เราตัดสินความเป็นคนกันจากอะไร LGBTI+ กับภาพทัศนคติการเหมารวม แบบ Stereotype
หนึ่งในสิ่งที่เป็นกำแพง ต้องการยอมรับและความเข้าใจต่อกลุ่ม LGBTI+ คือ ‘ภาพเหมารวม’ ที่เป็นตัวคอย กำหนดกรอบการปฏิบัติตัวเมื่ออยู่ในสังคม โดยสังคมมักจะมีการตัดสินไปก่อนล่วงหน้าด้วยเหตุแห่งเพศ
ซึ่งภาพเหมารวมนี้เองที่อาจจะเป็นอุปสรรคในการกำหนดนโยบาย,สวัสดิการและการบริการทางสังคมซึ่ง รวมถึงพื้นที่สาธารณะ เช่น ห้องสุขาด้วยเป็นต้น ดังนั้นการทำความเข้าใจว่าในกลุ่ม LGBTI+ เองนั้น ก็มี ความหลากหลายอยู่ด้วยเฉกเช่นมนุษย์ปุถุชนทั่วไป ไม่ได้มีลักษณะที่ตายตัวที่เหมือนกันเสมอไปและไม่อาจจะตัดสินบุคคลนั้นเพียงเพราะเขาเป็นกลุ่ม LGBTI+
พวกเลือดบวก
HIV กับ LGBTI+ โดยเฉพาะคนข้ามเพศ, เกย์ และกะเทยนั้น เป็นมายาคติที่อยู่คู่กันมาตลอดตั้งแต่มีการค้นพบเชื้อ HIV จริงอยู่ว่าการมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนักนั้นมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ HIV มากกว่าการมีเพศสัมพันธ์ทางช่องคลอด จนกระทั่งข้อกำหนดในการรับบริจาคโลหิตนั้น มีการกำหนดคุณสมบัติผู้บริจาคจะต้องไม่มีพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศ ซึ่งได้รับการระบุว่าคือการมีเพศสัมพันธ์กับเพศเดียวกัน(เฉพาะชาย) ซึ่งจะไม่รับบริจาคโลหิตอย่างถาวร โดยให้สาเหตุว่ามีความเสี่ยงมากกว่า
ทำให้ปัจจุบันมีการเคลื่อนไหวเรียกร้องความเท่าเทียม และการต่อต้านการเลือกปฏิบัติต่อคนข้ามเพศ, เกย์และกะเทยที่มีความประสงค์จะบริจาคโลหิต โดยผู้ขับเคลื่อนนั้นมองว่าความเสี่ยงในการติดต่อโรคทางเพศสัมพันธ์นั้นมาจากพฤติกรรมทางเพศไม่ใช่เพศสภาพ เพราะโรคมันไม่เลือกเพศ ไม่ว่าเพศไหนก็มีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อ HIV ได้เหมือนกัน อนึ่ง มีกรณีที่ผู้บริจาค (ซึ่งเป็นผู้ที่มีเพศสัมพันธ์กับเพศเดียวกันทางทวารหนัก) ยื่นใบตรวจเลือดที่สามารถยืนยันได้ว่าตนเองปราศจากเชื้อ HIV ก็ยังได้รับการปฏิเสธในการเข้าบริจาคโลหิตอยู่ดีแสดงให้เห็นถึงอคติที่มีต่อกลุ่ม LGBTI+ ซึ่งแน่นอนว่าส่งผลต่อภาพเหมารวมที่คนในสังคมจะมองว่ากลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่มาพร้อมกับโรคติดต่อ ทางเพศสัมพันธ์
สิ่งที่คนในสังคมต้องทำความเข้าใจก็คือ ไม่ว่าจะเป็นเพศใดก็ตามแต่ ต่างก็มีความเสี่ยงที่จะติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ด้วยกันทั้งสิ้น หากมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ป้องกัน ไม่ใช่เฉพาะ LGBTI+ ดังนั้นหากต้องการจะสร้างความเท่าเทียมให้เกิดขึ้นในสังคม จะต้องคำนึงไปถึงการกำจัดการเลือกปฏิบัติและความอคติทางเพศที่มีในทุกรูปแบบ และเลิกตีตราบุคคลจากเพศของพวกเขาเพื่อสร้างสังคมแห่งความหลากหลายที่อยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข
พวกตัวตลก
สังคมมักจะคาดหวังความตลกจาก LGBTI+ โดยเฉพาะกลุ่มเกย์,ตุ๊ดและกะเทย และมักคิดว่าคนกลุ่มนี้จะต้องเป็นคนสร้างสีสันเมื่ออยู่ร่วมกันเรามักจะได้ยินประโยคที่ว่า "พวกเนี้ยะตลก..อยู่ด้วยแล้วแฮปปี้" หรือ "ดีนะ...สร้างสีสันดี" ฟังดูแล้วก็เป็นเรื่องดีๆ ไม่ได้มีความมุ่งร้ายหรือเหยดหยามใดๆ มิหนำซ้ำยังเป็นการชื่นชมและเห็นคุณค่าบางอย่างในตัวตนของบุคคลคนนั้นอีกด้วย
อย่างไรก็ดีคนกลุ่มนี้ก็คือมนุษย์ธรรมดา ที่มีทั้งช่วงที่พวกเขาตลกและช่วงที่พวกเขาไม่อยากจะตลก อีกทั้งบางคนก็ไม่ใช่คนช่างพูดหรือเป็นคนตลกเลยด้วยซ้ำ เพราะฉะนั้นสิ่งที่พึงระวังคือการที่เราพยายามยัดเยียดบทบาทในการสร้างสีสัน, สร้างบทสนทนาและสร้างเสียงหัวเราะให้กับคนที่เป็น LGBTI+ เพราะพวกเขาก็คือมนุษย์เหมือนเรา "ไม่ได้ตลกตลอดเวลาและไม่ได้ตลกไปเสียทุกคนนั่นเอง
พวกจิตไม่ปกติ
ถึงแม้ว่า WHO หรือองค์การอนามัยโลกจะออกมาประกาศนำเอา LGBT!+ ออกจากหมวดความผิดปกติทางจิตและพฤติกรรมและไม่ถือเป็นอาการทางจิตแล้วก็ตาม ก็ยังมีคนไม่น้อยที่ยังเข้าใจว่า LGBTI+ คือกลุ่มที่เป็นพวกจิตวิปริต หรือเป็นพวกสับสนทางเพศ
ยังมีสถานศึกษาที่มีนโยบายแนะนำการรักษาเมื่อผู้ปกครองที่บุตรเป็นผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ โดยใช้คำว่า'เบี่ยงเบนทางเพศ' ที่แสดงให้เห็นถึงอคติและการไม่ยอมรับในความหลากหลาย ที่แม้แต่ข้อมูลจากองค์กรระดับโลกหรือแม้แต่ข้อมูลจากกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุขในประเทศไทยเอง ก็ยังไม่สามารถที่จะกลบอคติส่วนนี้ไปได้
และยังมีผู้ปกครองไม่น้อยเช่นเดียวกัน ที่ยังเข้าใจว่าความหลากหลายทางเพศคือโรคที่สามารถรักษาให้หายได้ด้วยวิธีทางจิตวิทยา ความเชื่อเหล่านี้จำเป็นจะต้องถูกรื้อถอนและสร้างความเข้าใจกันเสียใหม่ เพื่อรองรับสังคมแห่ง
ความหลากหลายที่เติบโตขึ้นทุกวัน
พวกทำตัวเด่น
หนึ่งในภาพที่อยู่ในความคิดของคนในสังคมเมื่อพูดถึง LGBTI+ คือ ภาพของการที่ทำอะไรก็ต้องโดดเด่นอยู่เสมอต้องจุดสนใจของสังคม ต้องเล่นใหญ่ ทำให้หลายๆคนอาจจะเข้าใจผิดว่า LGBTI+ ต้องเป็นคนที่กล้าแสดงออกอยู่เสมอ จึงมีหลายครั้งเหมือนกันที่ LGBTI+ ถูกบังคับให้กล้าแสดงออก หรือต้องแสดงบทบาทบางอย่างตามมายาคตินี้ซึ่งแน่นอนว่าไม่ใช่ LGBTI+ ทุกคนที่อยากจะเป็นจุดสนใจ และอาจจะสร้างความรู้สึกไม่ปลอดภัยให้กับบุคคลนั้นได้
อนึ่ง การที่ LGBTI+ มีการแสดงออกที่แตกต่างจากจารีตนั้น ไม่ว่าจะเป็นการแต่งกายหรือการแสดงออกในแง่อื่นๆ อาทิ การเดินหรือการพูดการจา ที่หลายๆคนอาจเห็นแล้วสะดุดตา เป็นเพียงทางหนึ่งของการแสดงออก, เป็นเพียงวิธีในการแสดงตัวตนของพวกเขา ไม่ใช่ความต้องการที่จะเป็นจุดสนใจ หรือที่ทุกวันนี้เรากันเรียกว่า 'หิวแสง'
กล่าวคือ การแสดงออกเหล่านั้นเป็นการแสดงออกเพื่อตอบสนองตนเอง มากกว่าตอบสนองความต้องการของผู้อื่นเป็นเพียงตัวตนของพวกเขาที่ถูกถ่ายทอดออกมาให้เราได้เห็นกันเท่านั้นเอง
พวกมีกรรม
กลุ่ม LGBTI+ นั้นไม่ใช่พวกต่อต้านศาสนา แต่หลายๆครั้งคนบางกลุ่มในศาสนาเองกลับผลักไสให้ LGBTI+ กลายเป็นพวกนอกรีต, พวกผิดบาป ทั้งๆที่ตัวพวกเขาเองก็ไม่รู้ว่าเหมือนกันว่าตัวเองทำอะไรผิด ทำให้ LGBTI+ มากมายเลือกที่จะละทิ้งความเชื่อทางศาสนาไป
แต่มันคงจะไม่สำคัญอะไรถ้าหากความเชื่อทางศาสนาไม่ได้มีผลต่อการกำหนดวิถีชีวิตการอยู่ร่วมกันในสังคม ทั้งเป็นพื้นฐานของจารีตประเพณี ไปจนกระทั่งการออกนโยบายทางสังคมและกฎหมาย ดังนั้นกำแพงด่านหนึ่งที่ทำให้ความหลากหลายไม่เจริญงอกงามในสังคมไทย คือความเชื่อด้านลบทางศาสนาที่มีต่อกลุ่ม LGBTI+
โดยความเชื่อด้านลบที่เรามักจะเห็นกันบ่อยอย่างเช่น การมองว่า LGBT1+ เป็นสิ่งผิดบาป เป็นพวกผิดผีผิดธรรมชาติ เป็นพวกคนที่เคยทำกรรมชั่วในชาติที่แล้วจึงมาเกิดเป็นพวกผิดเพศในชาตินี้ ทั้งๆที่การเป็น LGBTI+ เป็นเรื่องส่วนบุคคล ไม่ได้ทำให้ใครเดือดร้อนและคนที่เป็นกลุ่ม LGBTI+ เองก็ไม่ได้รู้สึกว่าการเป็น LGBTI+ นั้นเป็นกรรมที่ต้องแบกรับใดๆ ดังนั้นการลดอคติทางความเชื่อเหล่านี้ลงและเริ่มทำความเข้าใจในแง่ของความเป็นมนุษย์มากขึ้น ก็อาจจะทำให้สังคมแห่งความหลากหลายนั้นเติบโตได้อย่างรวดเร็วมากขึ้นก็เป็นได้
พวกหมกมุ่น
เรื่อง Sex กับ LGBTI+ นั้นถูกผูกติดกันมาอย่างยาวนาน เป็นภาพจำที่ฝังลึกว่า LGBTI+ จะต้องเป็นพวกที่วันๆเอาแต่หมกมุ่นกับเรื่อง Sex และเป็นกลุ่มที่หารักแท้ไม่ได้ ไม่มีความรักที่จะยืนยาวในสังคม LGBTI+ ทั้งๆที่ในความเป็นจริงไม่เป็นเช่นนั้นเสมอไป คู่รักที่เป็น LGBTI+ หลายคู่คบหากันอย่างยืนยาวและมีชีวิตคู่ที่ไม่ได้มีแค่มิติด้าน Sex
ในประเทศที่มีกฎหมายรองรับ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการแต่งงานหรือการมีบุตร พวกเขาก็สามารถสร้างครอบครัวที่มีความสุขได้ ในทางกลับกันในคู่ชายหญิงทั่วไปเอง ก็ไม่ใช่ว่าจะอยู่กันไปแก่เฒ่าไปเสียทุกคู่ การเลิกรานั้นเกิดขึ้นได้กับทุกเพศ เช่นเดียวกันกับเรื่อง Sex และ One night stand ที่ไม่ใช่เรื่องเฉพาะสำหรับ LGBTI
อย่างไรก็ดีการมี Sex นั้นไม่ใช่เรื่องผิด และความชอบที่จะมี Sex ก็ไม่ใช่สิ่งผิดเช่นเดียวกัน ตราบใดก็ตามที่ Sex นั้นปลอดภัยและเป็น Sex ที่ได้รับความยินยอมจากทุกฝ่าย ความรักเป็นเรื่องของบุคคลและเพศไม่ใช่ตัวกำหนดความจีรังของความรัก แล้วจะผิดอย่างไรเล่าหากเราจะใช้ชีวิตแบบที่ตนเองต้องการ ในมิติของความรักและ Sex ตราบใดที่มันไม่ได้ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อนและตัวเราเองมีความสุข
พวกหัวรุนแรง
หลายๆคนคงเคยเห็นพาดหัวข่าวในลักษณะที่ว่า "ทอมหึงโหด แทงแฟนดับ" หรือ "กะเทยคลั่ง ทำร้ายผู้หญิง" ทำให้ผู้คนไม่น้อยมีภาพจำว่า LGBTI+ เป็นพวกหัวรุนแรงและชอบใช้กำลัง ทั้งๆในความเป็นจริงการใช้ความรุนแรงในสังคมเกิดขึ้นจากทุกเพศ ไม่ใช่เฉพาะ LGBTI+
เพียงแต่เมื่อเหตุการณ์นั้น LGBTI+ เป็นผู้กระทำความรุนแรง คนก็จะหยิบยกเอาเพศมาเป็นหัวข้อหลักในการสนทนา หรืออนุมานเรื่องเพศเป็นปัจจัยในการก่อความรุนแรง ทั้งๆที่ LGBTI+ นั้นก็เป็นเหมือนคนทั่วไป มีทั้งคนที่อารมณ์ร้อนและคนที่ใจเย็น มีทั้งคนที่ชอบใช้กำลังและคนที่ต่อต้านความรุนแรง เป็นสังคมที่มีความหลากหลายเหมือนสังคมทั่วๆไป
ดังนั้นการจะเหมารวมว่า LGBTI+ เป็นกลุ่มที่ชอบใช้ความรุนแรงนั้น เป็นเรื่องที่ผิดโดยสิ้นเชิง เพราะความรุนแรงเกิดขึ้นได้จากทุกเพศ ไม่ใช่เฉพาะ LGBTI+ นั่นเอง
อัลบั้มภาพ 9 ภาพ