ด่าฟรีไม่มีในโลก ไม่อยากโดนฟ้องศึกษากฎหมายให้ดีก่อน
หากคิดจะด่าใคร ถ้าไม่ได้แค่คิดอยู่ในใจก็คงต้องระวังกันหน่อย ไม่เช่นนั้นก็อาจจะต้องเสียเวลาไปขึ้นโรงขึ้นศาล และเสียทรัพย์โดยไม่จำเป็น อย่าคิดว่าแค่เขียนเล่นสนุก ๆ ไม่เห็นจะเป็นอะไร เพราะสิ่งที่เราเขียนบนโลกออนไลน์ มีสิทธิ์เข้าข่ายการหมิ่นประมาทผู้อื่นได้
แม้ว่าการแสดงความคิดเห็นเป็นสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานที่ทุกคนสามารถแสดงออกกันได้ และมีบัญญัติในรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจน แต่ก็ต้องไม่กระทบกระเทือนต่อสิทธิเสรีภาพของผู้อื่นด้วยเช่นกัน
และเมื่อข้อความที่แสดงความคิดเห็นเหล่านั้นทำให้ผู้อื่นเสื่อมเสียชื่อเสียง ถูกเกลียดชัง และไม่มีมูลความจริง ผู้เสียหายก็มีสิทธิโดยชอบธรรมที่จะดำเนินการตามกฎหมายได้
เอาผิดทางใดได้บ้าง?
การหมิ่นประมาทผู้อื่นทางอินเทอร์เน็ต ถือเป็น ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ว่าด้วยการหมิ่นประมาทด้วยโฆษณา ดังต่อไปนี้
มาตรา 326 ผู้ใดใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (เงินประกัน 10,000 – 20,000 บาท)
มาตรา 328 ถ้าความผิดฐานหมิ่นประมาทได้กระทำโดยการโฆษณาด้วยเอกสาร ภาพวาด ภาพระบายสี ภาพยนตร์ ภาพหรือตัวอักษรที่ทำให้ปรากฏไม่ว่าด้วยวิธีใด ๆ แผ่นเสียง หรือสิ่งบันทึกเสียง บันทึกภาพ หรือบันทึกอักษรกระทำโดยการกระจายเสียง หรือการกระจายภาพ หรือโดยกระทำการป่าวประกาศด้วยวิธีอื่น ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี และปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (เงินประกัน 100,000 บาท)
ขณะเดียวกัน ก็เป็น ความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พศ.2550 ดังต่อไปนี้ด้วย
มาตรา 14 (1) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือน หรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหาย แก่ประชาชน อันมิใช่การกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 14 (5) ผู้ใดเผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ ตาม (1) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
แบบไหนที่เรียกว่า “หมิ่นประมาท”
หากไม่แน่ใจว่าการกระทำแบบใดจะเข้าข่ายหมิ่นประมาท ให้อ่านตรงนี้ให้ดี ๆ การใส่ความผู้อื่น ถือเป็นการหมิ่นประมาท ซึ่งหมายถึงการแสดงพฤติกรรมอันเป็นข้อเท็จจริงประการใดประการหนึ่งของผู้ถูกหมิ่นประมาท
โดยอาจกระทำด้วยวาจา กิริยาท่าทาง การเขียน พิมพ์ หรือวิธีการใด ที่ปรากฏเป็นภาพ หรือลักษณะอื่นใดที่ทำให้บุคคลที่สามเข้าใจได้ว่าหมายถึงใคร ซึ่งอาจทำให้เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง
นอกจากนี้ เรื่องที่หมิ่นประมาทต้องเป็นเรื่องในอดีตหรือปัจจุบันด้วย หากเป็นเรื่องอนาคต ก็ต้องเป็นเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกับอดีตหรือปัจจุบัน ถ้าเป็นเพียงคำทำนายหรือคาดการณ์ถึงเหตุการณ์ที่ยังไม่เกิดขึ้น ไม่ถือว่าเป็นการใส่ความ
ส่วนผู้ที่ถูกใส่ความ ต้องทำให้เข้าใจได้ว่าหมายถึงใคร ซึ่งเป็นการเฉพาะเจาะจง แม้ไม่ได้ระบุชื่อออกมาอย่างชัดเจน แต่สามารถทำให้ผู้อื่นเข้าใจได้ว่าคนคนนั้นเป็นใคร และต้องเป็นการใส่ความกับบุคคลที่สามที่สามารถเข้าใจเรื่องราวที่ใส่ความกันได้
หมิ่นประมาท “ยอมความ” กันได้
ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 และมาตรา 328 สามารถยอมความได้ และมีอายุความ 3 เดือน หากผู้เสียหายไม่ได้ร้องทุกข์ภายใน 3 เดือน นับตั้งแต่วันที่รู้เรื่องและรู้ตัวผู้กระทำความผิดจะเป็นอันขาดอายุความ
ขณะที่พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากเดิมที่ไม่สามารถยอมความกันได้ และมีอัตราโทษจำคุกถึง 5 ปี และปรับไม่เกิน 100,000 บาทนั้น ได้มีฉบับแก้ไขตามออกมา โดยระบุว่าถ้าการกระทําความผิดตาม มาตรา 14 (1) มิได้กระทําต่อประชาชน แต่เป็นการกระทําต่อบุคคลใด บุคคลหนึ่ง ผู้กระทํา ผู้เผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ดังกล่าวต้องระวางโทษจําคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ และให้เป็นความผิดอันยอมความได้ แต่ก็ขึ้นอยู่กับผู้เสียหายด้วยว่าจะเอาผิดหรือไม่