ถ้าไม่อยู่บนโลก ทำไมต้องเลือก “ดาวอังคาร”

ถ้าไม่อยู่บนโลก ทำไมต้องเลือก “ดาวอังคาร”

ถ้าไม่อยู่บนโลก ทำไมต้องเลือก “ดาวอังคาร”
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ความเป็นไปได้ในการส่งมนุษย์ไปดาวอังคารเริ่มเข้าใกล้ความเป็นจริงมากขึ้น เมื่อยานสำรวจ “เพอร์เซเวียแรนซ์” ของ “นาซา” หรือองค์การบริหารการบินอวกาศแห่งชาติสหรัฐฯ (NASA) สามารถลงจอดบนดาวอังคารได้อย่างปลอดภัย เพื่อปฏิบัติภารกิจในการหาร่องรอยว่าที่แห่งนี้เคยมีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่จริงหรือไม่

ที่ผ่านมา มนุษย์มีความพยายามในการสำรวจดาวอังคารมาโดยตลอด ซึ่งองค์ประกอบที่ช่วยให้สิ่งมีชีวิตสามารถเกิดได้นั้น นักชีวดาราศาสตร์เชื่อว่ามีด้วยกัน 3 อย่าง ได้แก่ น้ำ พลังงาน และสารประกอบอินทรีย์

ทั้งนี้ ในจักรวาลหรือเอกภพ (Universe) นั้น มีพลังงานและสารประกอบอินทรีย์มากมายอยู่แล้ว ดังนั้น หากพบร่องรอยของน้ำ ก็มีความเป็นไปได้ว่าอาจมีสิ่งมีชีวิตอยู่จริง

ขณะที่นักวิทยาศาสตร์มองว่า “ออกซิเจน” ที่มีจำนวนมากสามารถทำให้เกิดสิ่งมีชีวิตขึ้นได้ ดังนั้น หากค้นพบว่าดาวเคราะห์ดวงใดมีโอโซนอยู่ในชั้นบรรยากาศ ก็มีโอกาสสูงที่ดาวเคราะห์ดวงนั้นจะมีสิ่งมีชีวิตด้วยเช่นกัน เพราะโอโซนคือสารประกอบที่เกิดจากออกซิเจน เมื่อพบโอโซนในปริมาณมากก็จะพบออกซิเจนในปริมาณที่มากด้วยเช่นกัน

หากการพิสูจน์หาร่องรอยสิ่งมีชีวิตสามารถทำได้สำเร็จ ก็เท่ากับว่านอกจากโลกแล้ว ก็ยังมีดาวเคราะห์ดวงอื่นในระบบสุริยะที่มีสิ่งมีชีวิตสามารถอาศัยอยู่ได้ แต่ทำไมต้องเลือก “ดาวอังคาร” ทั้งที่มีดาวเคราะห์อยู่มากมาย Tonkit360 มีข้อมูลมาฝากกัน

เคยมีชั้นบรรยากาศหนาเหมือนโลก

ดาวอังคารมีความเป็นไปได้ที่จะพบสิ่งมีชีวิตมากที่สุด โดยจากการสำรวจของนาซาพบว่าดาวอังคารเมื่อ 4,500 ล้านปีก่อน เคยมีชั้นบรรยากาศที่ประกอบไปด้วยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ปกคลุมหนาแน่นเท่ากับชั้นบรรยากาศของโลก และมีอุณหภูมิพื้นผิวอุ่นกว่า จึงทำให้น้ำสามารถคงอยู่ในสถานะของเหลวได้ ต่างจากปัจจุบันที่มีชั้นบรรยากาศเบาบางลงไปมากเพราะลมสุริยะ (Solar Wind) พัดชั้นบรรยากาศออกไปสู่ห้วงอวกาศ

อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์ของนาซาเชื่อว่าสามารถสร้างชั้นบรรยากาศให้กับดาวอังคารได้ ด้วยการสร้างสนามพลังแม่เหล็กเทียมแล้วส่งขึ้นสู่อวกาศ เพื่อไปกั้นไว้ระหว่างดวงอาทิตย์กับดาวอังคาร จะได้เป็นเกราะป้องกันดาวอังคารจากลมสุริยะ ซึ่งคืออนุภาคที่มีประจุจากดวงอาทิตย์ นั่นเอง

เมื่อชั้นบรรยากาศมีความหนาแน่นขึ้น จะทำให้อากาศบนพื้นผิวดาวอังคารอุ่นขึ้นจาก -55 องศาเซลเซียส เหลือ -4 องศาเซลเซียส ซึ่งสามารถทำให้น้ำแข็งแห้งหรือคาร์บอนไดออกไซด์แข็งระเหิดได้ และส่งให้ชั้นบรรยากาศมีปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากขึ้น กลายเป็นปฏิกิริยาเรือนกระจกที่ทำให้พื้นผิวดาวอังคารอุ่นขึ้น

ขณะที่น้ำแข็งซึ่งอยู่บริเวณขั้วเหนือและขั้วใต้ของดาวอังคารจะละลายกลายเป็นน้ำ ซึ่งจากการสำรวจในอดีต นักวิทยาศาสตร์ตั้งสมมติฐานว่าน่าจะมีซากฟอสซิลของสิ่งมีชีวิตอยู่ใต้น้ำแข็งของขั้วทั้งสองของดาวอังคาร หลังจากเคยพบร่องรอยท้องแม่น้ำที่เหือดแห้งมาก่อนที่คาดว่าเกิดขึ้นเมื่อ 3,500 ล้านปีก่อน

เอื้อต่อการดำรงชีวิตมากกว่าดวงจันทร์-ดาวศุกร์

นอกจากโลกแล้ว ดาวอังคารถือเป็นดาวเคราะห์ที่มีองค์ประกอบเอื้อต่อการมีสิ่งมีชีวิตหรือดำรงชีวิตมากที่สุด แม้ว่ายังไม่พบหลักฐานที่แน่ชัดของสิ่งมีชีวิต แต่องค์ประกอบต่าง ๆ ก็เอื้อต่อการดำรงชีวิตมากกว่า

  • ดินบนดาวอังคารสามารถสกัดน้ำออกมาได้
  • อุณหภูมิบนดาวอังคารไม่หนาวจัดหรือร้อนจัดเกินไป
  • มีแสงแดดเพียงพอที่จะใช้แผงโซลาร์เซลล์ได้
  • แรงโน้มถ่วงบนดาวอังคารคิดเป็น 38 เปอร์เซ็นต์ของโลก ซึ่งเชื่อกันว่าร่างกายของมนุษย์สามารถปรับตัวได้
  • มีชั้นบรรยากาศ (แม้ว่าจะเบาบาง) ที่สามารถปกป้องรังสีคอสมิก ซึ่งเป็นอนุภาคพลังงานสูงที่เกิดจากการระเบิดในชั้นบรรยากาศของดวงอาทิตย์ได้
  • วันเวลาบนดาวอังคารใกล้เคียงกับโลก โดย 1 วันบนดาวอังคารเท่ากับ 24 ชั่วโมง 39 นาที 35 วินาที

ส่วนดวงจันทร์และดาวศุกร์ซึ่งเป็นดาวเคราะห์ที่อยู่ใกล้โลกด้วยเช่นกันนั้น ถือว่ายังห่างไกลจากความเป็นไปได้ที่จะดำรงชีวิตอยู่มาก โดยดวงจันทร์ไม่มีชั้นบรรยากาศที่เป็นเกราะป้องกันรังสีต่าง ๆ อีกทั้งวันเวลาบนดวงจันทร์ก็ต่างจากโลกมาก โดย 1 วันบนดวงจันทร์ เท่ากับการใช้เวลาบนโลก 1 เดือน

ขณะที่ดาวศุกร์นั้นมีอุณหภูมิเฉลี่ยสูงกว่า 400 องศาเซลเซียส ซึ่งร้อนถึงขนาดที่หลอมตะกั่วให้ละลายได้ และมีความดันบรรยากาศเทียบเท่ากับความดันใต้น้ำทะเลบนโลกที่ความลึก 900 เมตร นอกจากนี้ยังหมุนรอบตัวเองช้ามาก ทำให้ระยะเวลาบนดาวศุกร์ 1 วัน เท่ากับเวลาบนโลก 243 วันเลยทีเดียว!

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook