ประวัติศาสตร์ ปาร์ตี้วันเกิด ทำไมต้องกินเค้ก และ เป่าเทียนวันเกิด
วัฒนธรรมทั้งหลายย่อมเกิดขึ้นจากเทรนด์เซตเตอร์ในแต่ละยุคสมัย งานฉลองวันเกิด หรือ ปาร์ตี้วันเกิด ก็เช่นกัน สันนิษฐานว่า งานฉลองวันเกิดมีขึ้นครั้งแรกในโลกเมื่อราว 3,000 ปีก่อนคริสตกาลหรืออาจจะนานกว่านั้น จากการฉลองวันเกิดแด่กษัตริย์ เทพ มาจนถึงปัจจุบันที่ประชาชนคนธรรมดาสามารถจัดงานฉลองวันเกิดได้ และ ปาร์ตี้วันเกิด ก็ได้กลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่สำคัญของคนทั่วโลกไปแล้ว Sarakadee Lite มีเกร็ดประวัติศาสตร์งานฉลองวันเกิดในแต่ละยุคสมัยมาบอกเล่ากัน
ภาพโปสต์การ์ดในปี ค.ศ. 1920 ซึ่งมีการฉลองวันเกิดด้วยเค้ก
วันเกิดที่เปลี่ยนมนุษย์ให้เป็นเทพในสมัยอียิปต์
ในสมัยอียิปต์โบราณมีหลักฐานข้อเขียนใน The Book of Genesis 40:20-22 ระบุถึงการจัดงานฉลองวันเกิดที่เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ยุคที่อียิปต์มีตำแหน่ง “ฟาโรห์” เป็นกษัตริย์ปกครองสูงสุด ในยุคนั้นการฉลองวันเกิดไม่ได้จัดตรงกับวันคล้ายวันกำเนิดของบุคคลจริงๆ แต่จัดถวายแด่ฟาโรห์โดยถือเอาวันราชาภิเษก หรือ วันขึ้นครองราชย์ ซึ่งเป็นวันที่เปลี่ยนสถานะจากมนุษย์ธรรมดาเป็นจุติเทพเป็น “วันเกิด” ตามความเชื่อที่ว่าผู้ที่ได้รับตำแหน่งฟาโรห์นั้นเปรียบเหมือนผู้ที่ได้ “เกิดใหม่” เปลี่ยนสถานะจากมนุษย์เป็น “เทพ”
เค้กและเทียนวันเกิดเริ่มในยุคกรีกโบราณ
มาถึงสมัยกรีกโบราณวัฒนธรรมการฉลองวันเกิดเริ่มมีเค้กและเทียนเข้ามาเพิ่ม โดยมีตำนานเล่าถึงการฉลองวันเกิดของ เทพี อาร์เตมิส หรือ เทพีแห่งดวงจันทร์ ซึ่งเป็นธรรมเนียมวัฒนธรรมตามความเชื่อแบบเพเกิ้น (pagan) ที่บูชาเทพเจ้าและเทพีหลายองค์ในอารยธรรมกรีก
นักประวัติศาสตร์เชื่อว่าการฉลองวันเกิดสมัยกรีกได้รับอิทธิพลมาจากอียิปต์อีกที ทว่าแตกต่างด้วยการที่กรีกมีการทำขนมเค้กรูปวงพระจันทร์พร้อมปักเทียนบูชา เฉลิมฉลองในวันที่เชื่อว่าเป็นวันเกิดของเทพีอาร์เตมิส เค้กรูปทรงพระจันทร์ปักเทียนจุดสว่าง เปรียบเหมือนพระจันทร์ส่องแสง อีกทั้งการจุดเทียนยังเป็นแสดงถึงการเคารพบูชา ส่วนการเป่าเทียนหลังอธิษฐานคือการส่งคำขอพรไปยังเทพีอาร์เตมิสนั่นเอง
ภาพวาดใน ค.ศ. 1875 เล่าถึงเค้กวันเกิดในวัฒนธรรมเยอรมัน
เมื่อโลกมีระบบปฏิทินคนธรรมดาก็ฉลองวันเกิดได้
จากวันเกิดของกษัตริย์และทวยเทพ ชาวเปอร์เซียโบราณคือชนชาติแรกๆ ที่มีการฉลองวันเกิดให้กับบุคคลธรรมดา ย้อนไปได้ 400-500 ปีก่อนคริสตกาล ครั้งนั้นทั้งคนรวยและคนยากจนต่างก็มีสิทธิ์ฉลองวันคล้ายวันเกิดได้ทั้งสิ้น เหตุผลก็เพราะโลกมีระบบปฏิทินที่สามารถนับวันเวลาได้ชัดเจนว่าวันเกิดของแต่ละคนตรงกับวันที่เท่าไรในปฏิทิน
มีการค้นพบบันทึกโบราณที่มีหลักฐานเกี่ยวกับการ “ฉลองวันเกิด” บันทึกนี้เขียนโดย เฮโรโดตุส ( Herodotus) นักประวัติศาสตร์ชาวกรีก ผู้ได้รับการยกย่องว่าเป็นบิดาแห่งประวัติศาสตร์ เขาได้เขียนถึงวิถีชีวิตชาวเปอร์เซีย ที่ต่างจากชาวกรีกในการนิยม “ฉลองวันเกิด” มากกว่าวันสำคัญอื่นๆ
บันทึก Herodotus: On The Customs of the Persians, c. 430 BCE มีเนื้อความว่า
“จากวันใดๆ ตลอดทั้งปี เห็นจะมีอยู่วันหนึ่งซึ่งพวกเขา (ชาวเปอร์เซีย) เฉลิมฉลองกันมากที่สุด และก็จะมีป้ายตกแต่งกันเป็นพิเศษสำหรับวันนั้นมากกว่าวันอื่นๆ อาหารในงานวันเกิดของชาวเปอร์เซียฐานะร่ำรวยจะมีเนื้อวัว เนื้อม้าอบ เนื้ออูฐอบ หรือ เนื้อลาอบ แบบย่างสุกหรืออบสุกทั้งตัว ส่วนคนเปอร์เซียฐานะยากจนกว่าจะกินอาหารหลักที่มีเนื้อไม่มากนัก แต่เน้นเมนูของหวานหลากชนิด ซึ่งทยอยวางบนโต๊ะทีละ 4-5 จาน เป็นที่มาของคำพูดที่ชาวเปอร์เซีย (พูดถึงคนกรีก) ว่า เวลาคนกรีกกินอาหาร อย่าได้เอ่ยเรื่องความหิว ไม่ควรพูดอะไรกับพวกเขา เมื่อเนื้อต่างๆ ทยอยขึ้นโต๊ะ ตราบใดที่ยังมีคนเอาอาหารมาวางไว้ตรงหน้าอีกเรื่อยๆ พวกเขา (กรีก) ก็จะกินได้ไม่มีหยุด”
กิจกรรมในงานฉลองวันเกิดของชาวเปอร์เซีย มีครบทั้งอาหารคาวหวานจัดเลี้ยงและงานบันเทิงแบบที่คนในยุคนี้เรียก ปาร์ตี้วันเกิด ทั้งนักร้องร้อง การบรรเลงเพลงประกอบจากเครื่องสายที่เรียกว่า คาร์ทาร์ (Cartar) หรือ ทาร์ (Tar) ลักษณะคล้ายกีตาร์ปัจจุบัน รวมทั้งมีการแสดงหุ่นเงาเคลื่อนไหวให้ได้ชม นอกจากนี้ยังมีธรรมเนียมเสิร์ฟขนมหวานหลังอาหารจานหลัก ซึ่งเป็นสิ่งที่ชาวเปอร์เซียนิยมทำในวันเกิดเช่นเดียวกับงานฉลองอื่นๆ และธรรมเนียมกินคาวต้องกินหวานของชาวเปอร์เซียโบราณนี่เองที่เป็นต้นแบบของการเสิร์ฟอาหารหวานหลังอาหารคาวของอารยธรรมยุคต่อมาจนถึงปัจจุบัน
ภาพงาน คินเดอร์เฟสต์ (Kinder Fest) วาดขึ้นใน ค.ศ. 1868
วันเกิดที่กลายเป็นวันหยุดแห่งชาติเริ่มสมัยโรมัน
สมัยอาณาจักรโรมันมีงานฉลองวันเกิดเช่นกัน แต่จัดเฉพาะบุคคลสำคัญที่มีอำนาจและตำแหน่งในสังคม รวมทั้งจะจัดได้ก็ต่อเมื่อบุคคลผู้นั้นมีอายุครบ 50 ปี อันถือเป็นหลักไมล์สำคัญของชีวิต นอกจากงานฉลองในหมู่ญาติมิตรแล้ว ยังได้มีการกำหนดให้วันเกิดของคนสำคัญเหล่านั้นเป็นวันหยุดแห่งชาติ เพื่อให้ประชาชนได้เฉลิมฉลองวันเกิดให้คนสำคัญเหล่านั้นด้วยเช่นกัน
วันเกิดคือวันกำเนิดจิตวิญญาณชั่วร้าย
ทั้งนี้ตามความเชื่อของชาวคริสต์ยุคแรก (ราวคริสต์ศตวรรษที่1-3) วันเกิดของมนุษย์ถือเป็นวันกำเนิดจิตวิญญาณชั่วร้าย เพราะเชื่อว่ามนุษย์เกิดมาพร้อมกับ “บาปติดตัว” บรรพบุรุษมนุษย์คู่แรกตกสวรรค์เพราะฝ่าฝืนคำสั่งของพระเจ้าด้วยการแอบกินแอปเปิลในสวนอีเดน ดังนั้นงานฉลองวันเกิดจึงแน่ชัดว่าไม่ใช่วัฒนธรรมดั้งเดิมของชาวคริสต์ แต่ความเชื่อเรื่องที่ว่าวันเกิดเป็นวันชั่วร้ายนี้ก็ได้เริ่มเลือนหายไปจากใจชาวคริสต์ช่วงราวคริสต์ศตวรรษที่ 4 เมื่อคริสตจักรเริ่มกำหนดวันฉลองวันเกิดพระเยซู หรือ วันคริสต์มาส ที่อิงจากประเพณีวันฉลองซาบาโตของชาวโรมันโบราณมาอีกที ไม่ใช่วันเกิดที่แท้จริงของพระเยซูแต่อย่างใด
ปาร์ตี้วันเกิด ในยุคสมัยปัจจุบัน
ปลายศตวรรษที่ 18 ชาวเยอรมัน จัดงานฉลองวันเกิดสำหรับเด็กๆ ที่เรียกว่า คินเดอร์เฟสต์ (Kinder Fest) ซึ่งกลายมาเป็นต้นแบบของงานเลี้ยงฉลองวันเกิดยุคปัจจุบัน คินเดอร์เฟสต์ เป็นงานเลี้ยงที่จัดสำหรับเด็กๆ (คินเดอร์ ในภาษาเยอรมัน แปลว่า เด็ก) โดยตามธรรมเนียมต้องทำเค้กพิเศษปักเทียน 2 เล่มตรงกลางมอบให้สำหรับเจ้าของวันเกิด
เทียนเล่มแรกสื่อความหมายถึงการมีชีวิตรอดในแต่ละปี ส่วนเล่มที่สองเป็นความหวังที่จะมีชีวิตในปีต่อไป ในวันครบรอบวันเกิดของเด็กแต่ละคน พ่อแม่จะทำเค้กปักเทียนไว้ตรงกลางมอบให้เจ้าของวันเกิดตั้งแต่เช้าตรู่ และตั้งเค้กไว้จนถึงเวลาดินเนอร์จึงจะให้เจ้าของวันเกิดอธิษฐาน ขอพร และเป่าเทียนจึงเริ่มกินเค้กวันเกิดได้
ส่วนธรรมเนียมการปักเค้กเท่าอายุเจ้าของวันเกิดนั้นเริ่มต้นในเยอรมันเช่นกัน มีหลักฐานบันทึกไว้ใน ปี ค.ศ.1746 เกี่ยวกับงานฉลองวันเกิด เคาต์ ลุดวิก ฟอน ซินเซนเดอร์ (Count Ludwig von Zinzendor) กวีและผู้นำทางศาสนาคนสำคัญในเยอรมัน ในบันทึกมีแขกร่วมงานวันเกิดคนหนึ่งเล่าว่า
“มีเค้กก้อนมหึมาเท่าขนาดเตาอบที่ใหญ่มาก มีรูบนหน้าเค้กเจาะตามจำนวนอายุของเจ้าของวันเกิด แต่ละรูปักเทียนไว้ และเทียนอีกหนึ่งเล่มปักไว้ตรงกลางเค้ก”