นชัด คือ ฤดูฝนและฤดูแล้ง (แล้งคือฤดูร้อนกับฤดูหนาว) และจะมาในช่วงเวลาที่ค่อนข้างแน่นอน
แต่นอกจากอิทธิพลของลมมรสุม ยังมีปรากฏการณ์อีกรูปแบบหนึ่งที่ส่งผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศของประเทศที่ตั้งอยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตรรอบมหาสมุทรแปซิฟิก รวมถึงประเทศไทย และประเทศที่อยู่ในแถบซีกโลกใต้ นั่นคือ ปรากฏการณ์เอลนีโญ-ลานีญา ทั้ง 2 ปรากฏการณ์เรียกสั้น ๆ ว่า “เอนโซ่ (ENSO : El Niño Southern Oscillation)” ปรากฏการณ์เอนโซ่นี่เองที่นำมาซึ่งความแปรปรวนของภูมิอากาศ
ว่าด้วยปรากฏการณ์เอลนีโญ-ลานีญา
โลกของเราประกอบไปด้วยน้ำมากถึง 3 ใน 4 ส่วน การไหลเวียนของกระแสน้ำส่งผลต่อสภาพอากาศของโลก เนื่องจากมหาสมุทรสามารถกักเก็บความร้อนไว้ได้ดี เมื่อค่อย ๆ ปล่อยความร้อนออกมา กระแสน้ำในมหาสมุทรจะสามารถไหลไปยังที่ต่างๆ เป็นระยะทางไกลได้
สภาวะปกติ ภาพจาก LESA
กระแสน้ำในมหาสมุทร คือ การเคลื่อนที่ของน้ำในมหาสมุทรในลักษณะที่เป็นกระแส ซึ่งจะมีลักษณะการเคลื่อนที่สม่ำเสมอและไหลต่อเนื่องไปในทิศทางที่อาจจะกำหนดได้ ชนิดของกระแสน้ำมี 2 ชนิด
- กระแสน้ำอุ่น คือ กระแสน้ำที่มาจากเขตละติจูดต่ำและมีทิศทางเคลื่อนที่ไปทางขั้วโลก และมักจะมีอุณหภูมิสูงกว่าน้ำที่อยู่โดยรอบ
- กระแสน้ำเย็น คือ กระแสน้ำที่ไหลมาจากเขตละติจูดสูงเข้ามายังเขตอบอุ่นและเขตร้อน จึงทำให้กระแสน้ำเย็นลงหรืออุณหภูมิต่ำกว่าน้ำที่อยู่โดยรอบ
เมื่อกระแสน้ำทำให้อุณหภูมิผิวน้ำเปลี่ยนแปลง ส่วนนี้เองที่ส่งผลต่อสภาพอากาศ โดยเฉพาะบริเวณชายฝั่งทะเล เช่น บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันตกสหรัฐอเมริกา บริเวณดังกล่าวจะได้รับอิทธิพลจากความเย็นของกระแสน้ำแคลิฟอร์เนีย ทำให้อากาศไม่ร้อนจัด ส่วนกระแสน้ำอุ่นกัลฟ์สตรีม ก็จะทำให้อุณหภูมิของประเทศอังกฤษไม่หนาวจัดเกินไป
ปกติแล้ว การไหลของกระแสน้ำในมหาสมุทรนั้น ส่วนหนึ่งเกิดขึ้นเพราะได้รับอิทธิพลโดยตรงจากลม กระแสลมที่พัดจากบริเวณที่มีความกดอากาศสูง จะทำให้กระแสน้ำไหลหมุนเวียนตามเข็มนาฬิกาในบริเวณซีกโลกเหนือ แต่จะไหลทวนเข็มนาฬิกาในซีกโลกใต้ แต่การไหลของกระแสน้ำมีแผ่นดินขวางกั้นไว้ การไหลเวียนของน้ำในมหาสมุทรจึงไม่ปรากฏรูปแบบที่ชัดเจนเหมือนกระแสลมที่ไหลเวียนเหนือแผ่นดิน
กระแสน้ำเย็นจะเกิดขึ้นมากบริเวณตะวันตกของทวีปและกระแสน้ำอุ่นจะเกิดขึ้นบริเวณชายฝั่งทางตะวันออก บริเวณที่กระแสน้ำเย็นหลักไหลผ่าน (เช่น กระแสน้ำเย็นเปรู) มีแนวโน้มที่จะทำให้ฝนลดลง เพราะอากาศเย็นที่อยู่เหนือกระแสเย็นนั้นมีความชื้นน้อย เมฆฝนจึงไม่ก่อตัวขึ้นบริเวณนี้ ในขณะที่บริเวณที่มีกระแสน้ำอุ่นหลักไหลผ่าน (เช่น กระแสน้ำกัลฟ์สตรีม) จะมีผลตรงกันข้าม เพราะกระแสน้ำอุ่นทำให้เกิดอุณหภูมิเหนือผิวดินอุ่นขึ้นด้วย ส่งผลให้เกิดสภาพความกดอากาศต่ำ
เอลนีโญ่ ภาพจาก LESA
ปรากฏการณ์เอลนีโญ เกิดขึ้นเมื่ออุณหภูมิของผิวน้ำในมหาสมุทรแปซิฟิกสูงขึ้นจากภาวะโลกร้อน ทำให้กระแสน้ำอุ่นและกระแสน้ำเย็นในมหาสมุทรเปลี่ยนทิศทางการไหล เกิดความปั่นป่วนของสภาพภูมิอากาศที่ควรจะเป็นปกติ ทำให้สภาพอากาศแปรปรวนในลักษณะตรงข้าม บริเวณที่เคยมีฝนจะแห้งแล้ง และบริเวณที่เคยแห้งแล้งกลับมีฝนตกหนัก เช่น บริเวณตอนเหนือของทวีปอเมริกาใต้ เดิมมีสภาพแห้งแล้งกลับมีฝนตกหนัก ส่วนบริเวณเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ปกติเป็นดินแดนที่มีฝนตกชุก ก็แห้งแล้งอย่างรุนแรง
ลานีญา ภาพจาก LESA
ส่วนอีกปรากฏการณ์ที่เราได้ยินชื่อควบคู่กันมา คือปรากฏการณ์ลานีญา เกิดจากการที่อุณหภูมิของผิวน้ำในมหาสมุทรแปซิฟิกเย็นลง สิ่งที่เกิดขึ้นจะคล้ายกับสภาวะปกติ แต่ทวีความรุนแรงกว่า เช่น บริเวณที่เคยฝนตกอยู่แล้วจะมีฝนตกหนักขึ้น บริเวณที่แห้งแล้งอยู่แล้วก็จะแห้งแล้งหนัก พูดง่าย ๆ ก็คือ เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นตรงกันข้ามกับเอลนีโญ
เอนโซ่เกิดขึ้นเป็นปกติ แต่อะไรไม่ปกติ
ความจริงแล้ว El Niño Southern Oscillation (ENSO) หรือเอลนีโญ-ลานีญา เป็นการเปลี่ยนแปลงของระบบบรรยากาศมหาสมุทรในมหาสมุทรแปซิฟิกเขตร้อน ที่เกิดขึ้นเป็นปกติทุก ๆ 3-7 ปี (เฉลี่ยอยู่ที่ 5 ปี) โดยทั่วไปจะใช้เวลาราว ๆ 9 เดือนถึง 2 ปี ระยะนี้จะส่งผลกระทบต่อสภาพอากาศทั่วโลก
แต่สิ่งที่ไม่ปกติ เกิดขึ้นเพราะภาวะโลกร้อน ที่ทำให้น้ำในมหาสมุทรมีอุณหภูมิสูง จึงส่งผลให้ปรากฏการณ์เอลนีโญ-ลานีญามีแนวโน้มจะทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ
นั่นทำให้ประเทศไทยได้รับผลกระทบตามไปด้วย โดยเป็นปรากฏการณ์เอนโซ่แบบเอลนีโญ ช่วงหน้าแล้งบ้านเราก็จะแล้งหนัก แต่ถ้าเป็นเอนโซ่แบบลานีญา ในช่วงหน้าฝนบ้านเราก็อาจจะเกิดอุทกภัย นั่นทำให้ช่วงหน้าแล้งประเทศไทยเราค่อนข้างแล้งมาก บริเวณแม่น้ำเจ้าพระยาตอนบนมีน้ำจืดไม่พอที่จะปล่อยลงไปดันน้ำเค็มที่หนุนสูง เนื่องจากต้องเก็บสำรองไว้สำหรับการเกษตรจนกว่าจะเข้าสู่ฤดูฝน
นี่จึงเป็นสาเหตุให้ปริมาณน้ำดิบมีน้อย ฝนไม่ตก เมื่อน้ำทะเลหนุนสูง จึงมีน้ำเค็มรุกล้ำผ่านเข้ามาในจุดที่มีการผันน้ำเข้าสู่คลองประปา ทำให้น้ำเค็มถูกผันเข้ามาเจือปนในระบบน้ำดิบที่คลองประปาเพื่อรอผลิตเป็นน้ำประปาต่อไป เมื่อผลิตน้ำประปาแล้ว น้ำที่ได้จึงค่าความเค็มสูงกว่าปกติ
อย่างที่กรมอุตุนิยมวิทยา ออกคำเตือนให้เฝ้าระวังปรากฏการณ์เอลนีโญ/ลานีญา เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2564 ที่เตือนว่าปีนี้ ประเทศไทยอาจต้องระวังปรากฏการณ์เอนโซ่แบบลานีญา ซึ่งมีผลต่อเนื่องมาตั้งแต่เดือนธันวาคม 2563 โดยอุณหภูมิผิวน้ำ ทะเลบริเวณตอนกลางของมหาสมุทรแปซิฟิกเขตศูนย์สูตรที่มีค่าต่ำกว่าค่าปกติ และได้ขยายพื้นที่ไปจนถึงด้านตะวันออกของมหาสมุทรแปซิฟิกเขตศูนย์สูตร
แต่จากการคาดหมายของกรมอุตุนิยมวิทยา อุณหภูมิผิวน้ำทะเลและระบบการหมุนเวียนบรรยากาศบริเวณตอนกลางและด้านตะวันออกของมหาสมุทรแปซิฟิกเขตศูนย์สูตร จะมีค่าต่ำกว่าค่าเฉลี่ยตั้งแต่ในช่วงกลางเดือนพฤษภาคม 2563 ต่อเนื่องมาจนถึงต้นเดือนมกราคม 2564 เมื่อวิเคราะห์ข้อมูลด้วยวิธีการทางสถิติและแบบจำลองเชิงพลวัต คาดว่าปรากฏการณ์เอนโซ่ ที่มีสถานะเป็นลานีญาจะต่อเนื่องต่อไปจนถึงเดือนมีนาคม 2564 จากนั้นจะอ่อนกำลังลงและมีความน่าจะเป็นร้อยละ 55 ที่จะเปลี่ยนเข้าสู่สภาวะปกติในช่วงเดือนเมษายน – มิถุนายน 2564
แม้ว่าปรากฏการณ์เอนโซ่จะเป็นวัฏจักรของความแปรปรวนของสภาพอากาศที่เกิดขึ้นเป็นปกติทุก ๆ 5 ปี แต่เราไม่อาจรู้ได้ว่าความแปรปรวนที่รุนแรงนั้นจะมีมากแค่ไหน ยิ่งมีปัจจัยการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลกมาเป็นตัวสนับสนุน สิ่งที่ดีที่สุดที่เราสามารถทําได้ จึงเป็นการเตรียมพร้อมรับกับความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ หรือภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ
และที่สำคัญ มนุษย์เราอาจที่เป็นส่วนหนึ่งของภาวะโลกร้อน ต้องหันกลับมามองว่าตนเองมีส่วนทำให้สภาพอากาศของโลกนั้นเลวร้ายลงหรือไม่ เพราะหากเรายังไม่ตระหนัก ความแปรปรวนก็จะยิ่งทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ถึงวันนั้น สิ่งมีชีวิตที่เดือดร้อนมากที่สุดก็คงไม่พ้นมนุษย์เช่นกัน