โรงเรียนต้นกล้า จ.เชียงใหม่ จับมือฟินแลนด์ ยกระดับการเรียนการสอนปฐมวัยเทียบเท่าสากล
นางสาวกุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ ประธานกรรมการอำนวยการ โรงเรียนต้นกล้า จ.เชียงใหม่ ซึ่งเปิดสอนตั้งแต่ระดับชั้นเตรียมอนุบาลไปจนถึงระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ในฐานะ “โรงเรียนทางเลือก” ดำเนินการตามแนวทางการจัดการศึกษาของประเทศฟินแลนด์ เน้นแนวทางจัดการเรียนการสอนที่ยึดธรรมชาติของผู้เรียนเป็นแนวทางในการบ่ม เพาะจินตนาการและความสุขเพื่อให้เกิดการเรียนรู้สู่การพัฒนาศักยภาพตัวเอง โดยจัดการเรียนรู้ผ่านการเล่น การลงมือปฏิบัติจริง การสนับสนุนนักเรียนรายบุคคล เพื่อเสริมสร้างจินตนาการบนรากฐานแห่งความสุข ล่าสุดได้จัดกิจกรรม “Hello Finland” และต้อนรับ ฯพณฯ ยูวริ แยร์วิอะโฮ เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐฟินแลนด์ประจำประเทศไทย ซึ่งให้เกียรติเป็นประธานในพิธีลงนามความร่วมมือใช้หลักสูตร HEI Schools Teacher Toolkit (เฮย์สคูล ทีชเชอร์ ทูลคิท) ระหว่าง บุญเอนก มณีธรรม ผู้ก่อตั้งโรงเรียนต้นกล้า จ.เชียงใหม่ กับ มิลลา ก๊กโก ประธานกรรมการบริหาร
บริษัท เฮลซิงกิ อินเตอร์เนชั่นนอล สคูล กรุ๊ป และ เฮกกิ วาร์เตีย บริษัท เฮลซิงกิ อินเตอร์เนชั่นนอล สคูล กรุ๊ป ผู้จัดการฝ่ายขายและดูแลคู่ค้า ผ่านทางแอพพลิเคชั่น Zoom นางสาวกุลธิดา เปิดเผยว่า ตลอดเวลาตั้งแต่ก่อตั้งโรงเรียนต้นกล้า จ.เชียงใหม่ ในปี 2552 จนถึงปัจจุบัน เรายังคงมุ่งจัดการศึกษาเพื่อเสริมสร้างศักยภาพตามพัฒนาการของนักเรียน โดยพัฒนาความสามารถในการแข่งขัน และความสามารถในการอยู่ร่วมกับผู้อื่นอย่างมีคุณค่าและมีความสุข โรงเรียนต้นกล้าจึงได้ยกระดับต่อยอดโดยนำหลักสูตรจากประเทศฟินแลนด์ซึ่งผ่านสถาบันวิจัยและมหาวิทยาลัยที่ศึกษาเกี่ยวกับกระบวนการเล่นที่สร้างเสริมทักษะต่างๆ โดยสอดแทรกวิชาการอย่างแนบเนียน มาใช้อย่างต่อเนื่อง
โดยล่าสุดได้ลงนามร่วมมือกับ บริษัท เฮลซิงกิ อินเตอร์เนชั่นนอล สคูล กรุ๊ป ในรูปแบบของหลักสูตร HEI Schools Teacher Toolkit เข้ามาใช้เป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการเรียนการสอนเทียบเท่าระดับสากล “สำหรับรูปแบบของ HEI Schools Teacher Toolkit นี้ เป็นหลักสูตรปฐมวัยจากประเทศฟินแลนด์ที่โรงเรียน ต้นกล้า จ.เชียงใหม่ นำมาเพิ่มศักยภาพให้คุณครูในการจัดการศึกษาผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ เพื่อเข้าถึงสื่อการเรียนการสอน กิจกรรมต่างๆ ทั้งรายสัปดาห์และรายเดือน เพื่อยกระดับความรู้ความสามารถในการพัฒนาคุณภาพการจัดการเรียนการสอน หลักสูตรนี้ยังมาพร้อมกับ Teacher's Corner ที่จะช่วยให้ครูต้นกล้าเข้าถึงสื่อการสอนและการพัฒนาวิชาชีพ ผ่านการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับบุคลากรจากประเทศฟินแลนด์
นอกจากนี้ต้นกล้ายังริเริ่มการพัฒนาครูต้นแบบ จำนวน 3 คน ที่จะได้พัฒนาทักษะและกระบวนการจัดการเรียนการสอนแบบฟินแลนด์ออนไลน์ต ลอดระยะเวลา 12 เดือนผ่าน HEI Schools Teacher Certificate เพื่อทักษะวิชาชีพของครู และความเข้มแข็งในการออกแบบการเล่นที่เปี่ยมไปด้วยความรู้และทักษะที่จำเป็น ตามช่วงวัยของเด็กๆ อย่างมีความสุข” นางสาวกุลธิดา เล่าถึงความสำคัญของ HEI Schools Teacher Toolkit
ทั้งนี้ประธานกรรมการอำนวยการ โรงเรียนต้นกล้า จ.เชียงใหม่กล่าวอีกว่า ก่อนหน้านี้ได้นำหลักสูตรและแนวทางจัดการเรียนการสอนจากฟินแลนด์หลายแขนง อาทิ การเรียนรู้ผ่านการเล่น (Learn through play) ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของการจัดการเรียนรู้ในระดับอนุบาลที่เปี่ยมไปด้วยการพัฒนาเด็กๆ ทั้งในด้านร่างกาย จิตใจ สติปัญญา ภาษา อารมณ์และสังคม สร้างโอกาสและความเป็นไปได้ใหม่ๆ รวมทั้งยังสร้างมีจินตนาการใหม่ๆ ให้เด็กๆ ได้ไม่รู้จบ ซึ่งต้นกล้าได้ริเริ่มจัดกระบวนการเรียนรู้ผ่านการเล่นมาเป็นระยะเวลา 12 ปีแล้ว การเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ (Learn through experience)
ถือเป็นกระบวนการจัดการเรียนการสอนแบบองค์รวมที่สร้างกระบวนการเรียนรู้ของเด็กๆ จากประสบการณ์รอบตัวพวกเขา (Phenomenon-Based Learning) เช่น ฝุ่น PM 2.5 ที่เกิดขึ้นมาจากไหน ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น และจะแก้ไขด้วยวิธีใดได้บ้างเหล่านี้สามารถนำมาจัดกระบวนการเรียนการสอนได้หลากหลายวิชา อาทิ คณิตศาสตร์, วิทยาศาสตร์, สังคม, สิ่งแวดล้อม, ภาษาไทย, ภาษาอังกฤษ และงานช่าง ฯลฯ
“อีกหนึ่งความร่วมมือที่โรงเรียนต้นกล้า จ.เชียงใหม่ ร่วมกับ Positive Finland (โพสิทีฟ ฟินแลนด์) คือโปรแกรม See the Good from Positive Finland เน้นการรู้จักตัวเองและจุดแข็งด้านทักษะทางอารมณ์และสังคมของตัวเอง ผ่านการให้ข้อเสนอแนะ (Feedback) เชิงบวกของคุณครูอย่างสม่ำเสมอ ทั้งจากการจัดกิจกรรมในชั้นเรียนและนอกห้องเรียนผ่านการสังเกตพฤติกรรมเชิงบวกของนักเรียน เพื่อให้เด็กๆ ได้ภาคภูมิใจในจุดเด่นของตัวเอง และสร้างการมองเห็นคุณค่าของตัวเอง (self-esteem) ที่ถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งในกระบวนการเติบโตของเด็ก” นางสาวกุลธิดา กล่าว
อย่างไรก็ตาม ผู้บริหารโรงเรียนต้นกล้า เชียงใหม่ ย้ำถึงเป้าหมายของการบริหารโรงเรียนว่า มุ่งพัฒนาให้มีขีดความสามารถสอดคล้องกับมาตรฐานสากลทั้งในระบบปฏิบัติงาน มาตรฐานการปฏิบัติงาน และบุคลากร โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานวิชาการที่จะมุ่งให้เป็นไปตามบริบทสากลและเท่าทันอนาคตที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ผ่านการสร้างความร่วมมือทั้งกับองค์กรระดับชาติและนานาชาติ รวมทั้งการแลกเปลี่ยนบนเวทีวิชาการทั้งในและนอกประเทศ