พระจอมเกล้าธนบุรี-มช. คิดค้นการเรียนวิชาปฏิบัติการที่บ้าน (Lab at home) สำหรับนักศึกษาตามวิถีใหม่
ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในโครงการทุนศาสตราจารย์วิจัยดีเด่น สำนักงานสนับสนุนการวิจัย (สกว.) (DPG 6080002) ในการพัฒนาการวิเคราะห์ทางเคมีแนวใหม่ (Modern chemical analysis) ในรูปแบบของการทำการทดลองที่บ้าน ซึ่งเป็นการเรียนการสอนที่ปรับให้เข้ากับวิถีชีวิตใหม่ (New normal) อันเนื่องมากจากการแพร่ระบาดของโควิด 19 ภายใต้หัวข้อปฎิบัติการเรื่อง “การหาปริมาณเหล็กด้วยการวิเคราะห์ทางเคมีสะอาดแนวใหม่ โดยใช้รีเอเจนต์ธรรมชาติ และใช้โทรศัพท์มือถือ (Determination of iron by modern green chemical analysis employing a natural reagent and with a smartphone)” โดยการทดลองนี้เป็นส่วนหนึ่งในวิชา CHM 267 Analytical Chemistry and Instrumental Analysis Laboratory II สำหรับนักศึกษาภาควิชาเคมีชั้นปีที่ 3 คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
ผศ. ดร. มนภัทร วงษ์บุตร หัวหน้าโครงการ และอาจารย์ประจำสาขาเคมีวิเคราะห์ ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของวิชาปฏิบัติการทางเคมีวิเคราะห์ ซึ่งในเวลาปกตินักศึกษาจะต้องเดินทางมาเรียนวิชานี้ที่มหาวิทยาลัยเท่านั้น เนื่องจากเป็นวิชาปฏิบัติการ ซึ่งจำเป็นต้องใช้เครื่องมือ และมีผู้ควบคุม แต่เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด 19 ทำให้การเรียนการสอนดังกล่าวเป็นไปได้ยาก เพราะทำให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพ ต่อนักศึกษา และบุคลากรที่เกี่ยวข้อง ด้วยเหตุนี้จึงทำให้การเรียนวิชาปฏิบัติการที่บ้าน (Lab at home) เป็นทางออกเดียวที่จะทำให้การเรียนของนักศึกษาเป็นไปอย่างต่อเนื่องอย่างไรก็ตาม วิชานี้จำเป็นต้องใช้สารเคมีปริมาณค่อนข้างมาก อันตราย และเครื่องมือขนาดใหญ่ที่ต้องมีผู้ควบคุมอย่างใกล้ชิด ทำให้แนวคิดนี้เป็นไปได้ยากในช่วงแรก และวิชานี้ไม่เหมือนกับวิชาทฤษฎีที่นักศึกษาสามารถเรียนผ่านสื่อออนไลน์ หรือตามแพลตฟอร์มอื่นๆได้ง่ายดังนั้นจากความร่วมมือของภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในโครงการทุนศาสตราจารย์วิจัยดีเด่น สำนักงานสนับสนุนการวิจัย (สกว.) (DPG 6080002) โดยมี ศ. ดร. เกตุ กรุดพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และหัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการวิเคราะห์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นที่ปรึกษาในโครงการนี้ ทำให้เกิดแนวคิดการนำสารสกัดธรรมชาติจากใบฝรั่งมาใช้สำหรับการหาปริมาณเหล็ก และใช้กล้องจากโทรศัพท์มือถือหรือแท็บเล็ต สำหรับบันทึกผลการทดลอง โดยการทดลองนี้ใช้สารเคมีที่ไม่เป็นอันตราย ใช้สารสกัดจากใบฝรั่งที่มีสาร polyphenol ซึ่งจะทำให้เกิดสารประกอบเชิงซ้อนของเหล็กที่มีสี จึงสามารถนำคุณสมบัติทางสีมาใช้ในการวิเคราะห์ทางเคมีได้ นอกจากนี้ยังใช้สารปริมาณน้อยมากๆในระดับไมโครสเกล ทำให้ปลอดภัยต่อนักศึกษา คนรอบข้าง ที่พัก และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยข้อมูลต่างๆที่นักศึกษาได้จากการปฎิบัติ การวิจารณ์ผลการทดลอง รวมไปถึงการสอบวัดผลหลังทำการทดลองจะดำเนินผ่านทางออนไลน์ทั้งหมด จึงเรียกได้ว่าเป็นวิชาปฏิบัติการที่เหมาะสมกับวิถีชีวิตใหม่ (New normal) อย่างแท้จริง