เหตุใด จึงไม่ควรให้เด็กอายุต่ำกว่า 13 ปีมีบัญชีโซเชียลมีเดีย

เหตุใด จึงไม่ควรให้เด็กอายุต่ำกว่า 13 ปีมีบัญชีโซเชียลมีเดีย

เหตุใด จึงไม่ควรให้เด็กอายุต่ำกว่า 13 ปีมีบัญชีโซเชียลมีเดีย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ไม่กี่ปีที่ผ่านมา “โซเชียลมีเดีย” เป็นแพลตฟอร์มออนไลน์ที่มีอิทธิพลมากในชีวิตของคนในสังคม ผู้คนส่วนใหญ่มีโทรศัพท์มือถือแบบสมาร์ทโฟน ที่ดาวน์โหลดแอปพลิเคชันประเภทใช้สำหรับติดต่อสื่อสาร หรือการเชื่อมโยงติดต่อระหว่างกันไว้เท่าที่ตนเองจะเล่นเป็น หลัก ๆ ในเมืองไทยก็น่าจะเป็นไลน์ (Line) และเฟซบุ๊ก (Facebook) ที่เราจะเห็นวัยผู้ใหญ่ Gen-X หรือรุ่นพ่อรุ่นแม่มีบัญชีใช้กัน ส่วนทวิตเตอร์ (Twitter) หรืออินสตาแกรม (Instagram) ก็มีบ้างประปราย

ต้องบอกว่าวัยผู้ใหญ่ Gen-X เพิ่งจะรู้จักโซเชียลมีเดียได้ไม่นาน ขนาดเด็ก Gen-Y ปลาย ๆ ก็ยังทันข้าวของเครื่องใช้แบบสมัยเก่าอยู่บ้าง เด็กรุ่นนี้คือวัยทำงานในปัจจุบัน รู้จักโซเชียลมีเดียใช้เร็วสุดประมาณช่วงม.ต้น ส่วนเด็ก Gen-Z ไม่ต้องพูดถึง พวกเติบโตมาพร้อมเทคโนโลยีสมัยใหม่ พ่อแม่ของพวกเขาหลายคนเป็นคนกลุ่ม Gen-Y ปลาย ๆ ด้วยซ้ำ เพราะฉะนั้น จึงไม่แปลกที่พวกเขาจะคุ้นเคยกับโซเชียลมีเดียกันแต่เล็กแต่น้อย และเข้าถึงมันได้ง่ายกว่าคน Gen สูงกว่า

ส่วนหนึ่งเป็นเพราะพ่อแม่ของเด็ก Gen-Z เลี้ยงลูกด้วยมือถือ เพราะเห็นว่าง่ายต่อการควบคุมเด็ก ให้เด็กจดจ่ออยู่กับโทรศัพท์หรือแท็บเล็ต ส่วนตัวพ่อแม่จะได้มีเวลาทำอย่างอื่น หรือพูดง่าย ๆ ก็คือใช้โทรศัพท์ล่อไม่ให้เด็กก่อกวนนั่นเอง ก็ไม่แปลกอีกเช่นกันที่เด็กรุ่นใหม่ ๆ จะยึดเอาโทรศัพท์และโซเชียลมีเดียเป็นทุกอย่างของชีวิต

แต่คำถามคือ เด็กกลุ่มนี้เหมาะที่จะเข้ามาอยู่ในสังคมบนโลกออนไลน์แล้วหรือยัง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “เด็กที่มีอายุต่ำกว่า 13 ปี” เพราะขนาดในวัยผู้ใหญ่เอง การเสพติดโซเชียลมีเดียมากเกินไปยังมีผลเสียต่อทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต นับประสาอะไรกับเด็กที่ยังไม่ประสีประสา ยังไม่มีวุฒิภาวะ และยังขาดกระบวนการคิดในหลาย ๆ ด้าน พ่อแม่ผู้ปกครองจะมั่นใจได้อย่างไร ว่าพวกเขาจะปลอดภัยจากการอยู่บนโลกออนไลน์จริง ๆ

ในโลกของสื่อชนิดนี้ก็มีทั้งเรื่องที่ดีและไม่ดี มีทั้งเรื่องจริงเรื่องไม่จริง และสื่อชนิดนี้ก็แพร่ข้อมูลเหล่านั้นออกไปอย่างรวดเร็ว โดยไม่มีขีดจำกัดใด ๆ ทั้งสิ้น

ในเมื่อโซเชียลมีเดียธรรมดาไม่เหมาะสำหรับเด็ก หลายเจ้าจึงพัฒนา “โซเชียลมีเดียสำหรับเด็ก” ขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็น Messenger Kids, YouTube Kids ซึ่งจะเน้นการกรองเนื้อหาสำหรับเด็ก และให้ผู้ปกครองได้ควบคุมการใช้งานโซเชียลมีเดียของบุตรหลานอย่างใกล้ชิด เพราะสังคมปัจจุบัน ไม่มีทางที่ผู้ปกครองจะห้ามเด็กใช้โซเชียลมีเดียได้แบบ 100 เปอร์เซ็นต์ จะดีกว่าถ้าเด็กใช้งานแบบอยู่ในสายตา ซึ่งผู้ปกครองจำเป็นต้องรู้เท่าทันว่าทำไมถึงไม่ควรให้เด็กใช้โซเชียลมีเดียตามลำพัง

ล่าสุด เมื่อเดือนมีนาคม 2021 เฟซบุ๊กซึ่งเป็นเจ้าของปัจจุบันของอินสตาแกรม กำลังวางแผนที่จะทำ “อินสตาแกรมสำหรับเด็กที่อายุต่ำกว่า 13 ปี” หนึ่งในทีมพัฒนาเคยดูแล YouTube Kids มาแล้ว โดยที่ผ่านมา อินสตาแกรมกำหนดให้ผู้ใช้งานกรอกข้อมูลวันเดือนปีเกิด เพื่อคัดกรองเด็กอายุต่ำกว่า 13 ปี ไม่สามารถสร้างบัญชีส่วนตัวได้ ถ้าจะสร้างจะต้องระบุว่ามีผู้ปกครองหรือผู้ที่จัดการบัญชี ซึ่งเด็กอาจมีพ่อแม่สมัครให้ แต่ต้องไม่ลืมว่าเด็กที่พอจะรู้ความ อายุ 9-10 ปี พวกเขาก็ใช้โซเชียลมีเดียเป็นแล้ว และก็ฉลาดพอที่จะปลอมแปลงวันเดือนปีเกิดด้วย

ถึงกระนั้น จำเป็นหรือไม่ที่เด็กอายุต่ำกว่า 13 ปีต้องมีบัญชีโซเชียลมีเดียเป็นของตนเอง?

มีการศึกษาจากมหาวิทยาแมริแลนด์ เรื่องผลกระทบของโซเชียลมีเดียต่อครอบครัว ระบุว่า การที่เฟซบุ๊กจะทำบัญชีสำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 13 ปี เท่ากับกำลังทำให้เด็กมีพฤติกรรมแบบเดียวกับผู้ใหญ่ที่ใช้แพลตฟอร์มนี้ ยกตัวอย่างเด็กที่ใช้ยูทูบคิดส์ ก็มีแนวโน้มจะเข้าไปใช้ยูทูบของผู้ใหญ่อยู่ดี

นอกจากนี้ อาการติดมือถือที่แพร่หลายในสังคม ไม่ว่าจะกับเด็ก วัยรุ่น รวมไปจนถึงผู้ใหญ่หลายต่อหลายคนก็ยังมีโทษที่ไม่คำนึงถึง ไม่ว่าจะกรณี เมื่อผู้ใหญ่ติดโซเชียลมีเดีย การกลายเป็น โรคโนโมโฟเบีย ที่ขาดมือถือไม่ได้ และอาการที่บ่งชี้ว่า ติดมือถือจนสุขภาพพัง

ถึงอย่างนั้นก็ไม่ได้หมายความว่าโซเชียลมีเดียจะไม่มีข้อดีอะไรเลย เพราะจริง ๆ โซเชียลมีเดียหลายแพลตฟอร์มสามารถเติมเต็มจินตนาการ และความคิดสร้างสรรค์ให้กับเด็ก ให้ความรู้ต่าง ๆ ทันข่าวสาร รวมถึงยุคที่การเรียนออนไลน์กำลังจะมีบทบาทอย่างเต็มที่ ซึ่งถ้าหากผู้ปกครองให้ความรู้ กำหนดกฎกติกา คัดกรองเนื้อหา และสอนให้เด็กใช้ให้เป็น และให้เด็กใช้ในทางที่เป็นประโยชน์และปลอดภัยที่สุด โซเชียลมีเดียก็มีประโยชน์ต่อเด็กไม่น้อย

แต่เหตุใด จึงไม่ควรให้เด็กอายุต่ำกว่า 13 ปีมีบัญชีโซเชียลมีเดีย ผู้ปกครองควรรู้ว่าข้อเสียที่ร้ายแรงคืออะไร ซึ่งถ้าหากรักลูกจริง อย่าเป็น “พ่อแม่รังแกฉัน” ให้พวกเขาโตพอที่จะใช้งาน มีวุฒิภาวะ เรียนรู้วิธีใช้โซเชียลมีเดียอย่างมีประโยชน์และปลอดภัย จะมีบัญชีส่วนตัวใช้งานก็ไม่สาย

ถูกหลอกลวงได้ง่าย

เด็กในวัยนี้คือเหยื่อชั้นดีของแก๊งมิจฉาชีพ ไม่ว่าจะเป็นการหลอกเด็กให้ทำเรื่องไม่ดี การค้ามนุษย์ การใช้แรงงานเด็ก การก่ออาชญากรรมทางเพศ หรือหลอกเอาตัวตนที่พวกเขาเปิดเผยไปใช้ในทางมิชอบ เพราะเป็นเรื่องง่ายมากสำหรับมิจฉาชีพที่จะใช้โซเชียลมีเดียเพื่อขโมยตัวตนของคนอื่น อย่างพวกรหัสผ่านหรือการยืนยันตัวตนเพื่อความปลอดภัย เพียงแค่ดูความสนใจ และสิ่งที่เด็กพูดหรือทำในโซเชียลมีเดียก็พอแล้ว

หลายปีก่อน เราอาจคุ้นหูกับ “รถตู้จับเด็ก” ที่ตระเวนลักพาตัวเด็ก แต่ทุกวันนี้แก๊งเหล่านั้นไม่จำเป็นต้องตระเวนจับเด็ก เพราะบัญชีโซเชียลมีเดียสามารถทำให้เด็กมาหาพวกเขาได้ด้วยตัวเด็กเอง หรือไม่ก็รู้ที่อยู่เด็กจากการตามรอยการใช้โซเชียล สตอล์กเกอร์สามารถแอบตามเด็ก ๆ จากข้อมูลที่พวกเขาแชร์ในโซเชียลมีเดีย หรือที่เรียกว่า Digital Footprint ที่สืบค้นร่องรอยส่วนบุคคลของคนนั้นได้ตลอดผ่านการใช้งานออนไลน์

หรือการที่พ่อแม่ยุคใหม่ชอบโพสต์เรื่องราวและรูปภาพของลูก อาจเพราะต้องการแบ่งปันการเลี้ยงดูลูก แชร์ความน่ารักและพัฒนาการของลูกให้คนอื่นรับรู้ ก็อันตรายต่อเด็กไม่ต่างกัน การเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวของลูกบนสื่อออนไลน์ อาจทำให้เด็กถูกค้นเจอโดยมิจฉาชีพ นำมาสู่การหลอกลวง ลักพาตัว และอื่น ๆ ได้มากมาย นี่จึงเป็นอันตรายที่แฝงมาโดยอาจรู้เท่าไม่ถึงการณ์

Cyber Bullying

เป็นอีกเรื่องที่ร้ายแรงมากในสังคม อย่างที่เราเห็นกันว่าเด็กรุ่นใหม่หลายคนมีพฤติกรรมการใช้ความรุนแรงเนื่องมาจากการเสพสื่อ มีการแสดงออกแบบสุดโต่ง เว็บไซต์ Broadband Search รวบรวมผลสำรวจการรังแกหรือคุกคามออนไลน์ พบว่าผู้ที่มีอายุ 12-20 ปี กว่า 42 เปอร์เซ็นต์ เคยถูกบูลลี่ในอินสตาแกรม ส่วนในเฟซบุ๊กก็มากถึง 37 เปอร์เซ็นต์

นอกจากที่เด็กอาจตกเป็นเหยื่อการบูลลี่ทางออนไลน์แล้ว เด็กยังอาจกลายเป็นผู้บูลลี่คนอื่นเสียเองด้วย นั่นไม่ใช่เรื่องน่ายินดี ที่บุตรหลานของคุณกลายเป็นผู้ที่สร้างบาดแผลความเจ็บปวดให้คนอื่น การบูลลี่กันบนโลกออนไลน์บ่อยครั้งก็เลวร้ายกว่าการกลั่นแกล้งกันในชีวิตจริงเสียอีก ปกติเด็ก ๆ ก็แกล้งกันที่โรงเรียนอยู่แล้ว ซึ่งก็เป็นไปตามวัยของเด็ก แต่ผู้ปกครองยังสามารถรู้และสอนได้ว่าอะไรควรอะไรไม่ควร แต่กับการบูลลี่ออนไลน์ ถ้าผู้ปกครองไม่สังเกตก็จะไม่รู้เลยว่าบุตรหลานตัวเองเป็นเหยื่อหรือเป็นผู้กระทำหรือไม่

เพราะเด็กอายุต่ำกว่า 13 ปี เป็นวัยที่กำลังเรียนรู้คุณค่าในตัวเอง การถูกบูลลี่บนโลกออนไลน์อาจทำให้เกิดบาดแผลที่กระทบกระเทือนต่อจิตใจ จนอาจนำไปสู่การทำร้ายตัวเองและฆ่าตัวตาย ดังเช่นที่เป็นข่าวได้

เลียนแบบพฤติกรรมไม่เหมาะสม

ต้องยอมรับว่าคอนเทนต์ที่มีเกลื่อนโซเชียลมีเดีย มีจำนวนไม่น้อยที่เป็นคอนเทนต์ที่ไม่มีสาระ คอนเทนต์ไม่สร้างสรรค์ ต่อการเรียนรู้ของเด็ก การที่เด็กเห็นว่าผู้ใหญ่ทำได้ โดยไม่มีวิจารณญาณมากพอว่าถูกหรือผิด และไม่ใช่ว่าผู้ใหญ่ทุกคนที่ทำ นำไปสู่พฤติกรรมเลียนแบบอย่างที่เห็นในข่าว

ในโซเชียลมีเดียมักจะมีเทรนด์ใหม่ ๆ เกิดขึ้นมากมาย เด็กสามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลที่อยู่ในโลกออนไลน์ที่มีทั้งเรื่องดีและไม่ดี ก็ยิ่งยากเกินกว่าจะควบคุม เนื้อหาแบบที่สร้างสรรค์ก็มี แต่แบบที่ไม่สร้างสร้างสรรค์ก็มาก คอนเทนต์ที่มีเนื้อหาสุ่มเสี่ยง ไม่เหมาะสม อย่างพวกคอนเทนต์ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับความรุนแรง สิ่งยั่วยวน เว็บโป๊ เกมที่ล่อแหลม เว็บพนันออนไลน์ เป็นต้น

การเสพสื่อออนไลน์ ทำให้เด็กและเยาวชนสามารถระบายออกทางอารมณ์ได้อย่างเปิดเผย และส่วนมากผู้ปกครองก็ไม่รู้ว่าตัวตนของบุตรหลานตัวเองบนโลกออนไลน์เป็นอย่างไร เด็กจะขาดการวิเคราะห์ ไม่มีการไตร่ตรอง เพราะไม่มีใครตักเตือน นำไปสู่การกระทำในลักษณะอื่นที่สุ่มเสี่ยง และขยายวงกว้างอย่างรวดเร็วด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย

ซึมเศร้าเพราะพิษจากการเปรียบเทียบ

ก็เหมือนกับการที่ผู้ใหญ่หลาย ๆ คน รู้สึกไม่ดีเวลาที่เอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับคนอื่น ๆ บนโลกออนไลน์นั่นเอง เด็กวัยนี้อยู่ในช่วงที่ค้นหาตัวเอง และเรียนรู้การเข้าไปสู่สังคมที่ใหญ่ขึ้น เมื่อเห็นความแตกต่างเหล่านั้น เด็กไม่ได้มีวิจารณญาณไตร่ตรองมากพอ ทำให้พวกเขาพยายามเพื่อให้มีแบบที่เด็กคนอื่น ๆ มี ไม่เช่นนั้นก็รู้สึกว่าตัวเองด้อยค่า ตามคนอื่นไม่ทัน ขาดความภาคภูมิใจในตัวเอง

นอกจากนี้ เด็กที่เห็นความต่างแล้วอยากได้อยากมีแบบคนอื่น แต่ตนเองไม่มี ก็มีแนวโน้มที่จะก่ออาชญากรรมได้ อย่างการลักเล็กขโมยน้อย เพื่อนำเงินไปสนองความต้องการของตนเอง พื้นฐานแบบนี้ไม่ดีต่อตัวเด็กเอง อีกทั้งยังหมายถึงความภาคภูมิใจจากการมีตัวตนบนโลกจอมปลอม เพราะมีผู้สนับสนุน กระหายผู้ชม ยอดไลก์ ลุ่มหลงในโซเชียลมีเดีย พอกลับมาสู่ชีวิตจริง ก็เกิดความวิตกกังวลและความกดดัน จนอาจทำลายความมั่นใจในตัวเอง และทำให้ไม่เห็นคุณค่าในตัวเอง รู้สึกไม่ได้รับการยอมรับเหมือนเวลาอยู่ในโลกออนไลน์

เสพติดโซเชียลแต่เด็ก ไม่ดีต่อพัฒนาการ

อย่างที่เรารู้กัน ว่าเด็ก ๆ ในยุคสมัยนี้ เข้าถึงสมาร์ทโฟนได้อย่างง่ายดาย พวกเขาเติบโตขึ้นมาพร้อมโทรศัพท์มือถือตั้งแต่แรก จนเข้าใจว่าโทรศัพท์มือถือคือของเล่น ประกอบกับการที่ผู้ปกครองใช้โทรศัพท์เลี้ยงลูก เพื่อไม่ให้เด็กก่อความวุ่นวาย เด็กจะหมกมุ่นอยู่กับโทรศัพท์ โซเชียลมีเดีย จนอาจถึงขั้นเสพติดได้

เด็กเล็ก ๆ เป็นวัยที่มีพัฒนาการการเติบโตสูง พวกเขาควรใช้ชีวิตด้วยการออกไปวิ่งเล่น เข้าสังคมกับเพื่อนฝูงวัยเดียวกัน แต่กลับเลือกที่จะจมอยู่กับมือถือและแท็บเล็ตมากกว่าการสุงสิงหรือเล่นกับเด็กคนอื่น ๆ ซึ่งการนั่งจ้องโทรศัพท์ก็ส่งผลต่อพัฒนาการทางร่างกาย เช่น ป่วยบ่อย ร่างกายไม่แข็งแรง รบกวนการนอนหลับ สมาธิสั้น ทางจิตใจ เด็กลุ่มหลงอยู่กับโลกเสมือนจนแยกไม่ออกว่าอันไหนจริงอันไหนปลอม ทางอารมณ์ อารมณ์ร้อน ขี้หงุดหงิด รอคอยไม่เป็น ทางสังคม เข้ากับใครไม่ได้ แอนตี้สังคม ขาดมนุษยสัมพันธ์ และผลกระทบต่อการเรียน

ทั้งหมดทั้งมวลคือผลกระทบร้ายแรง หากผู้ปกครองปล่อยให้เด็กมีบัญชีโซเชียลมีเดียเป็นของตนเอง ปล่อยปละละเลย ไม่ควบคุมดูแลอย่างใกล้ชิด ผลเสียเหล่านี้จะเกิดแก่บุตรหลานของพวกคุณเอง หัวอกคนเป็นพ่อเป็นแม่ คงไม่อยากให้บุตรหลานอยู่ในสภาพเช่นนี้ ใช่หรือไม่?

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook