เหตุผลแบบวิทย์ ๆ ทำไมคนตกหลุมรักแบบ “รักแรกพบ”

เหตุผลแบบวิทย์ ๆ ทำไมคนตกหลุมรักแบบ “รักแรกพบ”

เหตุผลแบบวิทย์ ๆ ทำไมคนตกหลุมรักแบบ “รักแรกพบ”
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

“รักแรกพบ” ที่หลายคนอาจมองว่าเป็นเรื่องของพรหมลิขิต บุพเพสันนิวาสที่นำพาให้คนสองคนมาเจอกัน และรู้สึกต้องตาต้องใจกันตั้งแต่แรกพบนั้น อาจจะไม่ได้โรแมนติกอย่างที่หลายคนจินตนาการไว้ เมื่อแท้ที่จริงแล้วสิ่งที่เราเรียกกันว่า “Love at first sight” นั้น มีเหตุผลด้านวิทยาศาสตร์สนับสนุนในเรื่องนี้ด้วย

“สารเคมีในสมอง”ส่งผลต่อความรัก

การที่คนเราตกหลุมรักใครสักคน และมีความรู้สึกท้องไส้ปั่นป่วนเหมือนผีเสื้อบินอยู่ในท้อง เป็นเพราะเกิดปฏิกิริยาทางเคมีในสมอง จากการที่สมองหลั่งสาร “โดพามีน” และ “เซราโนนิน” ออกมา จึงเกิดความรู้สึกอบอุ่น และความผูกพันกับอีกฝ่าย

โดยนักประสาทวิทยา ดร. Trisha Stratford อธิบายถึงเรื่องนี้ว่า โดพามีนเป็นฮอร์โมนที่ทำให้เกิดความอิ่มเอมใจและรู้สึกสบายใจเมื่อได้อยู่ใกล้คนที่เรารัก ซึ่งฮอร์โมนดังกล่าวเปรียบเสมือนการให้รางวัลของสมองเวลาที่เกิดความรู้สึกถูกใจสิ่งใด จนทำให้สมองเกิดการเสพติดสิ่งนั้นไปโดยปริยาย

ขณะที่เซโรโทนินจะถูกปล่อยออกมาหลังจากได้พบกับใครบางคนที่เราคิดว่าน่าสนใจ น่าดึงดูดใจ ซึ่งในระยะเริ่มแรกของความสัมพันธ์ ฮอร์โมนดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อจิตใจของเราอย่างมาก ว่ากันว่าสามารถรบกวนจิตใจได้มากถึงขนาดที่วันทั้งวันเขาคนนั้นจะวนเวียนอยู่ในความคิดของเราได้มากถึง 65 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว!

“รักแรกพบ” เกิดขึ้นได้ภายใน 7 วินาที

ความประทับใจจากรักแรกพบนั้น สามารถเกิดขึ้นได้ภายใน 7 วินาทีแรกที่เราได้พบกับใครบางคน ซึ่งหมายความว่าระยะเวลาดังกล่าว แทบจะตัดสินใจได้ทันทีว่าเขาคนนั้นมีอะไรที่สามารถดึงดูดใจเราได้หรือไม่ ซึ่งความรู้สึกที่ต่างฝ่ายต่างมีแรงดึงดูดเข้าหากันนั้น ถือว่าเป็นรักแรกพบที่สามารถพัฒนาไปสู่ความสัมพันธ์อันลึกซึ้งได้

ทั้งนี้ ในระยะเวลาเพียงไม่กี่วินาทีที่เรากำลังพิจารณาว่าเขาคนนั้นดึงดูดใจเราได้หรือไม่ สมองจะหลั่งสาร “อ็อกซิโทซิน” ที่มักถูกเรียกว่า “ฮอร์โมนแห่งความรัก” ออกมา ซึ่งหากสมองบอกว่าเรากำลังมีความรัก ก็มีความเป็นไปได้ว่าจะตกหลุมรักตั้งแต่แรกพบเข้าให้แล้ว

“การสบตา” ส่งผลต่อรักแรกพบ

ที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยชิคาโกเคยทำการศึกษาเกี่ยวกับอิทธิพลของการสบตาว่าสามารถก่อให้เกิดความรู้สึกรักแรกพบได้หรือไม่ ซึ่งงานวิจัยดังกล่าวมุ่งเน้นไปที่การเคลื่อนไหวของดวงตา รวมถึงการหาความแตกต่างด้วยว่าระหว่างความรักกับความใคร่จะส่งผลต่อการเคลื่อนไหวของดวงตาอย่างไร

จากการทดลองให้ดูภาพที่เกี่ยวกับความรักโรแมนติก และภาพที่กระตุ้นให้เกิดความอารมณ์หรือความรู้สึกทางเพศ พบว่าผู้คนมีแนวโน้มที่จะให้ความสำคัญกับใบหน้าของคนที่พวกเขากำลังมีความรักมากกว่า ขณะที่การเคลื่อนสายตาไปโฟกัสที่ร่างกายในภาพอื่น ๆ นั้น ก็สนับสนุนแนวคิดเรื่องรักแรกพบด้วยเช่นกัน

ผลพลอยได้จาก “ภาพลวงตาเชิงบวก”

ขณะที่การศึกษาของมหาวิทยาลัยโกรนิงเกน เมื่อปี 2017 ระบุว่ารักแรกพบอาจเป็นผลพลอยได้จากปรากฏการณ์ที่เรียกว่า “ภาพลวงตาเชิงบวก” (Positive Illusion) เมื่อคนรักสองคนเชื่อว่าตนเองตกหลุมรักกันและกันตั้งแต่แรกพบ ก็ทำให้เกิดความเชื่อมโยงกับความทรงจำในอดีตที่ผ่านมาซึ่งเป็นไปในเชิงบวก

นอกจากนี้ การศึกษาดังกล่าวยังพบด้วยว่าคนส่วนใหญ่ที่มีประสบการณ์รักแรกพบมักจะลงเอยด้วยความสัมพันธ์ระยะยาว และการหวนรำลึกถึงความทรงจำเมื่อครั้งที่พบกันครั้งแรกของทั้งคู่ก็สามารถส่งผลในเชิงบวกให้ต่างฝ่ายต่างรู้สึกผูกพันและรักกันมากขึ้นด้วย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook