อารมณ์ “เบื่อหน่าย” อย่ามีบ่อย รบกวนการนอนหลับได้

อารมณ์ “เบื่อหน่าย” อย่ามีบ่อย รบกวนการนอนหลับได้

อารมณ์ “เบื่อหน่าย” อย่ามีบ่อย รบกวนการนอนหลับได้
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

มีงานวิจัยชิ้นใหม่ที่แสดงให้เห็นว่าการที่คนเรามีอารมณ์เบื่อหน่าย หรือฟุ้งซ่านกับเรื่องต่าง ๆ แบบที่ไม่สนใจจะดูเวลา ส่งผลต่อคุณภาพในการนอน และรบกวนการนอนหลับ เพราะมีแนวโน้มที่จะทำให้เราเลื่อนเวลานอนออกไป หรือพูดง่าย ๆ ก็คือ ทำให้เรานอนดึกขึ้น และอาจจะทำให้พักผ่อนไม่เพียงพอด้วย

การศึกษานี้ศึกษาโดย Ai Ni Teoh อาจารย์อาวุโสด้านจิตวิทยาจาก James Cook University Singapore และทีมงาน ซึ่งสนใจที่จะศึกษาปัจจัยที่รบกวนการนอนหลับของคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคนวัยทำงานและวัยหนุ่มสาว

การศึกษานี้ศึกษาจากกลุ่มตัวอย่าง 270 คน ในเมืองโกรนินเกน ประเทศเนเธอร์แลนด์ ผู้วิจัยให้กลุ่มตัวอย่างทำแบบสอบถามที่สอบถามการนอนดึกแบบที่ไม่ได้ตั้งใจ เพราะไม่ได้ดูเวลาว่ากี่โมงกี่ยามแล้ว และวัดคุณภาพในการนอนหลับ ควบคู่ไปกับการทำแบบประเมินเรื่องความเบื่อหน่าย หงุดหงิดใจ และอารมณ์ฟุ้งซ่านต่าง ๆ ที่มีผลรบกวนการนอน

การศึกษาชิ้นนี้พยายามที่จะหาคำตอบและทำความเข้าใจถึงปัจจัยที่ทำให้คนเรานอนดึก โดยมุ่งเน้นไปที่ความรู้สึกเบื่อหน่ายเป็นหลัก ทั้งยังให้ข้อมูลเกี่ยวกับวิธีจัดการกับภาวะนอนดึกด้วย พบว่าปัจจัยเหล่านี้พบได้บ่อยในวัยรุ่นและวัยหนุ่มสาว

ผลการศึกษาพบว่าช่วงเวลาที่เข้านอน ยิ่งดึกก็ยิ่งทำให้คุณภาพในการนอนลดลง แต่สิ่งใหม่ที่พบก็คือ ความเบื่อหน่ายนี่เองที่มีผลให้เรานอนดึกได้ ไม่เพียงเท่านั้น ความฟุ้งซ่านในจิตใจก็ให้ผลในลักษณะเดียวกัน แม้ว่ากลุ่มตัวอย่างจะตอบว่าก่อนนอน พวกเขาไม่ได้รู้สึกตื่นเต้นหรือกังวลใจอะไร แต่สิ่งที่พวกเขารู้สึกคือความเบื่อหน่ายมากกว่า พอเบื่อก็พยายามที่จะหาอะไรทำแก้เบื่อ เช่น การเอาอะไรขึ้นมาทำแบบไม่รู้ตัว รู้ตัวอีกทีเวลาก็ผ่านไปจนดึกดื่นแล้ว แล้วหลังจากนั้นก็อาจทำให้มีอาการนอนไม่หลับร่วมด้วย

นอกจากนี้นักวิจัยยังพบว่าผู้ที่จิตใจฟุ้งซ่าน คิดมากก่อนที่จะเข้านอนก็มีแนวโน้มที่จะนอนดึกด้วยเช่นกัน เนื่องจากเป็นตัวแปรหนึ่งที่ทำให้เกิดความรู้สึกเบื่อหน่าย ในทางกลับกัน การที่มีความคิดฟุ้งซ่านก็เป็นการตอบสนองความรู้สึกเบื่อหน่ายด้วยเหมือนกัน

ผลที่ตามมาของการนอนดึก อาจทำให้คนมีปัญหาในการนอน และส่งผลให้เกิดปัญหาสุขภาพ ประสิทธิภาพในการใช้ความคิดลดลง ทักษะการเข้าสังคม ความจำก็ลดลงเช่นกัน ดังนั้นการนอนดึกจึงเป็นปัญหาสำคัญที่ต้องเร่งแก้ไข

“การที่คนเราไม่ให้ความสำคัญกับการนอน เป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้เราเข้านอนดึกและมีปัญหาในการนอน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คนที่มีความรู้สึกเบื่อหน่าย และไม่ใส่ใจกับเวลาที่ผ่านไป ความไม่ใส่ใจดังกล่าวจะทำให้ไม่รู้เวลานอน เมื่อเข้านอน คุณภาพในการนอนก็ลดลง” Teoh กล่าว

การวิจัยชิ้นนี้ยังให้คำแนะนำในการจัดการปัญหานอนดึกเพราะความเบื่อหน่ายด้วย ประการแรก คือต้องจัดการกับความเบื่อหน่ายของตัวเอง ควรวางแผนตารางเข้านอนให้เป็นเวลา รวมถึงให้ความสำคัญกับกิจกรรมที่ทำในช่วงเย็น ต้องผ่อนคลายมากพอเพื่อเตรียมตัวให้พร้อมที่จะนอน โดยควบคุมตนเองให้ปฏิบัติตามแผนนี้ และที่สำคัญ ฝึกสติฝึกสมาธิบ้างก็ดี เพราะจำเป็นต่อการควบคุมจิตใจให้อยู่กับปัจจุบัน จิตใจสงบ ไม่ฟุ้งซ่าน ก่อนที่จะเข้านอน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook