ถอดความหมาย ไขที่มาของชื่อเต็ม กรุงเทพฯ
แม้ กรุงเทพฯ จะเป็นเมืองหลวง แต่ก็มีวันเกิดนั่นคือ 21 เมษายน พ.ศ. 2325 โดยเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงสถาปนาราชธานีใหม่ ณ ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา พร้อมการฉลองพระนครเสร็จแล้วจึงพระราชทานนามพระนครใหม่ว่า “กรุงรัตนโกสินทร์อินท์อโยธยา”
ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงแก้พระนามพระนครเป็น “กรุงเทพมหานคร บวรรัตนโกสินท์ มหินทอยุธยา” ครั้นในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเปลี่ยนคำว่า “บวร” เป็น “อมร” เปลี่ยนคำว่า “มหินทอยุธยา” เป็น “มหินทรายุธยา” โดยใช้วิธีสนธิศัพท์ เปลี่ยนการสะกดคำว่า “สินท์” เป็น “สินทร์” พร้อมเติมสร้อยนามต่อ ทำให้ กรุงเทพฯ เป็นเมืองหลวงที่มีชื่อยาวที่สุดในโลก คือ “กรุงเทพมหานคร อมรรัตนโกสินทร์ มหินทรายุธยา มหาดิลกภพ นพรัตน์ราชธานีบูรีรมย์ อุดมราชนิเวศมหาสถาน อมรพิมานอวตารสถิต สักกทัตติยวิษณุกรรมประสิทธิ์”
สำหรับความหมายของชื่อเต็ม กรุงเทพฯ มีดังนี้
กรุงเทพมหานคร : พระนครอันกว้างใหญ่ดุจเทพนคร
อมรรัตนโกสินทร์ : เป็นที่สถิตของพระแก้วมรกต
มหินทรายุธยา : เป็นนครที่ไม่มีใครรบชนะ
มหาดิลกภพ : มีความงามอันมั่งคงและเจริญยิ่ง
นพรัตน์ราชธานีบูรีรมย์ : เป็นเมืองหลวงที่บริบูรณ์ด้วยแก้วเก้าประการน่ารื่นรมย์ยิ่ง
อุดมราชนิเวศมหาสถาน : มีพระราชนิเวศใหญ่โตมากมาย
อมรพิมานอวตารสถิต : เป็นวิมานเทพที่ประทับของพระราชาผู้อวตารลงมา
สักกทัตติยวิษณุกรรมประสิทธิ์ : ซึ่งท้าวสักกเทวราชพระราชทานให้ พระวิษณุกรรมลงมาเนรมิตไว้