คุณเป็นพ่อแม่ที่สอนลูกด้วย “ความกลัว” อยู่หรือเปล่า?
บ่อยครั้งที่เกิดเป็นประเด็นถกเถียงกันเป็นวงกว้างอยู่บ่อยครั้ง กับกระแสการสอนลูกในหมู่พ่อแม่ที่ลูกยังเป็นเด็กเล็ก เช่น เคยมีเหตุการณ์ที่พ่อแม่ใช้เครื่องสำอางทาตาลูกน้อยขณะหลับ และบอกลูกในตอนตื่นว่าที่ตาเป็นแบบนี้เพราะเล่นโทรศัพท์หรือไอแพดมากเกินไป โดยหวังผลให้เด็ก ๆ เกิดความกลัวและเลิกพฤติกรรมติดโทรศัพท์มือถือไป
โดยพ่อแม่ส่วนใหญ่บอกว่าวิธีนี้ค่อนข้างได้ผลและสนุกสำหรับพวกเขา เพราะผลที่ได้คือลูก ๆ ของตนร้องไห้ขี้มูกโป่งและเข็ดขยาดกับการใช้โทรศัพท์มือถือเป็นเวลานาน ทั้งที่ผู้ใหญ่เองไม่ใช่หรือที่หยิบยื่นโทรศัพท์สู่มือเด็กเองตั้งแต่แรกเพียงเพื่อหวังให้ลูกไม่หลุกหลิกและสงบอยู่กับที่
ซึ่งในประเด็นนี้ได้มีจิตแพทย์ออกมาแนะนำถึงความถูกต้องในการฝึกวินัยให้กับเด็ก โดยชี้แจงว่าวิธีนี้ค่อนข้างจะไม่ถูก เพราะเป็นการ สอนลูกด้วยความกลัว ซึ่งไม่ใช่การสอนหรืออบรมวินัยด้วยเหตุผลและความเข้าใจ และสามารถส่งผลต่อความไว้เนื้อเชื่อใจผู้ปกครองและพัฒนาการในอนาคตได้
ค่านิยม สอนลูกด้วยความกลัว
ความผิดพลาดที่เป็นค่านิยมตกทอดมาอย่างหนึ่งคือการขู่เด็กให้กลัวเพื่อให้เด็กสงบและอยู่ในโอวาทของผู้ใหญ่ ซึ่งรู้หรือไม่ว่าความกลัวที่ถูกสร้างขึ้นเหล่านั้นสามารถส่งผลต่อพฤติกรรมหรือด้านจิตใจของเด็กได้ในอนาคต โดยคำขู่ส่วนใหญ่ที่เราเคยได้ยินกันเช่นว่า อย่าดื้อนะไม่งั้นจะแจ้งตำรวจจับ อย่าดื้อนะไม่งั้นจะให้หมอฉีดยา ซึ่งเมื่อขู่แบบนี้แล้วเด็กสงบตามคำบอกผู้ใหญ่มักจะเข้าใจว่าได้ผล แต่ที่จริงแล้วไม่ใช่
ผลจากความกลัวที่ถูกสร้างขึ้นด้วยคำขู่นี้จะกลายเป็นปมเล็ก ๆ ในจิตใจของเด็ก ที่ค่อย ๆ เติบโตขึ้นในภายหลัง ซึ่งเด็กเป็นวัยที่กำลังสร้างจินตนาการและมีความไม่รู้ในหลายเรื่องเท่าผู้ใหญ่ ความกลัวที่เกิดขึ้นกับเด็กจึงมีความน่ากลัวมากกว่าที่ผู้ใหญ่จะเข้าใจ
อีกทั้งยังเป็นการปิดกั้นการนึกใคร่ครวญหาความจริงด้วยเหตุผล รวมถึงความมั่นใจในตัวเองและการแสดงออก ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่เล็กน้อย แถมเมื่อเด็กโตขึ้นและได้รู้ถึงเหตุผลและความจริงจากคำที่เคยโดนผู้ใหญ่ขู่ จะทำให้ความไว้เนื้อเชื่อใจต่อกันและกันลดลงและทำให้เด็กไม่อยากเชื่อฟังอีกด้วย
ไม่ขู่แล้วจะสอนอย่างไร
ความกลัว คือกำแพงที่ปิดกั้นจินตนาการเด็กจากทุกอย่าง เด็กควรเข้าใจอย่างจริงจังว่าทุกสิ่งทุกอย่างมีที่มาและเหตุผลเป็นอย่างไร โดยเฉพาะจากคนที่เด็กไว้เนื้อเชื่อใจที่สุดอย่างพ่อและแม่ ดังนั้นตั้งสติให้ดีและพยายามอย่าขู่ลูก
อธิบายด้วยเหตุผล เข้าใจว่าพ่อแม่หลายบ้านอาจปวดหัวกับการควบคุมอารมณ์เมื่อเด็กไม่ยอมอยู่ในโอวาท แต่แทนที่จะขู่ให้กลัว เช่น นอนได้แล้วไม่งั้นเดี๋ยวผีมาหลอก ควรเปลี่ยนเป็นถ้าไม่รีบนอนลูกจะนอนไม่เต็มอิ่ม ตื่นสายและไปโรงเรียนไม่ทัน
เป็นแบบอย่างที่ดี การที่เด็กไม่เชื่อฟังคำบอกหรือห้ามจากผู้ใหญ่อาจเพราะเด็กเห็นว่าตัวผู้ใหญ่เองก็ทำจึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องฟัง อย่างการไม่อยากให้ลูกดูทีวีเยอะเกินไปหรือเล่นโทรศัพท์มากเกินไป สิ่งที่ควรทำคือผู้ใหญ่ไม่ควรทำสิ่งนั้นให้เด็กเห็น เพราะวัยเด็กเขาไม่สามารถแยกแยะสิ่งต่าง ๆ ได้เท่าเรา
อย่างไรก็ตามความกลัวก็เป็นประโยชน์อยู่หลายอย่าง หากใช้ความกลัวอย่างมีเหตุผลและระมัดระวัง เช่นการกลัวอุบัติเหตุ จึงจำเป็นต้องทำสิ่งต่าง ๆ อย่างระมัดระวังไม่ประมาท และความกลัวที่มีเหตุผลรองรับจะสามารถทำให้แสดงพฤติกรรมที่เหมาะสมออกมา