ความรู้ด้านจิตวิทยา สำคัญกับการทำงานอย่างไร
ปัจจุบัน การศึกษาด้านจิตวิทยา ถูกนำมาเป็นหลักสูตรเสริมสำหรับคนทำงาน เรียกว่า “จิตวิทยากับการทำงาน” เพราะการศึกษาด้านจิตวิทยา มีเป้าหมายเพื่อศึกษาธรรมชาติของคน ที่มีบุคลิก มีนิสัยแตก มีความเป็นปัจเจกต่างกัน ประเด็นเรื่องการจัดการกับมนุษย์จึงเป็นเรื่องสำคัญ ที่หลาย ๆ องค์กรเริ่มตระหนักถึง เมื่อบุคลากรมีความรู้ทางจิตวิทยา ก็สามารถนำมาปรับใช้ได้อย่างจริงจังในองค์กร และมีประโยชน์ทั้งต่อตัวพนักงานเองและองค์กร
จิตวิทยาเป็นศาสตร์ที่ศึกษาพฤติกรรมและจิตใจของมนุษย์โดยใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ เราสามารถใช้จิตวิทยาในการทำงาน เพื่อค้นหาความสามารถ ความถนัด บุคลิกภาพ ลักษณะต่าง ๆ ของตนเองและผู้อื่น เพราะแนวคิดหลักของจิตวิทยาคือ คนเราแต่ละคนแตกต่างกัน ทั้งในด้านบุคลิกภาพ ความเชื่อ ทัศนคติ แรงจูงใจ หรือความสามารถ ความแตกต่างเหล่านี้ส่งผลให้คนแต่ละคนทำงานได้แตกต่างกัน
มาดูกันว่าจิตวิทยาสำคัญต่อการทำงานอย่างไรบ้าง
จิตใจส่งผลถึงพฤติกรรม พฤติกรรมส่งผลต่อการทำงาน
พฤติกรรมของคนนั้นมีผลมาจากลักษณะจิตใจที่ต่างกัน คนเรามีพฤติกรรมบางอย่างที่ช่วยส่งเสริมสนับสนุนการทำงาน ขณะเดียว ก็มีพฤติกรรมบางอย่างที่เป็นอุปสรรคขัดขวางการทำงานเช่นกัน พฤติกรรมเหล่านั้นส่งผลต่อประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการทำงาน
ดังนั้น ก่อนที่เราจะรู้จักใคร ต้องมั่นใจก่อนว่ารู้จักตัวเองดีพอแล้ว รู้ว่าอะไรคือจุดแข็ง จุดอ่อน ข้อดี ข้อด้อยของตัวเอง ซึ่งการมีความรู้ด้านจิตวิทยา จะทำให้เราวิเคราะห์ถึงลักษณะของจิตใจและบุคลิกภาพของทั้งตนเองและผู้อื่น เข้าใจตนเองและผู้อื่นให้ได้มากที่สุด มีส่วนช่วยในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบุคคลให้เกิดประสิทธิภาพในการทำงาน
ไม่เพียงเท่านั้น การศึกษาจิตวิทยายังรวมถึงวิธีสร้างสมดุลชีวิตในการทำงาน เพราะสภาพร่างกายและจิตใจที่ไม่พร้อม ส่งผลต่อศักยภาพ ประสิทธิภาพ ประสิทธิผลของงาน ต้องรู้จักจัดการกับภาวะจิตใจของตนเอง ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนา การทำงานในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม บรรยากาศรอบตัวที่เป็นพิษ ไม่อาจทำให้คนทำงานได้อย่างสนุกและมีความสุขได้
Put the right man on the right job
การมอบหมายงานให้ถูกกับบุคคล เป็นเงื่อนไขหนึ่งที่องค์กรใช้ดึงศักยภาพของบุคลากรออกมา การใช้ แบบประเมินบุคลิกภาพ เป็นเครื่องมือหนึ่งในการจัดกลุ่มคน จะทำให้รู้ว่าคนคนนั้นเหมาะกับงานประเภทไหน มีจุดแข็ง จุดอ่อนอย่างไร และควรมอบหมายงานอะไรให้เขาทำ เพราะงานที่ใช่จะก่อเกิดประสิทธิภาพในการทำงานสูงสุด ตัวบุคคลเองก็จะดึงศักยภาพออกมาใช้กับงานได้อย่างเต็มที่
ซึ่งความรู้ทางจิตวิทยานี้เองที่จะช่วยให้องค์กรบริหารจัดการทรัพยากรมนุษย์ที่มีอยู่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ องค์กรไม่จำเป็นต้องมีคนมาก เพราะคนน้อยก็ได้งานที่ดีได้ถ้าคัดเลือกบุคลากรที่มีความสามารถและลักษณะตรงตามที่งานต้องการ และตัวบุคลากรเองก็ได้ตระหนักถึงขีดความสามารถของตน นำมาใช้ และพัฒนาต่อ
ยกตัวอย่างง่าย ๆ เช่น หากองค์กรมอบหมายงานให้พนักงานคนหนึ่งที่ค่อนข้างขี้อาย พูดไม่เก่ง ไปทำหน้าที่ที่ต้องพบปะกับผู้คนมาก ๆ หรือต้องพูดอยู่ตลอดเวลา จะทำให้พนักงานคนนั้นเกิดภาวะ “ฝืนใจทำ” ซึ่งเป็นเพียงการพยายามทำให้เสร็จ ๆ จบ ๆ ไป ไม่มีแรงจูงใจที่อยากสร้างงานที่มีคุณภาพ ในความเป็นจริง องค์กรอาจไม่ได้ทั้งประสิทธิภาพและประสิทธิผลของงานที่ให้เขาทำเลยก็ได้ เพราะงานนั้นไม่เหมาะกับบุคลิกของเขา
เพราะเราต้องทำงานร่วมกับคนอื่น
จิตวิทยา สำคัญต่อการสร้างความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงาน ในฐานะที่ทุกคนเป็นส่วนหนึ่งในทีม ไม่ว่าจะเป็นการติดต่อประสานงานระหว่างเพื่อนร่วมงาน การพูดคุยกับหัวหน้า การสื่อสารกับผู้บริหาร การติดต่อลูกค้า หรือผู้เกี่ยวข้องอื่น ๆ ย่อมมีการพบปะพูดคุยและทำงานร่วมกันทั้งสิ้น
เพราะฉะนั้น สิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ก็คือ ปัญหาเรื่อง “คน” ที่ต้องทำงานร่วมกัน เราจำเป็นต้องปรับตัว ปรับแนวคิดและทัศนคติเพื่อให้ทำงานร่วมกับคนอื่นได้มีความสุขและราบรื่นที่สุด ซึ่งหลักจิตวิทยาการทำงานแบบ P-S-Y-C-H-O เป็นจิตวิทยาในการทำงานง่าย ๆ ที่ช่วยพัฒนาศักยภาพของคน รวมถึงมีพลังในการขับเคลื่อนองค์กร ทั้งยังสามารถนำมาปรับใช้ในการสร้างสัมพันธ์กับคนอื่น ๆ ในชีวิตประจำวันได้อีกด้วย
- P (Positive Thinking) การมองโลกในแง่บวกคิดแง่บวก เพราะการมีทัศนคติที่ดีย่อมส่งผลถึงพฤติกรรมโดยรวมในการทำงาน สร้างความสุข ความสนุกในการทำงาน ไม่ได้มองว่างานเป็นเพียงภาระที่ต้องรับผิดชอบ
- S (Smile) ยิ้มได้แม้ภัยมา รอยยิ้มที่จริงใจ สร้างความประทับใจและบรรยากาศดี ๆ ในการทำงาน การติดต่อประสานงาน เพราะมีอิทธิพลในการกำลังใจให้ตัวเอง ส่งต่อไปที่เพื่อนร่วมงาน และส่งต่อไปที่บุคคลอื่น ๆ ให้สามารถทำงานได้อย่างมั่นใจ สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี
- Y (Yours) ความจริงใจ การคิดถึงใจเขาใจเรา เพราะการทำงานร่วมกับผู้อื่นต้องอาศัยความจริงใจเพื่อซื้อใจ งานถึงจะประสบความสำเร็จได้ และยังผลักดันให้องค์กรเคลื่อนไปข้างหน้า
- C (Compromise) ประนีประนอม การทำงานกับคนอื่น การเกิดความเห็นไม่ตรงกันหรือมีเรื่องกระทบกระทั่งกับเพื่อนร่วมงานเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่เราผ่อนหนักให้เป็นเบาได้ เพื่อไม่ให้ความบาดหมางนั้นสร้างปัญหาในการทำงาน
- H (Human Relations) ความสัมพันธ์อันดีระหว่างกัน ต้องรู้จักการสร้างสัมพันธ์กับคนรอบข้าง ไม่เฉพาะเจาะจงแค่คนที่เราร่วมงานด้วย การหยิบยื่นน้ำใจเล็ก ๆ น้อย ๆ การรักษามารยาท การเอาใจใส่ซึ่งกันและกัน ช่วยสร้างบรรยากาศที่ดีในการทำงาน
- O (Oral Communication) เทคนิคการพูดเพื่อการสื่อสาร ต้องรู้จักการสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ มั่นใจ ชัดเจน ไม่สร้างความสับสนในการทำงาน หรือการพูดคุยเรื่องอื่น ๆ ก็ต้องมีขอบเขต อย่าสร้างศัตรูเพราะคำพูดของตัวเอง
ผู้บริโภคก็คน จะขายของได้ ต้องเข้าใจผู้บริโภค
เนื่องจากจิตวิทยาเป็นการศึกษาให้เข้าใจถึงพฤติกรรมของมนุษย์ ฉะนั้น การที่จะเข้าให้ถึงผู้บริโภคจึงจำเป็นต้องรู้ว่าพฤติกรรมผู้บริโภคเป็นแบบใด ผู้บริโภคต้องการอะไร ผู้บริโภคชอบอะไร แล้วหาสิ่งที่พวกเขาต้องการไปเสนอขายให้กับเขา นั่นทำให้หลายสายงานจำเป็นต้องส่งเสริมให้พนักงานเรียนจิตวิทยาเพิ่มเติม ก็เพื่ออ่านใจผู้บริโภคนั่นเอง
อย่างสายงานบางสายมีรายได้จากช่องทางออนไลน์ ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าทุกวันนี้ผู้บริโภค โดยเฉพาะสังคมเมืองมีตัวตนกันอยู่บนโลกออนไลน์ การทำการตลาดจึงต้องเน้นมาให้ความสำคัญตรงจุดนี้ การรู้เท่าทันพฤติกรรมหรือความต้องการของคนในสังคม มีประโยชน์ในการนำมาใช้พัฒนา ปรับปรุงแพลตฟอร์มออนไลน์ของตนเอง เช่น อัลกอริทึมบนโซเชียลมีเดีย ที่พยายามเก็บรวบรวมพฤติกรรม ความชอบของคนในสังคม โดยมีเป้าหมายเพื่อยิงโฆษณาให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่ศึกษามามากที่สุด ยิ่งมีคนเห็นมากเท่าไร โอกาสที่จะขายได้ก็มีมากขึ้นเท่านั้น
หรือแม้แต่ในแอปพลิเคชันต่าง ๆ ที่มีช่วง ทดลองใช้ฟรี มาล่อตาล่อใจผู้คน นี่ก็เป็นการเล่นกับจิตวิทยาของคนในสังคมเช่นเดียวกัน พวกเขารู้ว่าอำนาจของคำว่า “ฟรี” มันมีพลังมากพอที่จะล่อให้คนกดเข้าไปทดลองใช้ และเวลาในช่วงใช้ฟรีก็นานพอจะทำให้คนติดใจ ในที่สุดก็นำไปสู่การตัดสินใจซื้อ