โทษอาญา 12 เดือนที่ไม่เท่ากับ 1 ปี และโทษแสนปีติดคุกยังไง?

โทษอาญา 12 เดือนที่ไม่เท่ากับ 1 ปี และโทษแสนปีติดคุกยังไง?

โทษอาญา 12 เดือนที่ไม่เท่ากับ 1 ปี และโทษแสนปีติดคุกยังไง?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

สงสัยกันหรือไม่ ว่าทำไมเวลาที่มีการตัดสินโทษความผิดที่ถูกตัดสิน ยกตัวอย่างเช่น ให้รับโทษจำคุก 6 ปี 24 เดือน ทำไมถึงไม่เป็นโทษ 8 ปีล่ะ! ทั้งที่ 24 เดือนก็คือ 2 ปีไม่ใช่เหรอ

เรื่องดังกล่าว อธิบายได้ตามกฎหมาย ว่าจำนวนปีตามกฎหมายไม่เท่ากับปีตามปฏิทิน อยู่ในประมวลกฎหมายอาญามาตรา 21 ที่กำหนดให้ 1 เดือนในทางกฎหมายเท่ากับ 30 วัน

เพราะฉะนั้น ถ้านับ 12 เดือนตามปีปฏิทินเป็น 1 ปี (1 ปีปฏิทินมี 365 วัน และทุก ๆ 4 ปี จะมี 366 วัน) ดังนั้น ถ้าได้รับโทษจำคุก 1 ปีตามกฎหมาย จะเท่ากับ 360 วันเท่านั้น แต่ถ้าเป็น 1 ปีปฏิทิน นักโทษจะได้รับโทษนานกว่าเดิม 5-6 วันเลยทีเดียว เท่ากับวันที่ต้องใช้ชีวิตอยู่หลังกำแพงเรือนจำก็จะนานขึ้น ซึ่งไม่ยุติธรรมและไม่เป็นคุณต่อตัวจำเลย เพราะสำหรับผู้ถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพ ระยะเวลาแม้เพียงวันเดียว หากมีโอกาสพ้นจากการจองจำออกมา ย่อมมีค่าอย่างยิ่ง

นอกจากนี้ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 21 ยังมีรายละเอียดอื่นอีก คือ

  • ในการคำนวณระยะเวลาจำคุก ให้นับวันเริ่มจำคุกรวมเข้าด้วย และให้นับเป็น 1 วันเต็มโดยไม่ต้องคำนึงถึงจำนวนชั่วโมง เช่น หากเริ่มรับโทษจำคุกในวันนี้เวลา 17.00 น. ก็ให้นับเป็นเวลา 1 วัน ซึ่งเมื่อถึง 00.00 ของวันรุ่งขึ้น ก็ให้ขึ้นวันใหม่ได้เลย
  • ถ้าระยะเวลาที่คำนวณนั้นกำหนดเป็นเดือน ให้นับสามสิบวันเป็นหนึ่งเดือน ถ้ากำหนดเป็นปี ให้คำนวณตามปีปฏิทินในราชการ
  • เมื่อผู้ต้องคำพิพากษาถูกจำคุกครบกำหนดแล้ว ให้ปล่อยตัวในวันถัดจากวันที่ครบกำหนด
  • แม้ว่าจำเลยจะกระทำความผิด แต่ก็ถือว่าจำเลยได้รับโทษแล้ว ในขณะที่กระบวนการยุติธรรมหรือกฎหมายนั้น ต้องให้ความยุติธรรมกับทุกคน เพราะฉะนั้น ถึงจะเป็นบุคคลต้องโทษ ก็ต้องได้รับความยุติธรรมเช่นเดียวกัน การใช้ชีวิตหลังกำแพงเรือนจำ ย่อมไม่มีใครปรารถนา

ดังนั้น การนับการรับโทษเป็นเดือนกับนับเป็นปี ระยะเวลาจะต่างกัน ส่วนใครที่สงสัยว่าแล้วทำไมไม่นับเป็นวัน ก็เพราะว่าศาลมักคำนวณโทษเป็นรายกระทงก่อนแล้วจึงลดโทษเป็นรายกระทง ทำให้มีเศษโทษเป็นเดือน

เช่น หากศาลตัดสินจำคุกจำเลยที่มีความผิดทั้งสิ้น 6 กระทง กระทงละ 5 ปี รวมแล้วจำคุก 30 ปี แต่จำเลยให้การเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีผลให้ลดโทษให้ 1 ใน 3 ของโทษแต่ละกระทง ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 ดังนั้น โทษ 30 ปี จะลดไปกระทงละ 1 ปี 8 เดือน ทำให้เหลือจำคุกกระทงละ 3 ปี 4 เดือน ทั้งหมด 6 กระทง จึงเป็นโทษจำคุก 18 ปี 24 เดือน ไม่ใช่ 20 ปี

เพิ่มเติม ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 เมื่อปรากฏว่ามีเหตุบรรเทาโทษ ไม่ว่าจะได้มีการเพิ่มหรือการลดโทษ ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ หรือกฎหมายอื่นแล้วหรือไม่ ถ้าศาลเห็นสมควรจะลดโทษไม่เกินกึ่งหนึ่ง ของโทษที่ลงแก่ผู้กระทำความผิดนั้นก็ได้

เหตุบรรเทาโทษนั้น ได้แก่ผู้กระทำความผิดเป็นผู้โฉดเขลาเบาปัญญาตกอยู่ในความทุกข์อย่างสาหัส มีคุณความดีมาก่อน รู้สึกความผิดและพยายามบรรเทาผลร้ายแห่งความผิดนั้น ลุแก่โทษต่อเจ้าพนักงานหรือให้ความรู้แก่ศาลอันเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา หรือเหตุอื่นที่ศาลเห็นว่ามีลักษณะทำนองเดียวกัน

เป็นไปได้ไง โทษจำคุกแสนปี แล้วจะติดคุกยังไงล่ะ!!!

ใครที่เคยได้ยินการตัดสินโทษจำคุกนับพันปีบ้างหรือไม่ แล้วสงสัยไหมว่าโทษจำคุกมันมาจากไหนเป็นพันเป็นหมื่น (เป็นแสน) ปี แล้วเขาติดคุกกันยังไง ในเมื่อมนุษย์เราไม่มีทางอายุยืนได้ถึงแสนปีเพื่อรอติดคุกให้ครบเป็นแน่

โทษจำคุกที่คำนวณออกมาเป็นแสนปีนี้ อธิบายได้ในเรื่องของ กระทงความผิด โดย “กระทง” ในที่นี้เป็นภาษากฎหมาย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ให้ความหมายไว้ว่า (กฎ) น. ลักษณนามของความผิดอาญาแต่ละกรรมหรือแต่ละครั้ง การกระทําความผิดแต่ละกรรมหรือแต่ละครั้งนั้น ถือว่าเป็นกระทงความผิดกระทงหนึ่ง เช่น การกระทําความผิดฐานลักทรัพย์หลายครั้ง การลักทรัพย์แต่ละครั้งเป็นกระทงความผิดกระทงหนึ่ง ๆ

นั่นหมายความว่า หากคุณก่อคดีลักทรัพย์ 5 ครั้ง คุณก็จะมีความผิด 5 กระทง

ซึ่งการนับความผิดแบบกระทงนี้ อยู่ในประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90 เมื่อการกระทำใดอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ใช้กฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดลงโทษแก่ผู้กระทำความผิด และประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91 เมื่อศาลจะพิพากษาลงโทษผู้ใด และปรากฏว่าผู้นั้นได้กระทำการอันเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ศาลจะลงโทษผู้นั้นทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป หรือจะลงโทษเฉพาะกระทงหนักที่สุดก็ได้ แต่ไม่ว่าจะเป็นกรณีใด โทษจำคุกทั้งสิ้นจะต้องไม่เกิน 20 ปี เว้นแต่เป็นโทษจำคุกตลอดชีวิต

ซึ่งมีรายละเอียดการคำนวณโทษคือ

  • 10 ปี สำหรับกรณีความผิดกระทงที่หนักที่สุด มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงไม่เกิน 3 ปี
  • 20 ปี สำหรับกรณีความผิดกระทงที่หนักที่สุด มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกิน 3 ปีแต่ไม่เกิน 10 ปี
  • 50 ปี สำหรับกรณีความผิดกระทงที่หนักที่สุด มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกิน 10 ปีขึ้นไป เว้นแต่กรณีที่ศาลลงโทษจำคุกตลอดชีวิต

นี่จึงเป็นที่มาของโทษจำคุกนับพัน นับหมื่น หรือสูงได้เป็นแสนปี เช่น คดีที่ได้รับโทษจำคุก 154,005 ปี (คดีแชร์แม่ชม้อย) หรือโทษจำคุก 4,355 ปี (คดีชินแสโชกุน) จึงไม่ได้หมายความว่าจำเลยต้องตายแล้วเกิด ตายแล้วตายอีกเพื่อมารับโทษ หรือต้องให้ทายาทมารับโทษแทนจนกว่าจะครบ มันเป็นเพียงการคำนวณโทษตามกระทงความผิดเท่านั้นเอง

ถึงกระนั้น จำเลยหลายคนก็ติดคุกจริงไม่ถึง 20 ปี เพราะจะมีการขอพระราชทานอภัยโทษ ส่วนนักโทษชั้นดีก็จะมีการลดโทษด้วยกฎกระทรวง ซึ่งจะพิจารณาตามความประพฤติ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook