ความมั่นคงทางอารมณ์ กุญแจสู่ความสำเร็จในอาชีพ

ความมั่นคงทางอารมณ์ กุญแจสู่ความสำเร็จในอาชีพ

ความมั่นคงทางอารมณ์ กุญแจสู่ความสำเร็จในอาชีพ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ความสำเร็จในหน้าที่การงานเป็นสิ่งที่คนทำงานทุกคนย่อมปรารถนา แต่รู้หรือไม่ว่าเรื่องบุคลิกภาพและอารมณ์เป็นสิ่งสำคัญที่สามารถบ่งชี้ได้ว่าเราจะประสบความสำเร็จในอาชีพได้อย่างไร

โดยผลการศึกษาล่าสุดที่เผยแพร่ใน Psychological Science พบว่าการเปลี่ยนแปลงในช่วงวัยหนุ่มสาวสามารถบ่งบอกถึงการเติบโตทางบุคลิกภาพของคนเราได้ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อความก้าวหน้าในอาชีพ

ความมั่นคงทางอารมณ์คือ “กุญแจแห่งความสำเร็จ”

มหาวิทยาลัยฮุสตันในสหรัฐอเมริกาใช้เวลานานถึง 12 ปี เพื่อทำการศึกษาเกี่ยวกับการเติบโตด้านบุคลิกภาพในวัยหนุ่มสาวว่าส่งผลต่อหน้าที่การงานจริงหรือไม่ ซึ่งปรากฏว่าคนที่มีความมั่นคงทางอารมณ์ (Emotional Stability) ในระดับที่สูงกว่าจะมีแนวโน้มประสบความสำเร็จในช่วงแรก ๆ ของการเริ่มต้นอาชีพ (บางสายอาชีพ) ได้มากกว่า

Kevin Hoff ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาองค์กร-อุตสาหกรรม แห่งมหาวิทยาลัยฮุสตันระบุว่า จากการศึกษาด้านการเปลี่ยนแปลงบุคลิกภาพของคนทำงานที่อยู่ในวัยหนุ่มสาว พบว่ารูปแบบการเติบโตของบุคลิกภาพบางอย่างสามารถทำนายผลลัพธ์ในอาชีพได้มากกว่าบุคลิกภาพและความสามารถของวัยรุ่น

ความมั่นคงทางอารมณ์ส่งผลต่อ “รายได้และความพึงพอใจ”

การวิจัยดังกล่าว ทีมของ Kevin Hoff ได้ติดตามพัฒนาการจากกลุ่มตัวอย่างที่เป็นวัยรุ่นชาวไอซแลนด์ซึ่งอยู่ในช่วงวัยรุ่นตอนปลาย (อายุประมาณ 17 ปี) เป็นเวลานานถึง 12 ปี จนพวกเขาอยู่ในวัยหนุ่มสาว (อายุประมาณ 29 ปี) ก่อนจะได้ข้อสรุปที่ชัดเจนว่าบุคคลที่มีพัฒนาการทางบุคลิกภาพในระดับที่สูงขึ้นจะประสบความสำเร็จมากขึ้นเมื่อเป็นผู้ใหญ่

ผลการศึกษาดังกล่าวยังพบด้วยว่า การเปลี่ยนแปลงด้านความมั่นคงทางอารมณ์มีความเชื่อมโยงกับรายได้และความพึงพอใจในอาชีพ ขณะที่การเปลี่ยนแปลงด้านความสามารถพิเศษก็มีความเชื่อมโยงกับความพึงพอใจในอาชีพและหน้าที่การงานด้วยเช่นกัน นั่นหมายความว่า การพัฒนาด้านบุคลิกภาพและความมั่นคงทางอารมณ์ในช่วงที่เป็นวัยรุ่นสามารถส่งเสริมความสำเร็จในการอาชีพด้านต่าง ๆ เมื่อเข้าสู่วัยทำงานได้

ความมั่นคงทางอารมณ์สัมพันธ์กับ “ความฉลาดทางอารมณ์”

การที่เราจะมีความมั่นคงทางอารมณ์ได้นั้น ย่อมต้องมีความฉลาดทางอารมณ์ (Emotional intelligence) ด้วย ซึ่งความฉลาดทางอารมณ์ คือความสามารถของแต่ละบุคคลในการรับรู้อารมณ์ความรู้สึกของผู้อื่น สามารถแยกแยะระหว่างอารมณ์ที่แตกต่างกันและแสดงออกได้อย่างเหมาะสม ด้วยเหตุนี้ ความมั่นคงทางอารมณ์ในระดับที่สูงจึงมาจากผู้ที่มีระดับความฉลาดทางอารมณ์สูงตามไปด้วย

นอกจากนี้ ความมั่นคงทางอารมณ์ยังส่งผลต่อความเป็นผู้นำด้วย โดยจากกรณีศึกษาของ FedEx เมื่อปี 2014 พบว่าผู้นำที่มีทั้งความมั่นคงทางอารมณ์และมีความฉลาดทางอารมณ์นั้น นอกจากจะมีความสามารถในการตัดสินใจที่เพิ่มขึ้น มีคุณภาพชีวิตที่ดีเพิ่มขึ้นแล้ว ก็ยังมีประสิทธิผลในการทำงานมากขึ้นด้วย

ที่เป็นเช่นนี้ เพราะว่าผู้นำที่มีความมั่นคงทางอารมณ์สามารถควบคุมอารมณ์ได้ จึงสามารถสงบสติอารมณ์และรับมือได้ในยามที่เกิดวิกฤต เมื่อใดที่เผชิญกับความโกรธและความผิดหวัง ก็สามารถจัดการกับความรู้สึกเหล่านั้นได้เป็นอย่างดี

ขณะเดียวกัน ผู้นำที่มีความมั่นคงทางอารมณ์จะมีความนับถือตนเองอยู่ในระดับสูงด้วย ซึ่งถือเป็นคุณสมบัติหนึ่งที่ส่งเสริมความเป็นผู้นำ อีกทั้งยังสามารถจัดการปัญหาต่าง ๆ ให้กับพนักงานของตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นเพราะการตัดสินใด ๆ ที่เกิดขึ้นจะไม่ขับเคลื่อนด้วยอารมณ์ของตนเอง แต่จะยึดเหตุผลเป็นสำคัญนั่นเอง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook