อุทิศร่างกายเพื่อการศึกษา บุญใหญ่ไม่แพ้บริจาคอวัยวะ
นอกจากการบริจาคโลหิตที่ทำกันได้ทุก 3 เดือน จะสามารถต่อชีวิตให้กับผู้ป่วยที่รอรับการรักษา หรือผู้ป่วยที่ประสบอุบัติเหตุได้แล้ว การบริจาคอวัยวะก็เป็นอีกทางหนึ่งที่ช่วยให้ผู้ป่วยรอดชีวิตได้
เมื่อเสียชีวิตไปแล้ว ร่างกายของเรายังมีอวัยวะที่สามารถนำไปต่อชีวิตให้ผู้อื่นได้มากถึง 8 ราย จากอวัยวะส่วนที่เป็นหัวใจ ปอด ตับ ตับอ่อน ไต และลำไส้เล็ก แต่รู้หรือไม่ว่าการบริจาคร่างกายเพื่อการศึกษา ก็ได้บุญกุศลที่ใหญ่หลวงไม่แพ้กัน เพราะเป็นสละร่างกายของตนเอง เพื่อให้วงการแพทย์ได้นำไปใช้ประโยชน์ในการศึกษา วิจัย และการรักษาทางการแพทย์
แต่เป็นที่น่าตกใจว่าจากจำนวนผู้แสดงเจตจำนงบริจาคร่างกายหลักหมื่นรายต่อปีนั้น กลับมีร่างกายที่พร้อมสำหรับการใช้ศึกษาทางการแพทย์ของนักศึกษาแพทย์ หรือที่เรียกว่า “อาจารย์ใหญ่” ปีละไม่ถึง 300 รายเท่านั้น!
ทั้งนี้ เป็นเพราะว่าศพของผู้เสียชีวิตที่จะนำมาใช้ในการศึกษานั้น จะต้องมีคุณสมบัติที่ตรงกับวัตถุประสงค์ของการศึกษาด้วยนั่นเอง ซึ่งในการบริจาคร่างกาย ผู้แสดงเจตจำนงจะต้องระบุให้ชัดเจนว่าประสงค์อุทิศร่างกายเพื่อกรณีใด
การบริจาคร่างกาย VS บริจาคอวัยวะ
การอุทิศร่างกายเพื่อให้นักศึกษาแพทย์ได้ใช้ศึกษา ต่างจากการบริจาคอวัยวะ เพราะเป็นการมอบทั้งร่างกายให้คณะแพทยศาสตร์นำไปศึกษา ขณะที่การบริจาคอวัยวะ เป็นการมอบอวัยวะเพื่อนำไปปลูกถ่ายให้ผู้ป่วยที่อวัยวะนั้น ๆ เสื่อมสภาพ และหลังจากผ่าตัดเพื่อนำอวัยวะไปให้ผู้ป่วยแล้ว แพทย์จะตกแต่งร่างกายของผู้บริจาคให้เรียบร้อย ก่อนมอบให้ญาติไปประกอบพิธีทางศาสนา
ส่วนการบริจาคร่างกายนั้น ทางคณะแพทยศาสตร์ของโรงพยาบาลนั้น ๆ จะประกอบพิธีบำเพ็ญกุศลให้หลังจากนำร่างกายมาใช้ศึกษาเป็นเวลา 2-3 ปี
เงื่อนไขในการเป็นอาจารย์ใหญ่
จากข้อมูลของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล จำแนกการบริจาคร่างกายตามวัตถุประสงค์ไว้ดังนี้
กรณีบริจาค : ให้นักศึกษาแพทย์ได้ศึกษา
- ขณะเสียชีวิตอายุไม่เกิน 80 ปี
- น้ำหนักตัวไม่ต่ำกว่า 40 กก.
- ไม่เป็นศพที่เกี่ยวข้องกับคดีต่าง ๆ
- ไม่เสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุ, โรคมะเร็ง โรคไต และโรคเบาหวาน
- ไม่เป็นศพที่มีสภาพไม่เหมาะสม อาทิ เน่าเปื่อย อวัยวะขาดหาย (ยกเว้นกรณีบริจาคดวงตา)
กรณีบริจาค : ให้แพทย์เฉพาะทางฝึกผ่าตัด
- ไม่เคยผ่าตัดบริเวณข้อต่อต่าง ๆ
- หลังเสียชีวิต ญาติแจ้งให้เจ้าหน้าที่ภาควิชากายวิภาคศาสตร์ที่มารับศพทันที
- ไม่ฉีดยารักษาศพ
กรณีบริจาค : เก็บโครงกระดูกเพื่อการศึกษา
- ขณะเสียชีวิตอายุไม่เกิน 55 ปี
- ไม่ฉีดยารักษาศพ เพราะจะทำให้ไม่สามารถเก็บเป็นโครงกระดูกได้
- ญาติสามารถนำอวัยวะบางส่วนของศพดองไปทำพิธีทางศาสนาได้
- ไม่รับบริจาค หากศพอยู่นอกพื้นที่ที่กำหนด
อีกเงื่อนไขหนึ่งในการรับบริจาคร่างกายเพื่อการศึกษา คือศพของผู้เสียชีวิตต้องอยู่ในพื้นที่หรือรัศมีการเดินทางที่คณะแพทยศาสตร์แต่ละแห่งกำหนดไว้ด้วย ซึ่งอาจแตกต่างกันไปตามแต่สถาบันการศึกษา
อาทิ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล รับบริจาคร่างกายเฉพาะเขตกรุงเทพฯ และจังหวัดต่อไปนี้ ได้แก่ สมุทรปราการ นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรสาคร สมุทรสงคราม นครปฐม สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา กาญจนบุรี ราชบุรี และตอนเสียชีวิตต้องอยู่ในพื้นที่รัศมี 100 กม.
ขณะที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย จะรับบริจาคร่างผู้เสียชีวิต เฉพาะผู้ที่เสียชีวิตในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล (สมุทรปราการ นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรสาคร)
ส่วนมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ รับศพเฉพาะผู้ที่อยู่ในรัศมี 200-250 กิโลเมตร จากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร และคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น รับบริจาคร่างกายเฉพาะผู้ที่มีภูมิลำเนาและเสียชีวิตในจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ขั้นตอนการบริจาคร่างกายเป็นอาจารย์ใหญ่
จากข้อมูลของสภากาชาดไทย ระบุว่าผู้มีความประสงค์อุทิศร่างกายสามารถยื่นความจำนงได้ 3 วิธี ได้แก่
- ยื่นความจำนงผ่านช่องทางออนไลน์ >> คลิกที่นี่
- ยื่นความจำนงโดยตรงที่ ศาลาทินฑัต โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โดยกรอกข้อความลงในแบบฟอร์มของโรงพยาบาล 1 ฉบับ เจ้าหน้าที่จะออกบัตรประจำตัวผู้อุทิศร่างกายให้ไว้เป็นหลักฐาน
- ยื่นความจำนงทางไปรษณีย์ โดยกรอกข้อความลงในแบบฟอร์ม แล้วส่งมาทางไปรษณีย์ 1 ฉบับ เจ้าหน้าที่จะส่งบัตรประจำตัวผู้อุทิศร่างกายให้ภายหลังเมื่อผู้อุทิศร่างกายถึงแก่กรรม ทายาท มีสิทธิ์คัดค้านไม่มอบศพให้กับโรงพยาบาลได้โดยต้องแจ้งการคัดค้านไม่มอบศพกับโรงพยาบาลฯภายใน 24 ชั่วโมง
อย่างไรก็ตาม กรณีที่ประสงค์จะอุทิศร่างกายแต่อายุยังไม่ถึง 18 ปี จำเป็นต้องได้รับความยินยอมจากผู้ปกครองอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร ส่วนในกรณีที่ผู้เสียชีวิตได้แจ้งความจำนงในการบริจาคร่างกายไว้ แต่ทายาทผู้รับมรดกไม่ยินยอม สามารถคัดค้านการมอบศพให้กับสถาบันนั้น ๆ ได้ โดยไม่มีความผิดทางกฎหมายแต่อย่างใด