ประวัติศาสตร์ ครุฑ จากสัตว์ถิ่นหิมพานต์สู่ตราประจำแผ่นดิน

ประวัติศาสตร์ ครุฑ จากสัตว์ถิ่นหิมพานต์สู่ตราประจำแผ่นดิน

ประวัติศาสตร์ ครุฑ จากสัตว์ถิ่นหิมพานต์สู่ตราประจำแผ่นดิน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

แม้ ครุฑ จะเป็นหนึ่งในสัตว์หิมพานต์ สัตว์ในจินตนาการของอินเดียโบราณ แต่ในขณะเดียวกัน ครุฑ ก็ถูกนำมาใช้เป็นตราแผ่นดินไทยมาช้านาน ส่วนในแวดวงศิลปะไทย ครุฑ เป็นที่นิยมของบรรดาศิลปินหลากหลายแขนงทั้งงานประติมากรรม จิตรกรรม ที่ศิลปินแต่ละคนต่างก็ถ่ายทอดรูปร่าง ท่าทาง และจินตนาการเกี่ยวกับครุฑไว้แตกต่างกันมากมาย แม้แต่ในวรรณกรรมคลาสสิก กากี ก็มีเรื่องครุฑลงไปผสมผสาน

garuda-1

เรื่องราวของครุฑมีเล่าขานอยู่หลายตำนานและพบเจอในหลายประเทศ เช่น อินเดีย ไทย ชวา และกัมพูชา ส่งผ่านอิทธิพลของศาสนา โดยในศาสนาพรหมณ์ฮินดูเชื่อว่า ครุฑคือพาหนะของพระนารายณ์ ด้านพุทธศาสนาเชื่อว่าครุฑ คือ ครึ่งนกครึ่งคน มีถิ่นที่อยู่อาศัยในป่าหิมพานต์ บริเวณวิมานฉิมพลี เชิงเขาพระสุเมรุ คอยจับนาคกินเป็นอาหาร ถ้าสังเกตให้ดีในภาพจิตรกรรมป่าหิมพานต์ส่วนใหญ่ จะพบว่าพญานาคมักถูกวาดอยู่ชายขอบล่างของป่าหิมพานต์เพื่อหลบลี้จากพญาครุฑอยู่เสมอ

ตามคติไทยโบราณ ครุฑ เป็นสัตว์วิเศษมีหัว ปีก เล็บ และปากงุ้มเป็นขอเหมือนนกอินทรี ส่วนตัวและแขนเป็นคนมีสีทอง ใบหน้าขาว ปีกแดง หางแผ่ทางก้นเหมือนนก เครื่องประดับประจำตัวมีทองกรสวมแขน กำไลข้อมือ กำไลข้อเท้า สวมชฎาทรงมงกุฎน้ำเต้า สวมสายสร้อย นุ่งผ้าชายเฟือยมีห้อยหน้า

สำหรับตราประจำแผ่นดินรูปครุฑนั้นมีใช้มาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ตามจดหมายเหตุของลาลูแบร์ อัครราชทูตฝรั่งเศสที่เข้ามากรุงศรีอยุธยาในสมัยพระนารายณ์มหาราช ได้บันทึกไว้ว่า แม้สมัยนั้นไม่มีตำแหน่งเจ้ากรมราชลัญจกร แต่พระมหากษัตริย์ก็ทรงมีตราประจำพระองค์แล้ว สันนิษฐานว่าน่าจะใช้ตรา ครุฑพ่าห์ ตามคติสมมุติเทพในยุคนั้นที่ถือว่ากษัตริย์เทียบเท่าพระนารายณ์ลงมาปกครองบ้านเมือง โดยมีครุฑเป็นพาหนะ ซึ่งครุฑพ่าห์นี้ก็มีการใช้มาจนถึงแผ่นดินกรุงธนบุรี

garuda-3

ต้นรัตนโกสินทร์ก็ยังมีการใช้ครุฑเป็นตราพระราชลัญกรอย่างต่อเนื่อง มีหลักฐานชัดเจนว่ารัชกาลที่ 2 ก็ทรงใช้ตราครุฑเพราะพระนามเดิมว่า “ฉิม” มาจาก “ฉิมพลี” แปลว่า ต้นงิ้ว ที่ตั้งของวิมานครุฑ หรือก็คือ “วิมานฉิมพลี”

ส่วนสมัยรัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์ทรงเขียนครุฑถวายใหม่ โดยตัดนาคออกไปเพราะทำให้ครุฑดูตะกละตะกลามเต็มที ไปไหนก็ต้องหิ้วอาหารไปด้วย ส่วนมือที่กางก็เปลี่ยนมาเป็นรำตามครุฑเขมร เปลี่ยนลายกนกเป็นเปลวไฟ เพราะกนกเป็นพืชไม่เหมาะกับสัตว์ที่มีอิทธิฤทธิ์เดินอากาศ ถัดมาในสมัยรัชกาลที่ 6 ทรงใช้ครุฑแบบเดิมแล้วเพิ่มพระปรมาภิไธยตามขอบพระราชลัญจกรและเป็นแบบอย่างมาจนถึงปัจจุบัน

ต้นเรื่อง : นิตยสารสารคดี มกราคม 2532

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook