รักกันดีจะตาย! แต่ทำไมถึงไม่กล้าบอกรักคนในครอบครัว
ความสัมพันธ์แบบครอบครัวอบอุ่น อบอวลไปด้วยความรัก กำลังใจ และความปรารถนาดีที่แสดงต่อกัน ถือเป็นภาพครอบครัวในอุดมคติที่ใคร ๆ ก็โหยหา แน่นอนว่าเราไม่อาจทำให้เป็นแบบนั้นได้เสมอไป แค่เริ่มต้นก็ไม่ได้แล้ว เพราะบางครอบครัวไม่เคยเลยแม้แต่จะ “บอกรัก” กัน พ่อแม่บางบ้านทะเลาะกันให้ลูกเห็นเป็นประจำ บางบ้านพ่อแม่ก็เข้าถึงยากหรือจุกจิกเกินจนลูกไม่ค่อยอยากจะคุยด้วย จึงไม่ต้องคาดหวังว่าจะได้ยินคำว่ารักออกมาจากปากฝ่ายไหน
ส่วนอีกประเด็นที่สำคัญ ไม่ได้อยู่แค่ว่าลูก ๆ ไม่กล้าที่จะแสดงความรักต่อพ่อแม่ แต่ก็ไม่กล้าปรึกษาปัญหาอะไรด้วย พ่อแม่บางคนไม่รู้ด้วยซ้ำว่าลูกกำลังตกที่นั่งลำบาก บางครั้งลูกเองก็ไม่รู้เหมือนกันว่าพ่อแม่อาจกำลังมีปัญหา การพูดกับพ่อแม่ให้เข้าใจจึงเป็นเรื่องยากเกินไป ทำให้การแสดงความรักยากตามไปด้วย
ในเมื่อความรักเป็นสิ่งสวยงาม และความรักก็เป็นสิ่งที่ทุกคนปรารถนาจะมีในครอบครัว (ในอุดมคติ) ความรักที่มีให้กันดีจะตายไป แต่ทำไมถึงเราทั้งหลายถึงไม่กล้าที่จะบอกรักกับคนในครอบครัวล่ะ?
อาย
หลายคนอาจตั้งคำถามว่านั่นก็พ่อแม่นะ จะอายทำไม แต่มันมีจริง ๆ พ่อแม่ลูกที่อายที่จะบอกรักกัน และพ่อแม่ก็ไม่เคยทำให้เห็น ลูกก็เลยคิดว่ามันไม่ใช่เรื่องปกติที่จะแสดงความรักกันแบบนี้ บางคนพอโตขึ้นมาก็คิดว่าการแสดงความรักด้วยการกอด การหอม การบอกรัก เป็นเรื่องที่เด็ก ๆ ทำกัน เลยเลิกทำไปโดยปริยาย ส่วนพ่อแม่ก็คิดว่าลูกโตแล้ว รู้อยู่แล้วล่ะว่าพ่อแม่รักไม่จำเป็นต้องพูดหรือแสดงออกมาก็ได้ ทั้งที่การบอกรักกันมันช่วยฟื้นฟูสภาพจิตใจที่ดำดิ่งจากเรื่องต่าง ๆ ได้ดีทีเดียว กำลังใจและความอบอุ่นในครอบครัวนี่แหละสำคัญที่สุด
บทบาทของพ่อแม่
บทบาทของคนเป็นพ่อเป็นแม่ในปัจจุบันมีภาระเยอะมาก เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนไปจากเดิม นี่เป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้คนยุคใหม่ไม่อยากมีลูก หากไม่พร้อมจริง ๆ เพราะเรื่องค่าใช้จ่ายเวลามีลูกไม่ใช่เรื่องเล็ก ทั้งพ่อทั้งแม่จึงต้องทำงานนอกบ้านเพื่อให้เพียงพอกับค่าใช้จ่าย รวมถึงเพื่อวางแผนอนาคตสำหรับลูก ๆ ซึ่งถือเป็นอีกปัจจัยที่สำคัญมากในการทำให้เด็กเติบโตอย่างมีคุณภาพ นอกเหนือจากความรักและความอบอุ่นในครอบครัว ก็เลยไม่มีเวลาจะมาสนใจลูกสักเท่าไร เลิกงานถึงบ้านก็เหนื่อย ลูกก็เข้านอน ตอนเช้าก็เร่งรีบ จะเอาเวลาไหนมาคุยกัน
วิธีการแสดงความรักของพ่อแม่
มีพ่อแม่ไม่น้อยที่คิดว่าการกระทำ (หาเงินเลี้ยง) สำคัญกว่าคำพูดและการแสดงออกว่ารัก หรือคิดว่าลูกน่าจะรู้อยู่แล้วว่าพ่อแม่ก็รักแหละ เลยไม่เคยแสดงความรักกับลูกมาก่อน ไม่เคยบอกรัก ไม่เคยกอด ไม่เคยหอม (เท่าที่จำความได้) ไม่คิดว่าการบอกรักจะเป็นสิ่งสำคัญ ดังนั้น ก็คงไม่มีลูกที่ไหนกล้าที่จะทำเหมือนกัน เพราะคิดว่าพ่อแม่คงไม่ชอบ อีกทั้งพ่อแม่บางคนทำตัวนิ่ง ๆ เก๊กขรึมด้วยซ้ำ บวกความห่างเหินเข้าไปยิ่งไม่มีทางเป็นไปได้ แต่เชื่อเถอะว่าถ้าพ่อแม่ลองได้บอกรักลูก หรือกอดลูกบ้าง ลูก ๆ ก็จะเปิดใจให้ด้วยเช่นกัน
ความห่างเหิน
ครอบครัวในสังคมเมืองปัจจุบัน มักจะเป็นครอบครัวเดี่ยว มีแค่พ่อแม่ลูก และอาจจะมีญาติผู้ใหญ่อีกสักคนที่เลี้ยงหลานอยู่บ้าน พ่อและแม่ทำงานนอกบ้านทั้งคู่ เด็ก ๆ อาจเจอหน้าพี่เลี้ยงหรือญาติผู้ใหญ่คนอื่น ๆ มากกว่าหน้าพ่อแม่ด้วยซ้ำ ทำให้ลูก ๆ ไม่ค่อยได้เจอหน้าพ่อแม่ หรือเด็กสนิทกับญาติผู้ใหญ่คนอื่นมากกว่า ช่องว่างที่ค่อนข้างกว้างนี้ ทำให้เด็ก ๆ ไม่ค่อยให้ความสำคัญกับการบอกรักคนในบ้านสักเท่าไร และเวลาส่วนใหญ่เด็ก ๆ อยู่ที่โรงเรียน ไม่แปลกที่จะสนิทกับเพื่อนมากกว่าคนในบ้าน จึงดูเหมือนว่าจะรักเพื่อนมากกว่า
ความไม่ลงรอยกัน
มีพ่อ-ลูก แม่-ลูก หรือพ่อแม่-ลูก จำนวนไม่น้อยที่พูดคุยกันดี ๆ ได้ไม่ถึง 5 นาที หลังจากนั้นก็เริ่มจะมีน้ำเสียงแข็งกระด้างใส่กัน อารมณ์ขึ้น โวยวาย และทะเลาะกันในที่สุด จากนั้นก็จะปึงปังแยกกันอยู่มุมใครมุมมัน ที่สำคัญคือ ไม่เคยคิดจะปรับความเข้าใจกันดี ๆ ด้วย ขนาดเจอหน้ากันเวลาอาหารก็ต่างคนต่างกินไม่พูดไม่จา (บางบ้านกินแยกกันด้วยซ้ำ) กินอิ่มก็แยกย้าย นี่จึงเป็นเรื่องยากมากที่จะให้แต่ละฝ่ายบอกรักกัน ทะเลาะกันแต่ละครั้งก็ไม่คุยกันหลายวัน ทั้งที่อยู่ชายคาเดียวกัน จะเอาใจที่ไหนมาบอกรักกัน